หัวรถจักรเศรษฐกิจโลก : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศชนะสงครามประเทศเดียวที่ไม่เสียหายจากการเป็นสนามรบ พันธมิตรอื่นๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สแกนดิเนเวีย ยุโรปตะวันออก รวมทั้งสหภาพโซเวียตต่างก็บอบช้ำจากผลของสงคราม

เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจึงเฟื่องฟู อเมริกาจึงกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแต่ผู้เดียว จนได้รับการขนานนามว่าเป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลก หรือ world economic locomotive

ขณะเดียวกันทางค่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งนำโดยสหภาพโซเวียต โซเวียตได้เข้าไปยึดครองประเทศต่างๆ ในภาคพื้นยุโรปตะวันออก เยอรมนีเองก็ถูกแบ่งออกเป็นเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออก รัสเซียได้เข้าไปยึดครองเยอรมนีตะวันออกแล้วจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคคอมมิวนิสต์เข้าปกครอง กรุงเบอร์ลินเมืองหลวงของเยอรมนีเองก็ถูกแบ่งออกเป็นเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตก สร้างกำแพงกั้นไม่ให้ผู้คนเดินทางข้ามเขตได้ เบอร์ลินตะวันตกถูกล้อมรอบโดยดินแดนของเยอรมนีตะวันออก รัสเซียจึงเป็นหัวรถจักรเศรษฐกิจของค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ทำมาค้าขายกันเองในค่ายคอมมิวนิสต์ด้วยกัน ยกเว้นสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เกิดความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต
ต่อมาเมื่อสหภาพโซเวียตเริ่มเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ เปิดให้เอกชนมีทรัพย์สินส่วนตัวได้ เริ่มให้เอกชนดำเนินธุรกิจเป็นของส่วนตัวได้ ในสมัยประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ ประธานเหมา เจ๋อ ตง ก็ประณามผู้นำสหภาพโซเวียตอย่างรุนแรง กล่าวหาว่าสหภาพโซเวียตเป็นคอมมิวนิสต์นอกคอก ไม่ดำเนินตามลัทธิมาร์กซ์-เลนิน เศรษฐกิจสหภาพโซเวียตจะต้องล่มสลาย ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของสหภาพก็จะอ่อนแอลงจนถึงแก่กาลอวสานของจักรวรรดิคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่อมาก็เป็นความจริงในที่สุด ค่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตล่มสลาย จักรวรรดิโซเวียตซึ่งปกครองรัสเซียและเมืองขึ้นต่างๆ ของพระเจ้าซาร์ก็ล่มสลาย แตกออกเป็นประเทศเอกราชอย่างที่เห็นกันอยู่

ขณะเดียวกันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศจีนหลังมรณกรรมของประธานเหมา การพ่ายแพ้ของคณะสี่คนที่พยายามจะยึดพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์คอมมิวนิสต์ของประธานเหมา เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายจากระบบ “กรรมสิทธิรวม” ตามลัทธิมาร์กซ์-เลนินและเหมา เจ๋อ ตง มาเป็นระบบ “เศรษฐกิจแบบตลาด” หรือ market economy ภายใต้การนำของ เติ้ง เสี่ยวผิง โดยการคืนการถือครองปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน ทุนและแรงงานให้กับเอกชน แล้วเศรษฐกิจของจีนก็ขยายตัวและขยายตัวอย่างรวดเร็วในอัตราตัวเลข 2 หลักมาเป็นเวลากว่า 20 ปี

Advertisement

เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในโลกมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะช้าลงเพราะฐานเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น ค่าแรงงานที่แท้จริงสูงขึ้น อัตราการว่างงานลดลง จนกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการจ้างงานอย่างเต็มที่มาเป็นเวลานานกว่า 3 ทศวรรษ

การขยายตัวในอัตราที่สูงเกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าได้ในราคาต่ำ ส่งออกไปขายตีตลาดได้ทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ รวมทั้งเอเชีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มีการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาแข่งกับรัฐวิสาหกิจ กดดันให้รัฐวิสาหกิจต่างๆ ต้องปรับปรุงตัวเองหรือทำไม่ได้ก็ขายให้เอกชน แต่ถ้าขาดทุนติดต่อกันจนทุนหมดก็ต้องยุบเลิกไป ทุนจากยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น รวมทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันจึงหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในจีนอย่างต่อเนื่อง

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนผ่านการส่งออก ต่อมาก็ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการบริโภค จีนลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกจนได้รับการขนานนามว่าเป็นโรงงานของโลก หรือ “world factory” เศรษฐกิจของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนขนาดของเศรษฐกิจแซงหน้าญี่ปุ่นซึ่งเคยครองตำแหน่งว่าเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก กล่าวคือขณะนี้มีสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้าประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปเรียบร้อยแล้ว จีนจึงกลายเป็นประเทศที่เป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลกอีกประเทศหนึ่ง นอกจากสหรัฐอเมริกายุโรปและญี่ปุ่น จึงเท่ากับว่าเศรษฐกิจที่เป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลกคือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีนและญี่ปุ่น ส่วนอังกฤษซึ่งประชาชนลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปจึงไม่ได้รวมอยู่ในขบวนหัวรถจักรเศรษฐกิจของโลกแล้ว

Advertisement

ความสำคัญของสหรัฐอเมริกาในฐานะหัวรถจักรจึงลดความสำคัญลง โดยมีจีนเข้ามาแทนที่ในฐานะผู้นำเข้าพลังงานและวัตถุดิบ แร่ธาตุสินค้าขั้นปฐมอื่นๆ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ยังมีสิทธิบัตรอยู่มากเป็นรายใหญ่ที่สุดของโลก ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอเมริกา ที่เคยมีความสำคัญต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมากที่สุดก็ลดความสำคัญลง กลายเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนมีความสำคัญต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกมากขึ้น

ขณะเดียวกันทิศทางการค้าของโลกก็เปลี่ยนไปด้วย จากการที่ยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่นเคยเป็นตลาดสำคัญของประเทศต่างๆ ทั่วโลก บัดนี้ก็มีจีนเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นตลาดสำคัญของประเทศต่างๆ และก็มีฐานะเป็นหัวรถจักรเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกไปพร้อมกันด้วย

สัดส่วนการส่งออกของประเทศไทยเราที่ส่งไปขายในตลาดสหรัฐอเมริกา ที่เคยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 ก็ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นเอง เช่นเดียวกันกับสัดส่วนของเราที่ส่งไปยุโรปตะวันตก ที่เคยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ก็ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 8 เช่นเดียวกัน โดยสัดส่วนของการส่งออกของเราไปยังประเทศจีน ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ในประชาคมอาเซียน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจนเป็นตลาดสำคัญของไทย อเมริกาและยุโรปจึงไม่ใช่ตลาดสำคัญของการส่งออกของไทยอีกต่อไป

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอเมริกาและยุโรปมีความสำคัญต่อการขยายตัวของการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยน้อยลง แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนมีความสำคัญต่อการขยายตัวของการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น

ในขณะที่เศรษฐกิจอเมริกามีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเราน้อยลง แต่ตลาดการเงินของสหรัฐอเมริกาก็ยังมีความสำคัญต่อภาวะการเงินของโลกอยู่ต่อไป ทั้งนี้ ก็เพราะว่าเงินดอลลาร์ยังเป็นเงินสกุลเดียวของโลกที่นิยมใช้ในการชำระหนี้ระหว่างประเทศ เป็นเงินตราสกุลเดียวที่ยังเป็นเครื่องมือในการออมของโลก เป็นเงินตราสกุลเดียวที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรทั้งในตลาดการเงินและตลาดสินค้าและบริการ อัตราดอกเบี้ยของเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งสะท้อนผลตอบแทนของประเทศผู้ออม ต้นทุนของผู้กู้เงินดอลลาร์ยังมีความสำคัญต่อการเงินการลงทุนและการค้าขายระหว่างประเทศ ตลาดทุนของสหรัฐอเมริกาจึงยังเป็น “หัวรถจักรทางการเงิน” ที่สำคัญที่สุดของโลกอยู่ดีและมีความสำคัญต่อการเงินและการลงทุนของโลกมากขึ้นทุกที แทนที่จะน้อยลง เพราะยังไม่มีตลาดประเทศใดเข้ามาแย่งส่วนแบ่งของตลาดอเมริกาได้

การที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ประกาศนำเอาเงินหยวนเข้าตะกร้าเงินหรือ “basket of currency” ในการกำหนดค่าของเงินตราของกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่เรียกว่าสิทธิถอนเงินพิเศษ หรือ SDR ที่หลายคนเข้าใจผิดว่าเงินหยวนจะเป็นเงินตราที่จะใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศได้นั้นไม่เป็นความจริง เป็นการเข้าใจผิดของนักวิชาการไทยหลายคน ความจริงตะกร้าเงิน หรือ “basket of currency” นั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตรึงค่าของเงินในกรณีที่เงินสกุลนั้นไม่ได้ปล่อยให้ “ลอยตัว” หรือ “free exchange rate” แต่ตรึงค่าเงินไว้กับตะกร้าของเงินตราหลายสกุล ไทยเราเคยตรึงค่าเงินบาทไว้กับดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นการตรึงค่าเงินบาทกับ “ตะกร้าของเงิน” แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนเสรีหรือ free exchange rate ในปัจจุบัน สิทธิถอนเงินพิเศษหรือ SDR ไม่ได้ลอยตัวเสรี แต่ตรึงค่าไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งเมื่อก่อนในตะกร้าไม่มีเงินหยวนของจีน แต่บัดนี้มีเงินหยวนด้วยโดยให้น้ำหนักประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เท่าๆ กับเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ แต่เงิน SDR ไม่เป็นที่นิยมของโลกเท่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐ ตลาดเงินดอลลาร์สหรัฐจึงยังเป็นหัวรถจักรของตลาดเงินของโลกอยู่ต่อไป ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ตลาดโลก ไม่ว่าตลาดสินค้าและบริการ หรือตลาดการเงินภายในประเทศ ก็ย่อมจะมีสินค้าและบริการบางอย่างสำคัญกว่าสินค้าหรือบริการอีกอย่าง สินค้าที่มีสัดส่วนขนาดใหญ่ก็ย่อมมีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงปริมาณการซื้อขายและมูลค่าของการซื้อขายทอดตลาดได้ สามารถกลายเป็นตัวจักรหรือหัวรถจักรที่จะ “เคลื่อนตลาด” หรือ “move the markets” ได้

หัวรถจักรเศรษฐกิจขณะนี้จึงขยับมาเป็นจีนด้วย

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image