นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ : ฝันไกล ที่ยังไปไม่ถึง

เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (the Fourth Industrial Revolution) ตามที่ศาสตราจารย์เคลาส์ ชวาบ (Klaus schwab) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้ก่อตั้งและประธานของ เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum ) เขียนบรรยายไว้ในหนังสือชื่อเดียวกันซึ่งพิมพ์เผยแพร่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

กล่าวโดยย่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเชื่อกันว่าจะมาเต็มรูปแบบภายในไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า คือการเปลี่ยนแปลงการผลิตและระบบการผลิตโดยพัฒนาเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 อาทิ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ
ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงความสามารถในการตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล

เทคโนโลยีใหม่นี้จะเข้ามาแทนที่หลายตำแหน่งงานในโลกปัจจุบัน และหลายธุรกิจก็จะต้องม้วนเสื่อกลับบ้านหากไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบของตัวเองเสียใหม่เพื่อความอยู่รอด

ตัวอย่างธุรกิจเก่าในช่วงขาลงซึ่งยังคงสร้างความรู้สึก “ช็อก” ให้คนไทยจำนวนไม่น้อย คือธุรกิจหนังสือพิมพ์กระดาษและนิตยสารกระดาษแบบเดิมๆ

Advertisement

เช่นเดียวกับธุรกิจธนาคาร ที่แม้ไม่ขาลง แต่ไม่ช้าก็จะต้องทยอยปิดสาขา เพราะเมื่อผู้คนหันไปใช้บริการธนาคารออนไลน์ (แม้ขณะนี้คนไทยหลายคนจะยังกลัวว่าออนไลน์ไม่ปลอดภัยจนไม่อยากยุ่งเกี่ยวหรือศึกษาการทำงานของระบบออนไลน์) ก็ไม่ต้องเดินทางไปสำนักงานสาขาเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตนเองที่สำนักงานสาขา

น่าคิดว่าประเทศไทยในยุครัฐบาลทหารคสช. ซึ่งวางแผนยุทธศาสตร์ชาติยาวไปถึง 20 ปีนี้ เตรียมรับมือยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เริ่มต้นแล้วอย่างไร?

เรามีคำพูดใหญ่โตอย่างคำว่า“เศรษฐกิจดิจิตอล” แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ที่ “ผู้หลักผู้ใหญ่”ระดับบริหารประเทศเห็นว่าดีงามแก่ “ความปลอดภัยของชาติ” แต่เนื้อหาจริงๆ คือสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดระแวง ประชาชนไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าเขียน และไม่ทำให้ประชาชนมั่นใจว่าจะปลอดภัยจากอาชญากรรมคอมพิวเตอร์เช่น ถูกล้วงความลับ

Advertisement

เรามีคำพูดแบบเดิมๆ จากนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเยอะ และแก้ยากเพราะคนยังระแวงรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ได้พยายาม “ช่วยเหลือ” เต็มที่แล้ว เช่น ส่งเสริมให้ทำเกษตรแปลงใหญ่

และมีงบประมาณลงไปในส่วนท้องถิ่น อำเภอ ตำบล จังหวัดให้เขานำงบไปจัดสรรตามความต้องการเอง ฯลฯ

เรามีรองนายกรัฐมนตรีสมคิดคอยขายฝันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะรุ่งเรือง ดีวันดีคืน เพราะคนไทยจะทำธุรกิจสตาร์ทอัพกันมากขึ้น

แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้ช่วยให้ประเทศไทยยืนได้อย่างแข็งแรงในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

สำหรับโลกยุคใหม่ที่การผลิตและระบบการผลิตเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ทางอยู่รอดไม่ใช่คำพูดลอยๆ ประเภท สนับสนุนให้ชาวไร่ชาวนาทำ “เกษตรแปลงใหญ่”

ไม่ใช่การส่งงบประมาณลงไปให้ “เขาจัดสรรตามความต้องการเอง” ไม่ใช่คำพูดลอยๆ ประเภท“สตาร์ทอัพกำลังโต”

แทนที่จะมอง“เกษตรแปลงใหญ่” เราอาจต้องมองการเกษตร “เฉพาะ“ ที่ให้มูลค่าตอบแทนสูง

แทนที่จะมองการส่งงบประมาณลงไปให้ชาวบ้านแบบไม่มีเป้าหมาย เราอาจต้องมองเรื่องการสนับสนุนเชิงธุรกิจ

เช่นเดียวกัน การสนับสนุนสตาร์ทอัพ ไม่ใช่การสนับสนุนความฝัน แต่เป็นการสนับสนุนความรู้พื้นฐานเรื่องธุรกิจให้คนทำสตาร์ทอัพ และสนับสนุนให้คนทำธุรกิจเรียนรู้ที่จะมอง “ตลาดโลก” ไม่ใช่เพียงตลาดในประเทศ

เทคโนโลยีใหม่ของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 สามารถทำให้ทุกตลาดในโลกกลายเป็นตลาดโลก

ถ้าคิดอย่างโจเซฟ สติกลิสต์ (Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลเพื่อระลึกถึงอัลเฟรด โนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2001
นี่ไม่ใช่เวลาพูดถึงความจนความรวยแบบเดิมๆ แต่เป็นเวลาที่ผู้บริหารประเทศและผู้คนทั่วไปของโลกยุคใหม่จะต้องช่วยกันทำให้ผู้ที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น

นั่นหมายถึงสังคมจำเป็นต้องมีผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการช่วยจัดการให้คนกับเทคโนโลยีใหม่ทำงานร่วมกันแล้วสร้างผลผลิตและบริการใหม่ๆ ที่ “ไม่เหมือนเดิม”และ “โดนใจผู้บริโภค”

ส่วนสังคมไทยซึ่งผู้คนยังคงถูกบังคับให้อยู่กับ “ความกลัว” แบบเก่า ไม่มีสิทธิเสรีภาพในการคิด พูด เขียนและแสดงออกต่างๆ (เพื่อความมั่นคงของชาติใคร?) จนสมรรถนะสมองของคนจำนวนไม่น้อยตกต่ำ (เพราะทำงานน้อย)

คงต้องฝันอีกสักครู่ ซึ่งไม่แน่ว่าจะเป็นฝันไกล ยังไปไม่ถึง (แต่สักวันคงถึง)หรือฝันไกล ไปไม่ถึง จึงต้องกลับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image