อายุขัย ปชต. โดย นฤตย์ เสกธีระ

แฟ้มภาพ

หลายวันก่อนได้อ่านบทความชื่อ “ประชาธิปไตยไทยในทศวรรษ 21 ทางตัน ทางออก และแนวทางแก้ไข” ของ อาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน

อาจารย์เขียนลงในหนังสือชื่อ “ประชาธิปไตยไทยในทศวรรษใหม่” เคพีไอ เยียร์บุ๊กของสถาบันพระปกเกล้า

แม้บัดนี้ อาจารย์ลิขิตเสียชีวิตแล้ว แต่บทความชิ้นนี้ยังมีคุณูปการอยู่

บทความดังกล่าวว่าด้วยเรื่องประชาธิปไตยไทย

Advertisement

อ่านแล้วได้เห็นมุมที่ฝรั่งมองเห็น และมองไม่เห็น

ฝรั่งมองเห็น 3 ตัวแปรที่มีผลต่อพัฒนาการประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนา คือ..

1.สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

Advertisement

2.โครงสร้างและกระบวนการมีส่วนสร้างประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญ การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หลักการทางการเมืองและการบริหาร

3.วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย

ฝรั่งมองว่า สังคมใดขาดตัวแปรดังกล่าวการพัฒนาประชาธิปไตยย่อมไม่สามารถทำได้

ส่วนตัวแปรที่ฝรั่งมองไม่เห็น คือ 1.ไทยมีระบบการเมืองที่มีประชาธิปไตยที่ “ไร้เสถียรภาพ”

2.ไทยมีระบบอุปถัมภ์ที่เล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งขัดแย้งกับระบบการบริหารภาครัฐแบบใหม่

3.ไทยนำเอาประชาธิปไตยแบบอเมริกาเข้ามา ทั้งๆ ที่อเมริกาเป็นสังคมอุตสาหกรรม คนตื่นตัวทางการเมือง

ส่วนไทยเป็นสังคมเกษตร ความตื่นตัวทางการเมืองน้อยกว่าคนอเมริกัน

สรุปได้ว่า อุปสรรคสำคัญประชาธิปไตยไทย คือองค์กรจารีตนิยม และกลุ่มบุคคลที่มีคุณสมบัติเหนือบุคคลทั่วไป

รวยกว่า สถานะทางสังคมสูงกว่า มีอำนาจทางการเมือง เป็นต้น

อุปสรรคเหล่านี้ส่งผลต่อประชาธิปไตย

อาจารย์ลิขิตชี้ให้เห็นแนวทางแก้ปัญหาว่ามี 3 วิธี คือ 1.ปล่อยไปตามธรรมชาติ

2.ปฏิรูป วิธีนี้จะมีผู้มีส่วนได้มีส่วนเสีย ดังนั้น ความสำเร็จหรือล้มเหลว ขึ้นอยู่กับ “การออมชอม”

พบกันครึ่งทาง !

แต่ละฝ่ายต้องยอมเสียสละ แต่ละฝ่ายต้องมีข้อจำกัดในการเรียกร้อง

3.ปฏิวัติ วิธีนี้จะทำให้เกิดบาดแผลทางการเมืองที่ยากจะเยียวยา

อ่านบทความแล้ว ดูเหมือนว่าทางออกที่ดี คือการปฏิรูป

เพียงแต่ไทยที่ผ่านมา ยังไม่มีวี่แววการปฏิรูป สังคมไทยยังอยู่ในบรรยากาศอึมครึม

การจะทำให้บรรยากาศหายอึมครึม คือการกลับสู่ประชาธิปไตย

และพัฒนาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง-ยั่งยืน

สำหรับประเทศไทยอีกไม่นานจะมีรัฐธรรมนูญ และหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้

การเลือกตั้ง และการปฏิรูปจะเดินหน้า

แต่จะสำเร็จหรือล้มเหลว จะยั่งยืนหรือไม่ ยังต้องลุ้น

ในตอนท้ายของบทความอาจารย์ลิขิต นำเสนอรูป 4 เหลี่ยมจัตุรัส

4 เหลี่ยมแห่งดุลยภาพระหว่าง “คน” กับ “รัฐ”

4 เหลี่ยมนี้ได้ขีดเส้นทแยงมุมแบ่งเนื้อที่ออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนบนเป็นพื้นที่ของสิทธิเสรีภาพประชาชน ส่วนล่างเป็นพื้นที่อำนาจรัฐบาลเลือกตั้ง

ส่วนเส้นทแยงมุมเรียกว่า “เส้นประชาธิปไตย”

ถ้าสิทธิประชาชนกับอำนาจรัฐสมดุลกัน เส้นประชาธิปไตยก็ยาวสุด

แต่ถ้าประชาชนใช้สิทธิมากไป หรืออำนาจรัฐมีมากเกิน เส้นประชาธิปไตยก็สั้นลง

ดังนั้น ถ้าอยากให้ประชาธิปไตยต่อเนื่องและยั่งยืน

อยากให้อายุขัยประชาธิปไตยยาวที่สุด

ต้องช่วยกันรักษาดุลยภาพของสิทธิและอำนาจระหว่าง “คน” กับ “รัฐ”

ต้องมีความสมดุล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image