ต่อต้านอิสลามในภาคเหนือตอนบน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ข่าวนี้สร้างความตกใจแก่ผมพอสมควร เมื่อปลายเดือนที่แล้ว มีการประชุมที่เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีบุคคลจากสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดเชียงใหม่เป็นตัวแทนฝ่ายฆราวาส ที่ประชุมมีมติแจ้งแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ว่า ทางกลุ่มคัดค้านโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในทุกอำเภอของเชียงใหม่ หลังจากที่โครงการเช่นนี้ถูกระงับไปที่อำเภอดอยหล่อ เพราะกระแสคัดค้านเช่นกัน

แค่นี้ผมคงไม่ตกใจอะไร หลังจากได้อ่านข่าวการต่อต้านมุสลิมในจังหวัดภาคเหนือมาหลายครั้งแล้ว เช่นคัดค้านการสร้างมัสยิด หรือร้องเรียนทางการว่าการเรียกสวดของมัสยิดที่มีมานานแล้วรบกวนความสงบสุขของตน ฯลฯ

แต่ที่ออกจะตกใจก็คือกลุ่มที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ นอกจากสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ยังประกอบด้วยกลุ่มอื่นอีก 11 องค์กร คือศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา จ.เชียงใหม่ ศูนย์เผยแพร่ธรรม จ.เชียงใหม่ พุทธสมาคม จ.เชียงใหม่ ยุวพุทธิกสมาคม จ.เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ฯลฯ (กลุ่มอะไรอีกบ้าง สื่อไม่ได้รายงานไว้ให้ครบ 11) นั่นคือองค์กรทุกกระแสของพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทย ไม่เว้นแม้แต่องค์กรด้านวิชาการ และองค์กรซึ่งครั้งหนึ่งเชื่อมโยงปัญญาชนชาวพุทธที่เป็นฆราวาสเข้ากับการเผยแผ่พุทธศาสนา เช่น พุทธสมาคม และยุวพุทธิกสมาคม

เหตุผลที่คัดค้านตามที่สื่อรายงานก็คือ “โครงการนี้จะส่งผลกระทบในพื้นที่หลายเรื่อง ทั้งปัญหามลพิษและของเสียจากกระบวนการผลิต ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งแตกแยก เนื่องจากความแตกต่างทางวิถีชีวิตระหว่างชาวพุทธใน จ.เชียงใหม่ กับชาวมุสลิมที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ และที่มีการอ้างว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานคนท้องถิ่น ไม่เป็นความจริง เพราะตามหลักศาสนาอิสลามห้ามคนนับถือศาสนาอื่นทำงานฮาลาลอยู่แล้ว”

Advertisement

อ่านข้อคัดค้านแล้วก็คงเห็นด้วยว่ามีเหตุมาจากอคติต่อมุสลิม มากกว่าความรู้ความเข้าใจศาสนาอิสลามจริงจัง ข้อนี้ไม่น่าตกใจอะไร เพราะในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยต่อต้านกันและกันด้วยอคติมากกว่าความรู้ความเข้าใจตลอดมา ผมคงไม่มีความสามารถไปลดทอนอคติของใครได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจแก่ผมมากกว่าก็คือกระแสต่อต้านมุสลิมในเมืองไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบนนั้น เกิดขึ้นจากอะไร

แต่ก่อนจะไปตอบปัญหานั้น ผมก็ยังมีหน้าที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ข้อคัดค้านของ 12 องค์กรนั้นเป็นอคติ เพราะไม่สนใจจะเหลียวไปดูว่าฮาลาลในศาสนาอิสลามนั้นหมายถึงอะไรกันแน่

ปัญหามลพิษและของเสียจากกระบวนการผลิตจนกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นจากการตั้งนิคมอุตสาหกรรมแน่ ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมอะไร แต่ไม่เกี่ยวอะไรทั้งสิ้นกับอิสลาม ทั้งนี้เพราะกฎหมายและการบริหารควบคุมนิคมอุตสาหกรรมของภาครัฐไทย ไม่ทำให้การควบคุมมีประสิทธิภาพจริง

ฮาลาลคือสิ่งที่อนุญาตแก่มุสลิม ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือพฤติกรรม ตามหลักการแล้วสิ่งที่ไม่ได้ห้ามไว้ทั้งหมด คือสิ่งที่อนุญาต แต่ที่มักจะเจาะจงกันก็คืออาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นๆ เช่นเครื่องสำอางและยา ซึ่งอาจปนเปื้อนสัตว์หรือผลผลิตจากสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้มุสลิมใช้บนหรือแก่ร่างกายของตน (เช่นสารที่สังเคราะห์จากหมู หรือวัคซีนที่เพาะจากหมู เป็นต้น)

การฆ่าสัตว์ที่ใช้ในการบริโภคต้องกระทำให้ถูกต้องตามพิธีกรรม ส่วนสำคัญของพิธีกรรมนี้คือการไม่ทรมานสัตว์นั่นเอง เช่นต้องใช้มีดที่คมกริบ แทงให้ลึกลงไปที่ส่วนหน้าของคอ (คือเชือดหลอดลมและหลอดเลือดสำคัญให้ขาดโดยรวดเร็ว) อีกส่วนหนึ่งคือความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ที่จะบริโภค เช่นซากสัตว์ที่ตายเองห้ามบริโภค หรือสัตว์ที่ถูกทุบตีจนตาย หรือเป็นเหยื่อของสัตว์อื่นก็ห้ามบริโภค เป็นต้น

ใช่เลย โรงฆ่าสัตว์ในประเทศไทยมักถูกปล่อยปละละเลยให้ทิ้งของเสียลงสู่ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นโรงฆ่าสัตว์ฮาลาลหรือไม่ก็ตาม แม้แต่โรงฆ่าสัตว์ของนายทุนใหญ่ก็มีปัญหาเหมือนกัน แต่ก็ดังที่กล่าวแล้วว่าเพราะกฎหมายและการบริหารจัดการของเราไม่ดี จึงปล่อยให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะเช่นนี้ได้

อันที่จริงการฆ่าสัตว์ให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามอาจมีปัญหาได้จริงเหมือนกัน เพราะการทำให้สัตว์งงด้วยสารเคมีหรือการชอร์ตไฟฟ้าก่อนลงมือฆ่า อันเป็นวิธีที่โรงฆ่าสัตว์สมัยใหม่ใช้เพื่อไม่ทรมานสัตว์นั้น อิสลามไม่อนุญาต และที่ไม่อนุญาตนั้นก็ไม่ได้มาจากความป่าเถื่อนอะไร แต่เพราะอาจทำให้เนื้อสัตว์มีอันตรายในการบริโภคระยะยาวได้ ทำให้ประเทศตะวันตกบางประเทศไม่อนุญาตให้มีโรงฆ่าสัตว์ฮาลาล เพราะกฎหมายของเขาบังคับว่าต้องทำให้สัตว์ “งง” เสียก่อนฆ่า

แต่ข้ออ้างอันนี้ใช้ในเมืองไทยได้ยาก เนื่องจากโรงฆ่าสัตว์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำให้สัตว์งงแต่อย่างไร ใครเคยอยู่ใกล้โรงฆ่าหมูก็จะได้ยินเสียงกรีดร้องของหมูเกือบทั้งวัน

เฉพาะการฆ่าสัตว์เท่านั้นที่บังคับว่าต้องกระทำโดยคนที่เป็นมุสลิม ส่วนการเอาเนื้อสัตว์ไปปรุงอาหาร จะทำโดยคนไม่ใช่มุสลิมก็ได้ เพียงแต่ต้องแน่ใจว่าส่วนประกอบอื่นต้องเป็นอาหารที่ฮาลาล เช่นไม่ใช้น้ำมันหมูในการปรุงอาหาร การผลิตอาหารซึ่งมีตราฮาลาลที่ได้รับการรับรองระดับนานาชาตินั้น เป็นช่องทางส่งออกอาหารที่มีตลาดกว้างขวางทีเดียว ผมเคยซื้ออาหารกระป๋องจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีตราฮาลาล แต่ที่จริงแล้วผลิตที่ปทุมธานี แล้วส่งไปติดฉลากในประเทศเพื่อนบ้าน เปิดกินเข้าก็อาหารไทยเราดีๆ นี่เอง อร่อยเสียด้วย

เท่าที่ผมทราบ ในเมืองไทยยังไม่มีองค์กรที่ได้การรับรองเป็นสากลในการออกตราฮาลาล เขาว่ากันว่าแย่งกันอุตลุดระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพราะมีผลประโยชน์แฝงมหาศาลทีเดียว แต่หากองค์กรใดได้ไป และทำด้วยความซื่อสัตย์จริงก็จะช่วยการส่งออกไทยได้แยะ ไม่เฉพาะแต่อาหาร ยังรวมถึงเครื่องสำอางและยาซึ่งต้องวิเคราะห์ส่วนประกอบทางเคมีอย่างรัดกุมให้ฮาลาลจริง

ดังนั้น หากมีนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีมุสลิมอพยพเข้ามาทำงานในนิคมจำนวนมากมาย ส่วนใหญ่ของแรงงานก็คงเป็นคนเชียงใหม่หรือจังหวัดใกล้เคียง

แต่ผมไม่อยากใช้เงินหรือผลประโยชน์ทางวัตถุมาเป็นเหตุผลว่าควรยอมให้มีนิคมฮาลาลขึ้น จะมีหรือไม่เป็นเรื่องที่คิดและถกเถียงกันได้ แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่เป็นอคติทางศาสนาเท่านั้น

คราวนี้กลับมาสู่อคติทางศาสนาซึ่งผมสนใจมากกว่า คำถามที่ผมอยากตอบมีสองอย่างที่สัมพันธ์กันคือ 1/ ทำไมอคตินี้จึงต้องมุ่งไปยังมุสลิม 2/ ทำไมจึงภาคเหนือ เราสามารถค้นหาสมุฏฐานของอคติทางศาสนาได้หลายอย่าง เช่นมีเชื้ออยู่ในคำสอนทางศาสนาของสังคมนั้นอยู่แล้ว มีคนยุยงปลุกปั่น มีการสมคบคิดของกลุ่มคนเพื่อจุดมุ่งหมายอื่น หรือข่าวสารข้อมูล คำตอบเหล่านี้อาจถูกก็ได้ แต่ผมเชื่อว่าเมื่อใดก็ตามที่เป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนจำนวนมากในสังคม หรือเมื่อเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม หนึ่งในคำตอบก็ต้องเป็นเงื่อนไขปัจจัยของสังคมนั้นเอง ที่ผลักดันให้คำยุยง, คำสอน, การสมคบคิด ฯลฯ มีความหมายพอที่จะทำให้คนจำนวนมากลุกขึ้นมาทำอะไรต่อมิอะไรได้ ผมสนใจอยากรู้คำตอบในแนวนี้

เพื่อจะตอบปัญหานี้ได้ คงต้องศึกษาค้นคว้าอีกมาก ซึ่งเกินความสามารถของผม ฉะนั้นจึงขอตอบตามความนึกคิด

1. ผมไม่ทราบชัดว่ามุสลิมเป็นสัดส่วนเท่าไรในหมู่ประชากรของภาคเหนือตอนบน แต่เข้าใจว่าน้อยกว่าทุกภาค และส่วนใหญ่คือประชากรอพยพจากยูนนาน นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า มุสลิมในภาคกลางและภาคใต้แทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำในสังคมไทย แต่ไม่ใช่มุสลิมในภาคเหนือตอนบน ไม่ว่าในวงการธุรกิจ, องค์กรเกียรติยศตามประเพณี, ผู้นำด้านวัฒนธรรม, ด้านวิชาการ, หรือในองค์กรวิชาชีพ แทบจะหาชนชั้นนำที่เป็นมุสลิมในภาคเหนือตอนบนไม่ได้เลย

มุสลิมในภาคเหนือตอนบนจึงถูกมองให้เป็น “อื่น” ได้ง่าย

เมื่อเปรียบเทียบกับคริสต์ศาสนิกชนนิกายโปรเตสแตนต์ในภาคเหนือตอนบน จะมองเห็นประเด็นนี้ได้ชัด นอกจากกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ภาคเหนือเป็นพื้นที่ทำงานของมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ที่เก่าที่สุด ไม่ว่าคริสต์ศาสนิกรุ่นแรกๆ จะเป็นใครมาจากไหน แต่เขาคือคนมีการศึกษาแผนใหม่กลุ่มแรกๆ ของภาคเหนือตอนบน เป็นผู้ประกอบ “วิชาชีพ” กลุ่มแรกๆ เช่นกัน และเป็นผู้บริหารธุรกิจสมัยใหม่กลุ่มแรกๆ พร้อมๆ กับตระกูลจีนในท้องถิ่น หรือหลังลงมาก็ไม่นานนัก

ชาวพุทธไทยในปัจจุบันไม่รู้สึกว่าพุทธศาสนากำลังถูกคุกคามจากคริสต์ศาสนา ทั้งๆ ที่คริสต์ศาสนามีองค์กรเผยแพร่ศาสนาที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดยิ่งกว่าศาสนาอิสลามในประเทศไทยเสียอีก

2. ผมคิดว่าพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยกำลังอ่อนแอลง ส่วนหนึ่งก็เพราะรัฐซึ่งเป็นผู้อุ้มชูปกป้ององค์กรพุทธศาสนาอ่อนแอลงด้วย อีกส่วนหนึ่งก็เพราะองค์กรพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ไม่อาจทำให้คำสอนสอดคล้องกับชีวิตในโลกสมัยใหม่ของผู้คนได้

ผมคิดว่าคนในภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนก่อนใคร คือต้องเข้าไปผลิตในเศรษฐกิจตลาดอย่างเข้มข้นขึ้นมานานแล้ว ปรับเปลี่ยนคำสอนทางศาสนาด้วยการทำให้ “ศาสนา” ตอบสนองต่อผลสำเร็จทางโลกได้ชัดเจนขึ้น เช่น เครื่องรางของขลัง, พิธีกรรมนานาชนิด, ตลอดจนการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอื่นๆ ให้กลายเป็นเทพของพุทธศาสนา (พระคเณศ, เจ้าแม่กวนอิม, เสด็จพ่อ ร.5,จตุคามรามเทพ, ฯลฯ)

ภาคอีสานก็ได้เปลี่ยนมาสู่วิถีชีวิตสมัยใหม่ที่ชีวิตถูกดึงให้ไปอยู่ในตลาดเหมือนกัน แต่ภาคอีสานนั้นกว้างใหญ่ไพศาลและมีผู้คนอยู่มาก การปรับเปลี่ยนเป็นไปอย่างสมดุลพอสมควร เช่นในขณะที่อีสานเป็นแหล่งของ “พระป่า” ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์กรศาสนาแล้ว แต่อีสานก็ยังมีความเชื่อเรื่องผีแม่ม่าย ลึกไปกว่านั้นอิทธิพลของฮีตคองก็ยังมีบทบาทในชีวิตของผู้คน แม้จะถูกปรับเปลี่ยนไป เช่น ยิงบั้งไฟเพื่อพนันกันในกลุ่มคนหนึ่ง เพื่อได้มีบทบาทในสังคมเมืองซึ่งตัวไม่เคยมีพื้นที่เหมือนคนอื่นแก่คนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นต้น แต่เขาก็ยังยิงบั้งไฟกันอยู่ ในขณะที่เลิกยิงในภาคเหนือตอนบนไปแล้ว

ภาคเหนือตอนบนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน และอาจเร็วกว่าอีสานด้วย ดูเหมือนภาคเหนือตอนบนจะเผชิญปัญหาไม่มีพระภิกษุประจำวัดก่อนภาคอื่น เพราะผู้คนไม่นิยมบวชเรียนนานเกินพรรษา ในช่วงหนึ่งต้องรับพระจากภาคอีสานมาประจำวัด

ในภาคเหนือตอนบน วัดกับชุมชนสัมพันธ์กันผ่านตุ๊เจ้า เมื่อไม่มีตุ๊เจ้าที่ชาวบ้านคุ้นเคยให้ความนับถือ “ศาสนา” แบบเก่าของคนเมืองจึงหายไป เช่นชุมชนที่เป็น “ศรัทธา” ของวัดต่างๆ หมดบทบาทลง เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ผมจำได้ว่าในงานพิธีต่างๆ ชุมชนเหล่านี้ยังมีบทบาทมาก นับตั้งแต่มีช่างฟ้อนในชุมชนไว้แห่พระหรือร่วมในพิธีกรรมต่างๆ แต่ในปัจจุบัน ถ้าไม่ออกไปนอกเมืองจริงๆ แล้วก็แทบไม่ได้เห็นงาน “ปอย” ในชุมชนใดอีก (จัดงานในชุมชนเพื่อรวมรวมเงินและสิ่งของไปถวายวัด)

ในแง่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ศาสนาต้องตอบสนอง ผมเข้าใจว่าภาคเหนือตอนบนมี “เกจิ” น้อยนะครับเมื่อเปรียบเทียบกับภาคกลางและภาคใต้ พระภิกษุที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางคือครูบาศรีวิชัยและสานุศิษย์ของท่าน ไม่ใช่ “เกจิ” ที่มีเครื่องรางของขลังระดับชาติ “พระป่า” สายอาจารย์มั่นในภาคเหนือก็มรณภาพไปหมดแล้ว วัดที่ท่านเคยประจำอยู่ก็แทบจะร้างไป

ผมจึงอยากสรุปอย่างง่ายๆ ว่า ในท่ามกลางความอ่อนแอของพุทธศาสนาที่เป็นทางการ พุทธศาสนากระแสนี้ในภาคเหนือตอนบนอ่อนแอที่สุด จนชาวพุทธในภาคเหนืออาจรู้สึกถึงความอ่อนแอนี้ได้ชัดเจนกว่าชาวพุทธในภาคอื่นๆ จึงเป็นธรรมดาที่ชาวพุทธในภาคเหนือตอนบนจะหวั่นไหวว่าถูกคุกคามจากความเป็น “อื่น” ได้ง่ายกว่า และดังที่กล่าวแล้วว่า อิสลามถูกทำให้เป็น “อื่น” ได้ง่ายกว่าในภาคเหนือตอนบน อะไรที่เกี่ยวกับอิสลามจึงถูกใช้เพื่อต่อต้าน เป็นการปลอบใจกันและกันว่าเรายังเข้มแข็งอยู่

ผมคิดว่าการตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาอื่นในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าพุทธต่อต้านมุสลิม หรือมุสลิมต่อต้านพุทธ มักเกิดขึ้นจากความอ่อนแอทางศาสนาของสังคมนั้นๆ เอง ทั้งนี้รวมถึงศาสนาใหม่ๆ ทั้งหลาย เช่น รัฐฆราวาสวิสัย, ประชาธิปไตย, การแข่งขันเสรีในระบบทุนนิยม ฯลฯ ด้วย จะต่อต้านศาสนาอื่น ก็เพราะสงสัยในศาสนาของตนเอง หรือมองไม่เห็นคุณค่าของศาสนาตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image