สะพานแห่งกาลเวลา : มหัศจรรย์ของท่านผู้หญิงไต

หูหนาน มณฑลภาคกลางตอนใต้ของจีน ไม่ได้โด่งดังเพียงแค่เป็นบ้านเกิดของ “บิดา” แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่าง “เหมา เจ๋อตง” เท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งรายได้สำคัญลำดับต้นๆ ของจีน

แถมยังมี “สิ่งมหัศจรรย์” ที่โลกต้องทึ่งปรากฏอยู่อีกด้วย

สิ่งมหัศจรรย์ที่ว่านั้นก็คือ “มัมมี่” อายุกว่า 2,100 ปี ที่มีสภาพใกล้เคียงกับเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่มากกว่ามัมมี่ที่ไหนในโลก จนบางครั้งในจีนถึงกับเรียกขานเธอว่า “เจ้าหญิงนิทรา” กันเลยทีเดียว

มัมมี่ที่ว่าก็คือ มัมมี่ของ “ท่านหญิงไต” ภริยาของอัครเสนาบดีแห่งไต “ลี่ชัง” ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งเริ่มต้นเมื่อราว 200 ปีเศษก่อนคริสต์ศักราช

Advertisement

สุสานของท่านผู้หญิงแห่งไตที่มีชื่อจริงๆ ว่า “ซินจุย”นี้ค้นพบโดยบังเอิญในทศวรรษ 1960 โดยคนงานก่อสร้างที่เตรียมการก่อสร้างบริเวณ “หม่าหวังตุย” (เนินอ๋องหม่า) นอกเมืองฉางชา ซึ่งเป็นเมืองเอก หรือเมืองหลวงของมณฑลหูหนาน

นักโบราณคดีจีนเริ่มต้นการขุดค้นแหล่งโบราณคดีนี้เมื่อต้นทศวรรษ 1970 โดยว่ากันว่า อาณาบริเวณทั้งหมดเป็นสุสาน 3 หลัง ทั้งลึกทั้งกว้าง จนต้องระดมนักเรียนหลายร้อยคนมาช่วยเหลือในการขุดค้น

สุสานสองหลังแรกเป็นของ ลี่ชัง กับของ ซินจุย หลังที่สามเป็นสุสานของชายหนุ่มซึ่งสันนิษฐานกันว่าคือลูกชายของคนทั้งสองนั่นเอง

Advertisement

ที่น่าแปลกคือ ศพของลี่ชังกับลูกชายสูญสลายไปกับกาลเวลา คงหลงเหลือแต่ศพของ “ท่านผู้หญิงแห่งไต” ซินจุย เท่านั้น

แถมยังอยู่ในสภาพที่น่าอัศจรรย์อีกด้วย

ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ เนื้อหนังมังสาของเธอแม้จะเหี่ยวย่นแต่ส่วนใหญ่ยังคงความอ่อนนุ่ม ข้อต่อยังคงยืดหยุ่นพับงอ ยืดตรงได้ สภาพใกล้เคียงกับคนที่เพิ่งตายมากกว่าที่จะเป็นมัมมี่จากโบราณกาล

ชนิดที่ในหลอดเลือดของเธอยังคงพบก้อนเลือดที่จับตัวเป็นลิ่มแข็ง อุดตันเส้นเลือดอยู่อีกด้วย จนนักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ของจีนสามารถนำมาตรวจสอบ ระบุได้เลยว่า เธอมีเลือดกรุ๊ปเอ

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

การวิจัยทางโบราณคดีของจีนเมื่อปี 2009 ให้คำตอบที่ “อาจเป็นไปได้” ไว้ว่า ประการแรก มาจากความลึกของสุสานฝังศพแม่นางซินจุย ที่ถูกฝังอยู่ใต้ดินลึกถึง 20 เมตร ปิดผนึกแน่นหนา อากาศภายนอกไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปได้

ประการถัดมา ศพของนางถูกพบอยู่ในชั้นในสุดของโลงไม้หนาหนักหลายชั้น

โลงไม้ดังกล่าวเคลือบด้วยแลคเกอร์อย่างดี มีรวมทั้งหมด 4 ชั้น แต่ละชั้นยังฉาบหุ้มด้วยดินเหนียวสีขาวที่บางคนเข้าใจว่าเป็นสีที่ทาทับอีกต่อหนึ่ง

ในโลงชั้นในสุดที่บรรจุศพของแม่นางซินจุย ร่างของนางถูกห่อหุ้มด้วยเครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าลินินและไหม รวมแล้วมากถึง 18 ชั้นด้วยกัน

ประการสุดท้าย ร่างดังกล่าวแช่อยู่ในของเหลวประหลาด ขาว ใส ที่กลายเป็นสีเหลืองอมน้ำตาลเมื่อสัมผัสกับอากาศภายนอก

บางคนเชื่อว่านั่นเป็นของเหลวที่ซึมออกมาจากร่างของซินจุยเอง แต่นักวิชาการเชื่อว่าน่าจะเป็นน้ำยาสมุนไพรของจีนบางอย่างซึ่งอาจช่วยรักษาสภาพศพให้คงทนอยู่ได้

ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้อาจประกอบกันเข้าช่วยรักษาศพของท่านผู้หญิงแห่งไต ให้คงอยู่ในสภาพที่น่าอัศจรรย์ใจมาจนถึงทุกวันนี้

นักวิทยาศาสตร์จีนเคยนำศพของซินจุยขึ้นมาชันสูตรอย่างละเอียด ผ่าแล้วนำอวัยวะภายในออกมาตรวจสอบ ได้ความว่า ด้วยความที่เป็น “ท่านหญิง” ของตระกูลทำให้ซินจุยใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย มีข้ารับใช้ล้อมหน้าล้อมหลัง

ผลก็คือสุขภาพของเธอเมื่อมีชีวิตไม่ค่อยดีนัก อ้วนและป่วยด้วยโรคหลายโรค รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดกับเบาหวาน อันเป็นที่มาทำให้เธอหัวใจวายเสียชีวิตขณะที่อายุเพียง 50 ปี

ทีมวิจัยยังพบเม็ดกวยจี๊ในกระเพาะอาหารกว่า 100 เม็ด ซึ่งเชื่อว่าเป็นอาหารมื้อสุดท้ายในชีวิตของนาง

ปัจจุบันศพที่ไม่เน่าเปื่่อยของแม่นางซินจุยถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งมณฑลหูหนาน คู่กับแจกันแก้วบรรจุอวัยวะภายใน จัดแสดงไว้คู่กัน

ชาวจีนไม่น้อยยังคงเดินทางมาเยี่ยมชม เพราะเชื่อว่าร่างของซินจุยมี “เคล็ดลับ” ที่นำไปสู่ความเป็น “อมตะ” ซุกซ่อนอยู่นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image