สัญญะ การเมือง The Sound of Silence “บอล” ประเพณี

“ภาพ” อันมาจากสนามศุภชลาศัย ก่อนการแข่งขันฟุตบอล “ประเพณี” เมื่อวันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ นั่นแหละตรงกับที่ พอล ไซมอน สรุปเอาไว้อย่างรวบรัดยิ่งว่า

The sound of silence

นั่นก็คือ เป็น “เสียงแห่งความเงียบ”

เมื่อเอ่ยถึง “ความเงียบ” ความเคยชินโดยพื้นฐานอันมีลักษณะทั่วไปอย่างยิ่งก็คือ เป็นความเคยชินซึ่งไม่ปรากฏ

Advertisement

ที่ตามมาก็คือ เงียบ “กริบ” ที่ตามมาก็คือเงียบ “สนิท”

หากมองในด้านภาษาศาสตร์ สำนวนไทยอีสานให้ความรู้สึกที่สงบอย่างลึกล้ำเป็นพิเศษ ถึงขั้นไร้รูป ไร้รอย

นั่นก็คือ “มิดอิมซิม”

Advertisement

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เมื่อใดก็ตามที่ “ความเงียบ” ปรากฏเป็น “เสียง” จะก่อสภาวะอันน่ากลัวเป็นอย่างสูง

เหมือนที่ปรากฏใน “บอลประเพณี”

คำถามก็คือ อะไรคือ “เหตุ” อะไรคือ “ปัจจัย”

คำตอบก็คือ “คำสั่ง” คำตอบก็คือ “ความกลัว”

 

ตามรายงานข่าวที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1-2 อาทิตย์ก่อนกำหนด

การเปิดศึกฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1 มีความพยายามจาก “ทหาร”

เป็นความพยายามในการเจรจา ทำความเข้าใจ เป็นการเจรจาเพื่อมิให้ “ขบวนล้อการเมือง” แตะไปยัง คสช. แตะไปยังทหาร

เสียงจากฝ่ายนักศึกษาไม่มีอะไรมาก นอกจากยืนยันในกรอบ “ประเพณี”

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด คือ ความรู้สึกและการแสดงออกฝ่ายของทหารและฝ่ายของนักศึกษา

ฝ่ายของ “ทหาร” มากด้วยเสียง “เตือน” มากด้วย “มาตรการ”

ความน่าสนใจอยู่ที่ฝ่ายของ “นักศึกษา” ไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวอย่างแน่ชัดว่า ขบวนล้ออันแสดงออกผ่าน “หุ่น” หรือ “ป้ายผ้า” จะเป็นอย่างไร มีเนื้อหาเช่นใด

อาวุธอย่างสำคัญยังเป็น “ความเงียบ”

ปรากฏว่าในวันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน เต็มพิกัดแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารจาก ม.พัน 1 รอ. นอกเครื่องแบบกระจายอยู่ทั่วบริเวณสนามศุภชลาศัย บางกระแสระบุจำนวน

ไม่ต่ำกว่า 100 บางกระแสระบุมากถึง 300

คำถามก็คือ แล้ว “ห้าม” ได้หรือไม่

หากมองจากบรรทัดฐานแห่งหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) หากมองจากบรรทัดฐานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)

ถามว่า “นักศึกษา” เป็น “นักศึกษาวิชาทหาร” (นศท.) หรือไม่

คำตอบเห็นได้ชัดว่า ส่วนใหญ่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนใหญ่ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล้วนเคยเป็น “นศท.”

อาจมีบางส่วนอยู่ในประเภท “รด.จิตอาสา” ด้วยซ้ำไป

แต่ถามต่อไปว่า ทั้งๆ ที่อยู่ในกระบวนการแห่ง “นักศึกษาวิชาทหาร” หรือ “นศท.” แต่พวกเขารายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบหรือไม่ในเรื่อง “ล้อการเมือง” ในเรื่อง “แปรอักษร”

หากรายงานคงไม่มีป้ายผ้า “ทหารมีไว้ทำไม” แล้วมีคำตอบเสร็จสรรพ “มีไว้ห้ามป้ายผ้า ผู้กล้าถือ” ปรากฏภายใต้หุ่น “ฟรีซแลนด์”

แล้วก็เก็บแล้วหายไปจาก “สนาม” อย่างรวดเร็ว

นี่คือลักษณะ “จรยุทธ์” ในการเคลื่อนไหว นี่คือการอาศัย “ความเงียบ” เป็นอาวุธ เป็นเครื่องมือและพลันที่ปรากฏต่อ “สาธารณะ” ก็ทรงพลังอย่างยิ่ง

ไม่เพียงส่งผ่าน “โซเชียลมีเดีย” หากส่งผ่านไป “ทั่วโลก”

เสียงแห่ง “ความเงียบ” อย่างนี้แหละที่จะปรากฏในการแสดง “ประชามติ”

 

มีความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่า “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะต้องผ่าน “ประชามติ” แน่นอน

เป็นความมั่นใจเหมือนกับที่ ผบ.พล.ม.2 รอ.รับรู้และยืนยันไปยัง “ผู้บังคับบัญชา” เป็นความมั่นใจเหมือนกับที่ ผบ.นรด.รับรู้และยืนยันไปยัง “ผู้บังคับบัญชา”

เพราะว่าทุกอย่าง “นิ่ง” เพราะว่าไม่เคยได้ยิน “เสียงแห่งความเงียบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image