นั่งร้านใต้กระบองยักษ์ โดย กล้า สมุทวณิช

สำนวน “รื้อนั่งร้าน” มาจากอุปมาที่ว่า เมื่อสร้างพระเจดีย์หรือปราสาทราชวังเสร็จเรียบร้อยสวยงามแล้ว ก็ไม่จำต้องเก็บนั่งร้านไว้ให้ระคายสายตา เรื่องนี้มีเขียนไว้ในนิยายเรื่อง “ข้ามสมุทร” ของ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม ถึงเหตุการณ์ “รื้อนั่งร้าน” หลังการขึ้นสู่อำนาจของพระเพทราชาเอาไว้อย่างน่าสลดและสยอง

สำนวนนี้กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง หลังจากการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ในการสั่งปลดผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และท่าทีของรัฐบาลต่อการออกมาประท้วงของชาวสวนยาง

การปลดผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส.นั้นส่งผลกระทบกระเทือนต่อเครือข่ายองค์กรด้านสุขภาพต่างๆ ที่เคยได้หรือที่ได้รับเงินอุดหนุนจาก สสส.เท่านั้น ไม่พอยังถูกเรียกเก็บภาษีจากเงินที่ได้รับการอุดหนุนดังกล่าว พร้อมเบี้ยปรับและดอกเบี้ยต่างๆ คิดย้อนหลังกันมาร่วมห้าปี เรียกว่าจุกกันไปตามๆ กัน การใช้อำนาจดังกล่าวจึงทำให้องค์กรเครือข่ายเอ็นจีโอด้านสุขภาพแห่กันออกมาคัดค้านราวกับหอยหลอดถูกราดด้วยน้ำปูน

รวมถึงแกนนำแพทย์ชนบทท่านหนึ่งออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านการปลดผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการมุ่งควบคุมภาคประชาชนให้อยู่ในกระด้ง สั่งซ้ายหัน ขวาหันตามประสาทหาร

Advertisement

หากการออกมาโต้แย้งคัดค้านการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดังกล่าว ก็กลับคล้ายเป็นการต่อสู้อย่างเดียวดาย เมื่อไม่มีฝ่ายใดขานรับ แม้แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็ไม่ได้ออกมาร่วมด้วยช่วยต้านหรือคัดค้าน อาจเพราะท่าทีแต่เดิมของบรรดาเครือข่ายสุขภาพและสุขภาวะนั้นเคยมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และทั้งไม่ยินร้ายกับการใช้อำนาจจากการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงสองปีก่อนจะถึงคิวของตัว

หนำซ้ำยังมีคนความจำดีไปขุดรูปและคลิปเสียงของท่านแพทย์ชนบทผู้นั้น ว่าเคยไปร่วมกิจกรรมเป่านกหวีดและขึ้นเวทีปราศัยร่วมกับกลุ่ม กปปส.ในการเคลื่อนไหวในช่วงก่อนการรัฐประหารด้วย

ส่วนกรณีของชาวสวนยางนั้นอันที่จริงเป็นเรื่องควรเห็นใจมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับปากท้องและการทำมาหากินโดยตรง และผลกระทบนั้นก็รุนแรงทีเดียว ถ้าพิจารณาจากราคายางสูงสุดที่เคยได้รับคือ กิโลกรัม 180 บาท ลดลงมาเหลือประมาณ 30 กว่าบาท หากตีกลมๆ คือเท่ากับรายได้ลดลงมากว่า 6 เท่า คือเท่ากับว่าถ้าคุณมีเงินเดือนอยู่เดิมประมาณสองหมื่นบาท อยู่ดีๆ เงินเดือนถูกลดมาเหลือไม่ถึงสี่พันบาท ก็คงจะนึกไม่ออกว่าจะวางแผนรับมือกับชีวิตและครอบครัวอย่างไร

แต่ก็นั่นแหละ มีผู้ไม่ยอมลืมเลือนเท้าความกันถึงการประท้วงแบบถึงลูกถึงคนปิดถนนกันด้วย “ชะอวดโมเดล” ในสมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งราคายางในขณะนั้นอยู่ที่กิโลละแปดสิบบาท รวมถึงการขุดค้นเอาคลิปวิดีโอสัมภาษณ์คุณลุงผู้ “กินหลากหลาย” ท่านหนึ่งขึ้นมาเตือนใจให้หลายคนแอบยิ้มที่มุมปาก

อันที่จริงแล้ว หากผู้ใดเป็นฝ่ายที่ปวารณาตัวว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร หรือไม่ยอมรับการใช้อำนาจลัดขั้นตอนทั้งทางนิติบัญญัติ ทางปกครอง และไม่อาจตรวจสอบได้ด้วยกระบวนการตุลาการ ก็น่าที่จะร่วมคัดค้านต่อสู้ไปกับบรรดาเครือข่ายสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากกรณี สสส.และแกนนำชาวสวนยางที่ได้รับโปรโมชั่น “ไม่ปรับราคา แต่ปรับทัศนคติ” โดนเรียกเข้าค่ายไปตามกัน

อาจเพราะ “ภาพติดตา” ที่ขุดมาได้นั้นไปปรับลดบดบังความเห็นอกเห็นใจจากคนอีกฝ่ายหนึ่ง ที่น่าจะนับเป็นพวกเพราะต่างก็ได้รับผลจากการใช้อำนาจแบบเดียวกันมาก่อนนั่นเอง

จริงอยู่ว่าการประท้วงรัฐบาลเป็นสิทธิโดยชอบของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่การประท้วงที่เล็งเห็นผลเพื่อนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาล กระทำผิดกฎหมายละเมิดสิทธิคนอื่น เลยเถิดไปถึงการขัดขวางการเลือกตั้ง จนบานปลายให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงนั้น ก็เพียงพอที่ทำให้ผู้คนที่ความจำดีมองกลุ่มคนดังกล่าวเหล่านั้นว่าเป็น “นั่งร้าน” ให้แก่การทำรัฐประหาร และเมื่อเขาจะใช้อำนาจอย่างเดียวกันนั้นด้วยวิธีการลัดขั้นตอนแบบเดียวกับที่ตนเองเปิดทางให้เข้ามานั้น จัดการ “รื้อ” เอาเสียบ้าง ก็ทำให้ฝ่ายไม่เอาด้วยกับรัฐประหารส่วนใหญ่ถือคติ “เห็นใจ-แต่ไม่ขอพูดอะไรดีกว่า”

หากจะหาข้อดีในแง่ร้าย นี่ก็อาจจะเป็น “ราคา” ของการปฏิเสธประชาธิปไตย และเป็น “บทเรียน” ของการเรียกอำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการกับฝ่ายตรงข้ามกับตัวเองอย่างเอาแต่ใจ โดยละเลยหลักการตรวจสอบถ่วงดุล การต่อรอง และการตัดสินใจของเสียงข้างมากฝ่ายกระบวนการเลือกตั้ง ตลอดจนกระบวนการนิติรัฐ (ที่หลายคนอ้างว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งนั้นทำลายไปแล้ว)

เพราะไม่ว่าจะดีจะร้ายอย่างไร รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การใช้อำนาจตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญในสภาวะปกติ ไม่ว่าจะไปชี้หน้ากล่าวหาว่าเขาฉ้อฉลกลโกงอย่างไร แต่การใช้อำนาจก็ยังมีช่องทางตรวจสอบคัดค้าน นอกจากการประท้วงที่อาจจะทำได้ถึงลูกถึงคนโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกพาตัวไปปรับทัศนคติแล้ว การโต้แย้งทางปกครองหรือใช้สิทธิทางศาลก็ยังมีช่องทางทำได้ หากเป็นการกระทำโดยรัฐบาลภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามปกติแล้ว การปลดผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.นี้สามารถโต้แย้งและนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ ต่างจากการใช้อำนาจที่ล้นพ้นจากการตรวจสอบแม้แต่โดยฝ่ายตุลาการ

นี่จึงอาจจะเป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่เคยสนับสนุน หรืออย่างน้อยก็ไม่เดือดร้อนกับการใช้อำนาจพิเศษนอกระบบที่อาจเงียบหรือแอบพอใจเมื่อฝ่ายตรงข้ามกับตนเองได้รับผลร้ายจากการใช้อำนาจเช่นนั้น ได้ตระหนักว่าอำนาจล้นพ้นเท่าไร ก็เหมือนยักษ์ไร้ตาที่พร้อมจะเอากระบองวิเศษฟาดลงไปใส่ทุกอย่างที่ขวางอยู่ตรงหน้าได้ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าสิ่งนั้นเป็น “นั่งร้าน” หรือ “สะพาน”

ส่วนใครที่ยังคิดว่าตัวยังปลอดภัยใต้เงากระบองยักษ์ หรือคิดว่าเขาคงไม่ทำอะไรแก่ท่าน ก็อาจจะต้องทิ้งท้ายด้วยบทกวีอันมีชื่อของมาร์ติน นีมูลเลอร์ (Martin Niem?ller) บทที่ว่า “แรกนั้นเขามาจับพวกคอมมิวนิสต์ ข้าฯเงียบ เพราะข้าฯไม่ใช่คอมมิวนิสต์… จากนั้นเขาก็มาจับพวกสหภาพ ข้าฯก็เงียบเพราะข้าฯไม่ใช่พวกสหภาพ… ต่อมาเมื่อเขามาจับพวกยิว ข้าฯก็ยังเงียบเพราะข้าฯไม่ใช่ยิว…”

อย่ารอให้เมื่อสุดท้ายเมื่อเขามารื้อนั่งร้านของพวกท่าน แล้วผู้คนที่เหลือจะได้แต่เห็นใจแบบเงียบๆ ไว้ดีกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image