เกรียงไกร เธียรนุกุล ชู NEXT-GEN INDUSTRIES ‘ท่องเที่ยว-เลือกตั้ง’ตัวช่วยศก.

หมายเหตุ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานเสวนา “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศ 2023” จัดโดยเครือมติชน หัวข้อ New Episode เศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมไทย เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ)

ขณะนี้เศรษฐกิจโลก กำลังอยู่ในช่วง BANI World ซึ่งเป็นคำนิยามใหม่ จากเดิมคงได้ยินคำว่าวูก้า (VUCA) ซึ่งเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับภาพของเศรษฐกิจโลกมาพักใหญ่ แต่ขณะนี้ถูก Disrupt ด้วยคำใหม่ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 2563 (ค.ศ.2020) เป็นต้นมา

BANI World มาจากคำว่า “B” คือ Brittle (เปราะบาง) เทียบเคียงกับเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ปัญหาจากอัตราเงินเฟ้อสูง และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น “A” คือ Anxious (ความกังวล) ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change โดยมีสัญญาณตั้งแต่ปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ฝนทิ้งระเบิด (Rain bomb) คลื่นความร้อนยุโรป แม่น้ำแยงซีแห้งขอด จึงทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ล้อเล่นไม่ได้ “N” คือ Nonlinear (คาดเดายาก) ในปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และ “I” คือ Incomprehensible (ความไม่เข้าใจ) จากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล การ Disruption จากเทคโนโลยีและห่วงโซ่การผลิต

ไทยในฐานะเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก เกือบ 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ดังนั้น เศรษฐกิจไทยพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก ขณะนี้เครื่องยนต์ด้านการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ซึ่งก่อนที่จะมีโควิด-19 หรือปี 2562 นั้นไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน คิดเป็น 12% ของจีดีพี หรือ ราว 2 ล้านล้านบาท และการท่องเที่ยวภายในประเทศ อีก 1 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจไทยพึ่งพาต่างชาติ รวมทั้งการส่งออกเกือบทั้งหมด

Advertisement

ขณะที่ทั่วโลกเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะการชะลอตัว โดยเฉพาะการเตือนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ แต่เดิมมีการปรับประมาณการลดลง อยู่ที่ 2.7% ต่อปี แต่ล่าสุดธนาคารโลกก็ปรับลดลงไปอีก เหลือเพียง 1.7% ซึ่งเกิดจากภาะที่เศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว จากปัญหาความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครน และปัญหาราคาพลังงาน ด้านเศรษฐกิจสหรัฐก็กำลังถดถอย ด้วยความจงใจ เพราะต้องการสู้กับปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศ

ดังนั้น สิ่งที่สหรัฐกลัวนั้นไม่ใช่รัสเซีย แต่เป็นเงินเฟ้อ เพราะเป็นสิ่งที่สหรัฐเองเคยเจอ ที่เงินเฟ้อแตะขึ้นไปถึง 9.1% หรือสูงสุดในรอบ 40 ปี เพราะเพราะฉะนั้นสิ่งที่สหรัฐกำลังทำคือการสู้กับเงินเฟ้อด้วย 2 มาตรการสำคัญ คือการใช้นโยบาย QT (Quantitative Tightening) คือนโยบายการเงินแบบตึงตัว เพื่อดูดเงินจากระบบกลับเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ หลังจากที่ใช้ QE (Quantitative Easing) มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งทำให้เงินล้น และนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จากที่เคยต่ำที่สุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้ขึ้นถี่ๆ ขึ้น 0.50% และพอไม่ทันใจก็ขึ้น 0.75% สามครั้งติดกัน ทำให้ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.25% แต่ก็ยังไม่สามารถเบรกเงินเฟ้อได้ ถึงแม้จะลดลงมาเหลือ 7% แต่เป้าหมายที่สหรัฐวางไว้คือ 2% เพราะฉะนั้นปีนี้ยังเป็นขาขึ้นของดอกเบี้ย

หลังจากที่สหรัฐใช้สองยาแรง ช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และอำนาจการซื้อในประเทศสหรัฐ ทำให้ในช่วงปลายปี 2565 ยอดออเดอร์ต่างๆ จากสหรัฐไปยังทั่วโลกลดลง รวมทั้งยอดออเดอร์จากไทยเองก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

Advertisement

ขณะที่เศรษฐกิจจีน ยังโชคดีที่เปิดประเทศเร็ว ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโต 5% แต่ท้ายที่สุดโตเพียง 3% อย่างไรก็ดี ปีนี้ จีนเปิดประเทศเร็ว ก็ต้องติดตามว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้อย่างไร แต่ยังมีความท้าทายในเรื่องของ โควิด-19 ซึ่ง ส.อ.ท.มองว่า อย่างน้อยใน 3 เดือนแรก จากการเปิดประเทศเร็วก็เกิดการติดโควิดกันมากขึ้นทุกวัน โรงงานยังชะงักอยู่ เปิดบ้างปิดบ้าง นักท่องเที่ยวก็ยังออกมาเที่ยวได้ไม่เต็มที่ คาดการณ์ว่าโมเดลคล้ายๆ กับอินเดีย ที่ใช้วิธีการทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะฉะนั้น มองว่าเมื่อผ่านไป 6 เดือนจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในจีน

ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่ล้อเล่นไม่ได้ เพราะเป็นความท้าทายของมวลมนุษยชาติทั่วโลก เพราะว่าสัญญาณที่รุนแรงซึ่งชัดเจนขึ้นเหล่านี้ จะส่งผลมากมายการเกิดการเปลี่ยนแปลงในโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีทั้งโอกาส และความท้าทาย โอกาสคือ การสร้างธุรกิจใหม่ๆ คาร์บอนเครดิต พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมสีเขียว บีซีจี โมเดล ซึ่งไทยกำลังจะก้าวไปเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ได้อย่างไร

สำหรับความท้าทาย แน่นอนว่าไม่มีอะไรได้มาฟรี เพราะจะมีมาตรการกีดกันทางการค้า ที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM : ซีแบม) ที่สหภาพยุโรป ประกาศใช้ในการควบคุมดอกเบี้ย หรือภาษี จากทุกอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้โลกร้อน และเกิดอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งซีแบมจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้ และเพิ่มจากที่จำกัดใน 2 อุตสาหกรรม เป็น 7 อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ก็คือเรื่องภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง และเชื้อโรคใหม่ๆ จำนวนมหาศาลที่ฝังตัวในน้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย โดยเป็นเชื้อโรคที่เคยฝังตัวมาเป็นล้านๆ ปี จึงมีโอกาสที่เชื้อโรคเหล่านี้เหมือนจูราสสิค พาร์ค อาจจะกลับมาได้

สำหรับปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ เริ่มมาตั้งแต่ระหว่างสหรัฐกับจีน ประกาศเรื่องสงครามการค้า ลามมาอีกหลายประเทศ สงครามรัสเซียกับยูเครน เดือนกุมภาพันธ์นี้ ก็ครบ 1 ปีแล้ว แต่ท่าทีก็ยังไม่มีแนวโน้มว่ามีจะมีการคลี่คลาย หรือมีใครตอบได้ว่าจะเลิกเมื่อไหร่ มีแต่ข่าวว่าจะเพิ่มอาวุธเข้าไปเพิ่ม ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน ก็ปะทุขึ้นมา ก็จะเป็นระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่ง หรือความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ที่ปีที่แล้ว เกาหลีเหนือ ทดลองยิงจรวดมากกว่า 70 ลูก และมี 6-7 ลูกเป็นจรวดข้ามทวีป

ประเทศญี่ปุ่นเอง ก็ได้รับความท้าทาย จากการซ้อมรบในคาบสมุทรที่มีดินแดนติดกับจีน ญี่ปุ่นก็มองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม จึงเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เพิ่มงบประมาณทั้งกองทัพขึ้น 2 เท่า จากเดิมเป็นประเทศที่แพ้สงคราม มีเพียงกองกำลังรักษาตัวเอง แต่เปลี่ยนมาเป็นสร้างอาวุธ และพร้อมที่จะบุกได้ สิ่งเหล่านี้คือความตึงเครียดที่กำลังจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ข้อพิพาททะเลจีนใต้ ระหว่าง จีน ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เหล่านี้เป็นระเบิดเวลาที่เกิดเป็นวงโคจร เพราะฉะนั้น ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ส่วนความที่อธิบายไม่ได้ Incomprehensible คือ เรื่องของการขัดแย้งต่างๆ โรคภัย อย่างโควิด-19 และการเกิด ซัพพลาย เชน ดิสรัปชั่น สิ่งเหล่านี้ ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในคำว่า BANI World ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะสหรัฐ คาดว่าในปี 2566 นี้ จะเติบโตแค่ 0.5% ต่อปี ส่วนยุโรป คาดว่า เหลือ 0% ญี่ปุ่น อยู่ที่ประมาณ 1% และจีนคาดว่าอยู่ที่ 4.3% แต่หลายฝ่ายมองว่า อาจจะไปถึง 5% ได้ ซึ่งต้องรอดูว่าหลัง 6 เดือนไปแล้ว จีนดำเนินการอย่างไร

ส่วนเศรษฐกิจไทย ส.อ.ท. คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ 3.6% โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประเมินว่า จีดีพีไทยจะอยู่ที่ 3.0-3.5% ส่วนไอเอ็มเอฟให้มากกว่าหน่อยที่ 3.6-3.7% สิ่งที่สำคัญคือ ภาคการท่องเที่ยวที่กำลังกลับมา ตัวนี้จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในปี 2566

สำหรับ New Episode ของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ปี 2566 นั้น สิ่งที่ไทยได้รับจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือ 1.ต้นทุนการผลิตที่ยังคงสูงอยู่ ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ในภูมิภาคอาเซียน ตัวเลขชัดเจนว่า อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ ทั้งๆ ที่มีประชากรอยู่เพียง 5.5 ล้านคน แต่จะได้รับเอฟดีไอ ประมาณครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินทั้งหมดที่ไหลเข้าทั้งภูมิภาคมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา ส่วนอีกครึ่ง ก็แบ่งกัน 9 ประเทศ ใน 6 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-มิถุนายน 2565) ที่หนึ่งก็ยังคงเป็นสิงคโปร์ และที่เหนือกว่าไทย คือ มาเลเซีย ที่มีเม็ดเงินลงทุนกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถัดมาคือ เวียดนาม 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยมีเม็ดเงินที่ 1 พันเศษๆ ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะฉะนั้น สะท้อนว่าที่บอกว่า มีการลงทุนไทย กับ เวียดนาม คือ 1 ต่อ 3 เป็นจริง รวมทั้งการส่งออกของเวียดนามก็สูงกว่าไทยมาก

ส่วนหนึ่งเกิดจากต้นทุนไทยที่สูงกว่า โดยเฉพาะค่าไฟ คงทราบว่าเวียดนามนั้น มีความได้เปรียบกว่าไทย คือการทำความตกลงทางการค้ากับต่างประเทศ (เอฟทีเอ) 16 ฉบับ ครอบคลุม 55 ประเทศ ในขณะที่ไทยมีเอฟทีเอ 14 ฉบับ ครอบคลุม 19 ประเทศ ทำให้เวียดนามเหนือกว่า เพราะเอฟทีเอครอบคลุมมากกว่าไทย 36 ประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (อียู) ที่ไทยยังไม่มีเอฟทีเอเลย

ส่วนที่สอง คือ ค่าแรงโดยเฉลี่ยของเวียดนามต่ำกว่าไทย และข้อที่สาม ที่น่ากลัวที่สุดคือ ค่าไฟฟ้า เวียดนาม ในทั้งปี 2565 ยืนราคาที่ 2.88 บาทต่อหน่วย ขณะที่ไทยมีการปรับขึ้นมาตลอด ตั้งแต่ 3 บาทกว่าต่อหน่วย ปี 2565 ปรับขึ้นมาเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย และภาคธุรกิจได้รับของขวัญปีใหม่ เดือนมกราคม-เมษายน 2566 ปรับขึ้นเป็น 5.69 บาท ต่อหน่วย แต่ ส.อ.ท. และกกร.ได้มีการท้วงติง และขอให้รัฐบาลทบทวนใหม่ ก็มีการลดลงมาให้เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วย

ลองคิดดูนะครับ ค่าไฟฟ้า 2.88 บาทต่อหน่วย กับ 5.33 บาท ในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน ที่มีลูกค้าเหมือนกัน แค่เปิดเครื่องจักร ไทยเราก็แพ้เขาแล้ว และล่าสุดมีข่าวดี ด้วยความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งค่าเงินตอนนี้อยู่ที่ 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ปรากฏค่าไฟของเวียดนามก็ลดเหลือ 2.5 บาทต่อหน่วย ขณะที่ไทยยังเป็น 5.33 บาทต่อหน่วย ขอถามว่า นักลงทุนที่ไหนจะมาเมืองไทย เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นเรื่องที่อยากจะฝากไปยังคนที่รับผิดชอบ เพราะเรื่องนี้จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขัน อาจจะถาวรเลยก็ได้ ถ้าไม่รีบแก้ไข

ด้านการส่งออกที่ชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลก และความผันผวน จากช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
อันนี้เป็นปัญหาของไทย ที่วันนี้ (25 ม.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เพื่อไม่ให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยห่างกันเกินไป การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวช่วยเศรษฐกิจไทยได้ และมีอีกตัวที่อาจจะช่วยในปีนี้ นอกจากการท่องเที่ยวก็คือการเลือกตั้ง เพราะพอมีการเลือกตั้งทุกอย่างก็คึกคัก เม็ดเงินต่างๆ ก็คงสะพัดพอสมควร และไม่ใช่เป็นการอัดฉีดธรรมดา แต่ลงไปถึงรากฝอยเลย เพราะฉะนั้น 2 ตัวนี้จะเป็นตัวที่ส่งเสริมทำให้ตลาดภายในของไทยคึกคักขึ้นมา

จากที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพ การจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกปี 2565 (เอเปค 2022) และการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ปี 2565 หรือ ABAC 2022 หรือ สิ่งที่ทั่วโลก และสมาชิกในภูมิภาค พูดคุยกันคือ เทรนด์ ในเรื่องของความยั่งยืน (sustainability) ในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหัวข้อใหญ่ในการประชุม รวมทั้งเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล และการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทำอย่างไรให้อยู่รอด เพราะว่าได้รับผลกระทบหนักที่สุดในทุกวิกฤต โดยเฉพาะในเรื่องโควิด-19 เพราะฉะนั้น สิ่งที่คุยกันในที่ประชุมก็เป็นการเกาะกระแสของโลก ในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) มี 17 หัวข้อ

ส่วนไทย มียุทธศาสตร์ชาติที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไปในแนวทางเดียวกันคือ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ประกอบด้วย 1.การเกษตรสร้างมูลค่าบีซีจี โมเดล 2.อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 3.สร้างความหลากหลายด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 4.โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมไทย และเชื่อมโลก ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และ 5.พัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่ (เอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เกี่ยวกับ ความสามารถในการแข่งขัน

และยุทธศาสตร์ที่ 5 เรื่องการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแว้ดล้อม ประกอบด้วย 1.สร้างเศรษฐกิจ บีซีจีโมเดล 2.สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล 3.สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน บนสังคมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ 4.พัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งเน้นความเป็นเมืองที่เติบโต 5.พัฒนาความมั่นคงทางน้ำ พลังงงาน และเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6.ยกระดับกระบวนทัศน์ เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ

ส.อ.ท.ได้วางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เป็นสองส่วน คือ FIRST INDUSTRIES ปัจจุบันมี 45 อุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ ที่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม ที่มีลักษณะ บุญเก่ากำลังจะหมด ตรงนี้ทุกคนกำลังหนีตายกันอยู่ ซึ่ง ส.อ.ท.มีมาตรการที่จะช่วย ในการยืดเวลาอุตสาหกรรม และช่วยให้แข็งแกร่ง ให้มีความสามารถในการแข่งขัน แต่ไม่ได้มีการการันตีว่า จะไม่ถูกดิสรัปในอนาคต ส่วนการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ด้วยอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-Gen Industries) ประกอบด้วย 3 ระดับ คืออุตสาหกรรมใหม่ S-Curve 12 อุตสาหกรรม เศรษฐกิจแบบบีซีจี ที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ และที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ ส.อ.ท.จะเดิน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตัวใหม่

ถ้ายังอยู่กับอุตสาหกรรมเดิม โตแบบโมเดลเดิมๆ ไทยเรายังโตก็จริง แต่โตเพียง 3% อยู่แบบนี้เรื่อยๆ ดังนั้น อุตสาหกรรมใหม่ S-Curve ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าให้มากขึ้น ทำให้จีดีพีไทยเติบโตได้รวดเร็วมากขึ้น ส่วนบีซีจี โมเดล ส.อ.ท.ให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยเฉพาะตัว บี-ไบโอ หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ไทยมีความได้เปรียบ เพราะมีความหลากหลาย สร้างความเป็น feed stock ให้กับอุตสาหกรรมที่สำคัญทั่วโลก ในเรื่องความยั่งยืน ไม่ว่าเรื่องของยารักษาโรค เครื่องสำอาง อาหารเสริม เคมีชีวภาพ ไบโอพลาสติก เนื้อสัตว์จากพืช เป็นต้น ส.อ.ท.กำลังช่วยจับคู่ อุตสาหกรรม กับฐานการผลิตคือภาคจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ผลิต ปลูกพืชป้อนเขาอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งการพัฒนานี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะไทยต้องพึ่งพาภาคการส่งออก และเมื่อกติกาโลก ในส่วนของผู้ซื้อปรับเปลี่ยนแล้ว ดังนั้น อุตสาหกรรมไทยจะไม่ทำไม่ได้ การที่ได้เตรียมพร้อมก่อน ก็จะเป็นประโยชน์กับไทยเอง

นอกจากนี้ New Economy ของปี 2566 คือ 1.เรื่องของ เศรษฐกิจ บีซีจี โมเดล 2.อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) 3.Smart Electronics หรือเทคโนโลยีอัจฉริยะ และ 4.เศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่ 5 อุตสาหกรรมดาวรุ่งปี 2566 ได้แก่ 1.อาหารเครื่องดื่ม 2.ยานยนต์และชิ้นส่วน 3.เทคโนโลยีชีวภาพ 4.พลังงานหมุนเวียน และ 5.วัสดุก่อสร้าง ส่วน 5 อุตสาหกรรมดาวร่วง ปี 2566 ได้แก่ 1.เคมี 2.สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 3.หนังและผลิตภัณฑ์ 4.โรงเลื่อยและโรงอบไม้ 5.แกรนิตและหินอ่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image