สุจิตต์ วงษ์เทศ : ทุ่งอยุธยา น่าเที่ยว แต่จะไม่เหลือให้เที่ยวอีกแล้ว?

เจดีย์วัดกระซ้าย กลางทุ่งปากกราน อยุธยา (ภาพจากหนังสืออยุธยา ของ สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส วางขายขณะนี้)

นอกเกาะเมืองอยุธยาโดยรอบมีหลายทุ่ง คุณขรรค์ชัย บุนปาน เคยชวนผมไปเดินทุ่งอยุธยาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนโบราณคดี ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

ครั้งแรก พ.ศ. 2510 ตอนกลางคืนราว 2 ยาม เดินตาม 2 อาร์ติสต์จิตรกรรมฯ พี่อรรถทวี ศรีสวัสดิ์ กับพี่นิพนธ์ ขำวิไล (คณะสำรวจห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ของ น. ณ ปากน้ำ) จากวัดแม่นางปลื้ม ไปวัดหน้าพระเมรุ เข้าวังโบราณ

ครั้งหลัง พ.ศ. 2513 เดินสำรวจเองร่วมกับเพื่อนนักเรียนโบราณคดีหลายสิบคน ด้วยทุนสนับสนุนจากมูลนิธิฝรั่งที่ให้คุณขรรค์ชัยควบคุมงานการสำรวจ

ทุ่ง หมายถึง ที่ราบโล่ง, ที่ราบลุ่ม มีทั่วไปในไทยและเพื่อนบ้าน แต่ในรายละเอียด            ภูมิประเทศอาจต่างกัน

Advertisement

ผมเดินด้วยตีนแล้วทุกทุ่งอยุธยา รู้ว่าอยู่ตรงไหน? แต่ไม่เคยนับว่ามีกี่ทุ่ง? เพิ่งรู้ว่ามี 9 ทุ่งสำคัญ เมื่ออ่านพบในหนังสือ อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก ของ             กำพล จำปาพันธ์ (สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2559 ราคา 365 บาท) ที่ผมซื้ออ่านรอหมอโรงพยาบาลศิริราช ดังนี้

ด้านเหนือ ทุ่งภูเขาทอง, ทุ่งมะขามหย่อง, ทุ่งลุมพลี, ทุ่งแก้ว, ทุ่งขวัญ, ทุ่งทะเลหญ้า

ด้านตะวันตก ทุ่งประเชด ด้านตะวันออก ทุ่งหันตรา ด้านใต้ ทุ่งปากกราน, ทุ่งบางปะอิน

Advertisement

ใครเห็นว่ามีมากกว่านี้ กรุณาอย่าต่อว่าที่ผม เพราะไม่ได้เป็นต้นคิด

 

ปากกราน

ชื่อทุ่งปากกราน หมายถึง บริเวณต้นทางกว้างขวางของที่ราบลุ่มที่โล่งลาด

ปาก แปลว่า ต้นทางเข้าออก

กราน แปลว่า ที่ราบลุ่มโล่ง มีรากคำจากภาษาเขมร ว่า กฺราล (อ่านกราน) แปลว่า  ปู, ลาด, แผ่ออก

ภาษาเขมรในภาษาไทยมีมาก น่าจะเกือบครึ่ง เพราะความเป็นคนไทย ร้อยพ่อพันแม่มีทั้งเขมร, มอญ, ลาว, เจ๊ก, แขก ปนอยู่ด้วยไม่น้อย

ฉะนั้น ไม่ต้องประหลาดที่กรานเป็นภาษาเขมร

 

แก้มลิง

ทุ่งรอบเกาะเมืองอยุธยาล้วนเป็นแก้มลิง หรือแอ่ง รองรับน้ำหลากจากทุกทิศทางเป็นประจำทุกปี

พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จทำพิธีกรรมทุกเดือนเกี่ยวกับน้ำและดิน เรียกพระราชพิธี 12 เดือน เพื่อขอความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพืชพันธุ์ธัญญาหารของราชอาณาจักร

ทุ่งรอบอยุธยาจึงมีชีวิตและมีความเคลื่อนไหวทั้งปี เกี่ยวกับวิถีความเป็นไพร่บ้านพลเมือง

แต่แล้วแหล่งประวัติศาสตร์ธรรมชาติมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ที่สุดในไทย ก็ถูกทำให้ล่มสลายไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะสร้างตรงไหนก็ได้ โดยขยับเลี่ยงไปทางทิศตะวันออกตั้งแต่นครนายก, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา ฯลฯ

แต่ไทยไม่ทำอย่างนั้น เพราะต้องการสะดวกสบาย แม้ทำลายอย่างอื่นที่สำคัญมาก       กว่าก็ยอม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image