สะพานแห่งกาลเวลา : เหตุแห่งการตายที่ตุรกี

(ภาพ-Copernicus/NERC/COMET)

สะพานแห่งกาลเวลา : เหตุแห่งการตายที่ตุรกี 

แผ่นดินไหว 2 ครั้งซ้อนที่ชายแดนตุรกีต่อเนื่องกับซีเรีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายเหลือเกิน ตอนที่ผมลงมือเขียนข้อเขียนประจำสัปดาห์นี้ ยอดผู้เสียชีวิตรวมทั้งสองประเทศปาเข้าไป 44,000 คนแล้ว เชื่อว่าอีกไม่ช้าไม่นานก็คงทะลุเกินครึ่งแสน

เฉพาะในตุรกี วิบัติภัยธรรมชาติครั้งนี้คร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 38,000 คน

มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วทำให้เกิดโศกนาฏกรรม มีคนตายกันมากมายถึงขนาดนั้น

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา แถลงว่า จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวทั้งสองครั้งตามแนวรอยเลื่อนในบริเวณนั้นอยู่ใต้ดินลึกลงไปเพียง 18 กิโลเมตรเท่านั้นเอง

Advertisement

นั่นหมายความว่า อานุภาพของแผ่นดินไหวจะถึงพื้นผิวโดยเร็วและรุนแรงเป็นพิเศษ

เอริค ฟีลดิง นักธรณีฟิสิกส์ของนาซา ระบุว่า ยิ่งเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มีความรุนแรงมาก อย่างเช่นระดับ 7.8 กับ 7.5 แมกนิจูดเช่นนี้ อานุภาพทำลายล้างต่อสรรพสิ่งเหนือผิวดินก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย

ถ้อยแถลงของนาซาสอดคล้องกับผลการศึกษาของนักวิชาการจากศูนย์เพื่อสังเกตการณ์และจำลองแบบแผ่นดินไหว, ภูเขาไฟและแผ่นเปลือกโลกหรือเรียกสั้นๆ ว่า โคเมท (U.K. Centre for the Observation & Modelling of Earthquakes, Volcanoes & Tectonics – COMET) ของสหราชอาณาจักร ที่อาศัยการเปรียบเทียบภาพถ่ายผ่านดาวเทียมภูมิประเทศในบริเวณที่เกิดเหตุก่อนหน้าและหลังการเกิดเหตุ พบว่าพื้นผิวของเปลือกโลกบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไปชัดเจนมาก

Advertisement

ทีมวิจัยของโคเมทพบรอยปริแยกที่บริเวณผิวดินขนาดใหญ่ถึง 2 รอยด้วยกัน รอยแรกเกิดขึ้นในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผิวดินปริแยกออกจากกันต่อเนื่องเป็นแนวยาวถึง 300 กิโลเมตร เริ่มต้นบริเวณปลายสุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เชื่อว่าเป็นฝีมือของแผ่นดินไหวครั้งแรก 7.8 แมกนิจูด

รอยแยกรอยที่สองสั้นกว่า แต่ก็ยังแยกออกจากกันต่อเนื่องถึง 125 กิโลเมตร เชื่อว่าเกิดจากแผ่นดินไหว 7.5 แมกนิจูด ที่เป็นการไหวครั้งที่สอง

ศาสตราจารย์ ทิม ไรท์ หัวหน้าทีมวิจัยของโคเมท บอกว่า รอยแยกของผิวดินพบได้บ่อยครั้งหลังเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และรุนแรง แต่คราวนี้ที่พิเศษกว่าและหาได้ไม่ง่ายนักก็คือ มันปริแยกออกจากกันเป็นแนวยาวมาก เป็นหนึ่งในรอยปริแยกจากแผ่นดินไหวที่ยาวที่สุดในภาคพื้นยุโรปเลยทีเดียว

อาการปริแยกของผิวพื้นเช่นนี้อันตรายอย่างยิ่ง หากผ่านเข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชน

ศาสตราจารย์ไรท์ยังชี้ด้วยว่า ที่หาได้ยากอีกเช่นกันคือการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 2 ครั้งต่อเนื่องกัน ห่างจากกันเพียง 9 ชั่วโมงโดยประมาณ ถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกตินัก

แต่ก็ส่งผลให้อันตรายเกิดเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

เราสามารถจินตนาการได้ว่าแผ่นดินไหวครั้งแรกทำให้อาคารบ้านเรือนทรุด หรือซวนเซได้ แต่พอไหวซ้ำอีกครั้งก็พังถล่มลงมาทั้งหลัง ฝังคนเป็นๆ นับร้อยนับพันไว้ภายใน

ทีมวิจัยของโคเมทยังพบด้วยว่า อานุภาพของแผ่นดินไหวทั้งสองครั้ง นอกจากทำให้ผิวพื้นปริแยกแล้วยังเคลื่อนไปจากกันอีกด้วย

แผ่นเปลือกโลกนั้นเคลื่อนไหว (ในทางธรณีวิทยาเรียกว่าการแปรสัณฐาน) อยู่ตลอดเวลาก็จริงครับ แต่ช้ามาก อยู่ระหว่าง 0.66 เซนติเมตรจนถึง ที่เร็วที่สุดแค่ 8.50 เซนติเมตรในระยะเวลา 1 ปี

แต่แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้แผ่นเปลือกโลกปริแยกแล้วไถลไปจากจุดเดิมในทันทีถึง 5 เมตร ทำให้เราจินตนาการได้ดีว่าแรงที่มากระทำจนทำให้แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ไปมากเช่นนั้นได้มหาศาลขนาดไหน

แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่า เหตุปัจจัยสำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะในตุรกีนั้น เกิดจากฝีมือมนุษย์ด้วยกันเองนี่แหละ

ตุรกีเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง เพราะตั้งอยู่บนรอยเลื่อนมากมายที่เกิดจากการบรรจบกันของแผ่นเปลือกโลก 3 แผ่น เขาถึงได้มีกฎหมายควบคุมการก่อสร้างให้สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ ไม่ทลายราบเหมือนก้อนเต้าหู้ถูกเหยียบอย่างที่เห็นกัน

ตามกฎหมายอาคารบ้านเรือนที่ปลูกสร้างในบริเวณใกล้กับรอยเลื่อนต้องสร้างให้สามารถทานรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวรุนแรงได้ (คือต้องรับแรงสั่นไหวของแผ่นดินที่เพิ่มขึ้นจากระดับปกติ 30-40 เปอร์เซ็นต์ได้)

แผ่นดินไหว 7.8 และ 7.5 แมกนิจูด เขย่าแผ่นดินให้สั่นไหวเร็วและแรงกว่าปกติได้ระหว่าง 20-50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถ้าสร้างตามข้อกำหนดของกฎหมายอาคารก็ไม่น่าจะพังทลายราบกว่า 3,400 หลังเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในตุรกี

กฎหมายนี้บังคับใช้หลังแผ่นดินไหวใหญ่ในปี 1999 ปรับปรุงแก้ไขล่าสุดเมื่อปี 2019 แต่บรรดานักพัฒนาและผู้รับเหมาก่อสร้าง ปฏิบัติตามน้อยมาก อาศัยการลูบหน้าปะจมูก แล้วก็ยัดเงินสินบนให้เจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่นทั้งหลาย เปิดทางให้ได้ก่อสร้าง

มีตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนที่เมืองออสมานิเย ซึ่งพื้นที่ชุมชนอันตาคียา ทางตอนใต้ของเมืองเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหว อาคารหลายหลังพังทลายราบ ส่วนหนึ่งเป็นอาคารที่สร้างก่อนปี 1999 แต่อาคารสร้างใหม่หลายหลังก็พังราบอย่างน่าพิศวงเช่นเดียวกัน

แต่ในชุมชนแอร์ซิน ซึ่งอยู่ติดกัน ที่เข้มงวดการก่อสร้างตามกฎหมาย ไม่มีอาคารพังทลายราบแม้แต่หลังเดียวครับ

นักสังเกตการณ์บางคนถึงได้บอกว่า เหยื่อคราวนี้ส่วนใหญ่ตายเพราะน้ำมือของคนฉ้อฉลเหล่านี้ต่างหาก ไม่ใช่เพราะแผ่นดินไหว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image