กรณี ธรรมกาย บทบาท ของ ‘ดีเอสไอ’ จำเป็น ต้อง ‘รุก’

ไม่ว่าจะเป็น “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” ไม่ว่าจะเป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ต่อกรณีอัๆนเกี่ยวกับพระเทพญาณมหามุนี

ถือว่าเป็น “ไฟต์” บังคับ

เพราะว่า “หมายจับ” ออกมาตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 แล้วในคดีเกี่ยวกับสหกรณ์คลองจั่น

ตามมาด้วยคดีที่ดินที่จังหวัดเลย ตามมาด้วยคดีที่ดินที่นครราชสีมา

Advertisement

คดีแรกอยู่ในความรับผิดชอบของ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” 2 คดีหลังเป็น “หมายจับ” ตามข้อเสนอของ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

นี่คือ “ไฟต์” บังคับ ยากแล้วที่จะ “หลีกเลี่ยง” ได้

เมื่อคดีเกี่ยวกับการรับของโจร คดีเกี่ยวกับการฟอกเงินเริ่มต้นจากกรณีสหกรณ์คลองจั่นงานทั้งหมดจึงตกอยู่บนบ่าของ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ”

Advertisement

แต่ในเรื่อง “กำลังพล” ต้องพึ่ง “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

เหมือนกับที่ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” เคยพยายามมาแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 โดย “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” เป็นมือเป็นไม้ให้

“ความล้มเหลว” นั่นแหละคือแรง “กดดัน” อันทรงความหมาย

 

บทเรียนจากความพยายามเปิด “ปฏิบัติการ” เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ทำให้ทั้ง “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” และ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” จำเป็นต้องรัดกุม

จำได้หรือไม่ว่าตอนนั้นดำเนินไปอย่างอึกทึกครึกโครม

เป็นความอึกทึกครึกโครมเพราะมีการสนธิกำลัง 3 ส่วน 1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 ทหาร

ยิ่งกว่านั้น ยึงคึกคักด้วยการส่ง “โดรน” เหินเหนือ “ธรรมกาย”

เมื่อประสบเข้ากับ “โล่มนุษย์” เรือนหมื่นจากคณะศิษยานุศิษย์ ประสานเข้ากับการส่งสัญญาณ “ลูกโป่ง” อย่างวิจิตรพิสดาร

“ความพยายาม” อยู่ที่ไหน “ความพยายาม” ก็ยังอยู่ที่นั่น

การข่าวที่ว่าแน่ๆ ของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ประสานเข้ากับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทหาร ก็ไม่สามารถให้ “คำตอบ” ได้อย่างแน่ชัด

แน่ชัดว่า พระเทพญาณมหามุนี อยู่ที่ไหน

เกม “ทอมแอนด์เจอรี่” เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อไม่ได้รับความร่วมมือจากทางวัด ทุกอย่างก็กลายเป็นความลี้ลับ ไปไม่ถูก

“บทเรียน” เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 จึง “ล้ำค่า”

 

ท่วงทำนองไม่ว่าจะมาจาก “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” ไม่ว่าจะมาจาก “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” จึงมากด้วยความสุขุม มากด้วยความรอบคอบ

เด่นชัดว่าใช้ “การเมือง” เป็น “ธงนำ”

บทบาทของสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ เจรจา เพื่อส่งเทียบเชิญให้ พระเทพญาณมหามุนีออกมามอบตัว

เห็นได้จากความพยายามในวันที่ 25 พฤศจิกายน

บทบาทของกรมสอบสวนคดีพิเศษ สะท้อนการวางแผนแต่ไม่บุ่มบ่าม ปิดรายละเอียดต่างๆ เป็นความลับอย่างสุดยอด

ไม่มีการแถลงอย่างอึกทึกครึกโครม

เส้นตายที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดเอาไว้ตรงกัน นั่นก็คือทุกอย่างจะต้องจบภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน

นั่นคือ “คำขาด” ให้พระเทพญาณมหามุนี ออกมา “มอบตัว”

หากเป็นไปตามกำหนดก็หมายความว่าสำนักงานอัยการสูงสุดสามารถส่ง พระเทพญาณมหามุนี ขึ้นฟ้องยังศาล

 

มองจากด้านของ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” เด่นชัดว่าถูกตรึงอยู่ในจุดที่ไม่สามารถ “ถอยหลัง” ได้

แม้อายุความจะยาวนานถึง 15 ปี แต่หากประเมินจาก “หมายจับ” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 แต่ยังไม่สามารถเดินหน้าอะไรได้ นั่นหมายถึง “ประสิทธิภาพ”

นั่นหมายถึง “เครดิต” หมายถึง “ความน่าเชื่อถือ” ในสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image