อารมณ์ การเมือง โรดแมป ‘การเลือกตั้ง’ กระแส ‘สังคม’

ทั้งๆ ที่คำว่า “โรดแมป” เสมอเป็นเพียงคำพูด 1 ซึ่งปรากฏขึ้นพร้อมกับการนำเสนอ “ปฏิญญาโตเกียว” และ “ปฏิญญานิวยอร์ก”

แต่ยิ่งวัน “พลานุภาพ” แห่งคำคำนี้ยิ่ง “น่ากลัว”

เหมือนกับที่ นายวิษณุ เครืองาม ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ระหว่างการบรรยายพิเศษในวาระอันหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เฉลิมฉลองอายุครบรอบวันเกิด

เป็นข้อสังเกตอันสะท้อนอิทธิพลแห่ง “ตัวแปร”

Advertisement

และไม่ว่า “ตัวแปร” จะเกิดจากสถานการณ์ใด แต่ผลสะเทือนจะส่งแรงกระทบโดยตรงไปยัง “โรดแมป” อย่างมิอาจปฏิเสธได้

กำหนด “เลือกตั้ง” ประมาณปลายปี 2560 อาจไม่เป็นไปตามนั้น

นายวิษณุ เครืองาม อ้างมูลฐานมาจากกฎกติกาอันบัญญัติไว้ใน “ร่างรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะในเนื้อหาเกี่ยวกับกรรมวิธีการเลือกตั้ง

Advertisement

อาจทำให้ “โรดแมป” เคลื่อนเหมือนการเลือกตั้ง “สหรัฐ”

นั่นก็คือ สหรัฐเลือกตั้ง “ประธานาธิบดี” ในเดือนพฤศจิกายน 2559 จริง แต่กว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการก็ต้องเดือนมกราคม 2560

“สหรัฐ” เคลื่อนอย่างนั้น “ไทย” ก็อาจจะเคลื่อนอย่างนั้น

 

ประเด็นเกี่ยวกับ “โรดแมป” และ “การเลือกตั้ง” ของไทย อาจแตกต่างจากกรณีของสหรัฐบ้างในรายละเอียด

หากจับจาก “อาการ” ของ “คสช.”

คำว่า “เลื่อน” ที่เกิดเป็นข้อถกเถียง และนำไปสู่การตั้งคำถามถี่ยิบมากขึ้นเป็นลำดับ ส่อแนวโน้มและความเป็นไปได้ 2 นัย

มิได้หมายถึง เลื่อน “ออกไป” อย่างเดียว

หากแต่เริ่มมีเบาะแส และเริ่มกระสา “กลิ่น” ใหม่ สถานการณ์ใหม่ขึ้นมาเป็นลำดับว่าอาจหมายถึงการเลื่อน “เข้ามา”

นั่นก็คือ มิได้เนิ่น “ช้า” หากแต่ “เร็ว” ขึ้น

เมื่อกลไกเริ่มเข้าสู่ “ระบบ” ในระยะเปลี่ยนผ่านจากเดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน เริ่มเด่นชัดว่าในเดือนธันวาคมอาจเป็นจุดเริ่มต้น

หากมีการประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ” ในเดือนธันวาคมนี้

ปัจจัยนี้จะทำให้กระบวนการต่างๆ ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า “กฎหมายลูก” มีอัตราเร่งขึ้น

นั่นเท่ากับ “การเลือกตั้ง” ก็จะเร็วกว่าที่คาดหมายเอาไว้

 

สัญญาณ 1 ซึ่งสัมผัสได้ในทางเป็นจริงคือ 1 อาการเร่งเร้าจากนักการเมือง จากพรรคการเมือง เรียกร้องในเรื่องการปลดล็อก คำสั่ง คสช.

นั่นก็คือ ให้พรรคการเมืองขับเคลื่อนได้ตามปกติ

ขณะเดียวกัน 1 คือคำถามว่าด้วย “โรดแมป” อันประสานเข้ากับ “การเลือกตั้ง” ที่เสนอต่อคนสำคัญของ คสช.หนักหน่วงและคาดคั้น

ไม่ว่าจะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เพราะนักการเมืองย่อมสัมพันธ์กับประชาชน เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการของ “การเลือกตั้ง”

จึงย่อมสะท้อน “อุณหภูมิ” ในทาง “สังคม”

เช่นเดียวกับ “สื่อ” ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระจก ย่อมแนบแน่นอยู่กับอารมณ์และความรู้สึกในทางการเมือง

สอดรับกับคำว่า “แมส มีเดีย” หรือ “สื่อมวลชน”

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “อารมณ์” เป็น “กระแส” อันละเอียดอ่อนของสังคม “ประชาธิปไตย”

 

ลักษณะหงุดหงิดเมื่อประสบเข้ากับคำถามว่าด้วย “โรดแมป” และ “การเลือกตั้ง” จึงเข้าใจได้

เข้าใจได้ใน “ความพร้อม” เข้าใจได้ใน “ความสุกงอม” ที่จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่ขาดหายไปเป็นเวลาเกือบ 3 ปีหรือไม่

ทั้งหมดนี้คือ “อุณหภูมิ” สะท้อนวิถีดำเนินทาง “การเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image