สุจิตต์ วงษ์เทศ : พลังความคิดอย่างสร้างสรรค์สุดๆ ของนักศึกษา ม. ราชภัฏจันทรเกษม

สูจิบัตร มีข้อความพาดปกว่า “สร้างสื่อให้ร่วมสมัย กับรอขึ้นหิ้งวัฒนธรรมไทย” ของนักศึกษานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เมื่อวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2559

คนรุ่นเก่าที่ต้องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยแบบดั้งเดิม แล้วใส่ร้ายต่างๆ นานาต่อคนรุ่นใหม่ที่ไม่ทำตาม ควรได้รับการพัฒนาและปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อแก้ไขไม่ให้ศิลปวัฒนธรรมไทยถูกแช่แข็ง

โดยมุ่งสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักเข้าถึงง่าย และสอดคล้องกับยุคสมัยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ที่ยกมานี้เป็นสาระสำคัญในวัตถุประสงค์การสัมมนาสร้างสื่อสยามของนักศึกษากลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

[“สร้างสื่อสยาม” เป็นหัวข้อชื่อสัมมนาของนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จัดในห้องประชุม ชั้น 8 ตึก 15 อาคารจันทรา-กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ตอนบ่ายวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา]

Advertisement
ในห้องประชุมสัมมนาของนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เมื่อบ่ายวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2559
ในห้องประชุมสัมมนาของนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เมื่อบ่ายวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2559

ผมจะขอคัดวัตถุประสงค์ที่มีในเอกสารทำโดยนักศึกษากลุ่มนี้ มาดังนี้

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาไม่ให้ศิลปวัฒนธรรมไทยถูกแช่แข็ง
  2. เพื่อศึกษาทัศนคติของคนรุ่นเก่า ที่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่
  3. เพื่อพัฒนาและปรับเปลี่ยนความคิดของคนรุ่นเก่า ที่ต้องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยแบบดั้งเดิม
  4. เพื่อเป็นการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสัมพันธ์และความเข้าใจกัน ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย ของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่
  5. เพื่อสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ให้เป็นที่รู้จักเข้าถึงได้ง่าย สอดคล้องกับยุคสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

คิดอย่างสร้างสรรค์สุดๆ

Advertisement

ผมอ่านวัตถุประสงค์ทั้ง 5 ข้ออย่างอิ่มอร่อย ที่นักศึกษามีพลังความคิดอย่างสร้างสรรค์สุดๆ

เพราะพวกเขาทั้งหลายไม่ได้ “หักหานรานนักเลง” แต่ “อ่อนน้อมถ่อมตัว” โดยศึกษาความรู้ความคิดของคนรุ่นเก่าเสียก่อน จากนั้นจึงเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่ของคนรุ่นเขา เพื่อพัฒนาสู่ความคิดสร้างสรรค์ อย่าง “บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น” แต่อร่อย

นี่เป็นกิจกรรม “งามละม่อมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์” อย่างน้อยก็เรียบเรียงวัตุประสงค์ได้งามจับใจ จึงขอสรรเสริญให้ปรากฏกว้างขวางเท่าที่มีแรงทำได้

อนุรักษ์ไว้เป็นพลังสร้างสรรค์

ศิลปวัฒนธรรมของไทย เช่น โขนละคร และดนตรีไทย ฯลฯ ผู้เกี่ยวข้องอย่าฝืนความจริงที่เห็นชัด แล้วยอมรับความจริงว่าเป็นสิ่งพ้นสมัย

แต่ต้องดูแลอนุรักษ์แล้วสืบทอดไว้อย่างสำคัญ เพื่อเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์สังคม และเป็นพลังกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในอนาคต

ประชาชนคนไทยทั้งหลายตระหนักอย่างยิ่งในสิ่งนี้มานานแล้ว จึงพร้อมใจเสียภาษีอากรให้รัฐไทยใช้จ่ายในการทำหน้าที่ทำนุบำรุงดูแลอนุรักษ์ ผ่านกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร กับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

วิธีดูแลอนุรักษ์เท่าที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1.) แสดงในโรงละครแห่งชาติ, ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ, และที่อื่นๆ (2.) เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (3.) บันทึกไว้ในหอสมุดแห่งชาติ

นอกจากนั้นยังมีวิธีอื่นๆ อีกที่หลากหลายด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้า ผมรวบรวมได้ไม่หมด

[ศิลปวัฒนธรรมที่ยังไม่พ้นสมัย แล้วตอบสนองความต้องการของคนร่วมสมัยได้อย่างดีเยี่ยม ก็มีไม่น้อย เช่น อาหารไทย, หมอลำซิ่ง ฯลฯ}

การดูแลอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยพ้นสมัย เช่น โขน, ละคร, ดนตรีไทย เพื่อเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์สังคม และเป็นพลังกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในอนาคต

ไม่ใช่เพื่อควบคุมสังคมให้มีชีวิตย้อนยุคเหมือนสิ่งที่อนุรักษ์ไว้ ตามที่คนรุ่นเก่าต้องการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image