การตราหรือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ในโอกาสสำคัญๆ ของไทยในอดีต : โดย นคร พจนวรพงษ์

กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่ตราออกมาใช้ เนื่องในโอกาสสำคัญๆ ของไทยเราในอดีต ซึ่งมีหลักการและเหตุผลพิเศษ (หมายเหตุ : ท้ายพระราชบัญญัติ) น่าสนใจอันอาจจะนำมาเป็นแนวทางหรือแบบอย่างในการตรากฎหมายนิรโทษกรรมฉบับต่อๆ ไป ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอเป็นกรณีพิเศษรวม 3 ฉบับ เพื่อให้ท่านผู้อ่านช่วยคิดช่วยพิจารณาแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ ความเห็นของท่านอาจจะเป็นแนวทางหรือหลักการที่ถูกต้องเหมาะสม โดยหวังว่าอาจจะมีผลทำให้ท่านผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องรับรู้รับฟังแล้วนำไปดำเนินการ เพื่อยังประโยชน์ของประเทศชาติของเราต่อไป กล่าวคือ

1.ฉบับเนื่องในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ 2,500 ปี

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2500 สมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของไทย (คนที่ 3 สมัยที่ 7) ได้ตราออกมาใช้ “….เนื่องในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ 25 ศตวรรษ ทางราชการจะได้บำเพ็ญกุศลเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสนี้

การให้อภัยทานถือว่าเป็นกุศลอย่างหนึ่งและรัฐบาลเห็นว่าความผิดฐานกบฏจลาจลนั้น เป็นความผิดที่มุ่งร้ายต่อรัฐบาลหรือเกี่ยวกับการปกครองของรัฐบาล จึงน่าจะให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นการระงับเวรด้วยการไม่จองเวร ตามพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อให้ผู้รับนิรโทษกรรมในครั้งนี้ได้ระลึกถึงพระรัตนตรัย และปฏิบัติตนอยู่ในหลักพระธรรม ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ตนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม”

Advertisement

การนิรโทษกรรมครั้งนี้ นอกจากจะให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความรับผิดโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังนิรโทษครอบคลุมไปถึงกล่าวคือ ถ้าผู้ใดประสงค์จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือบรรดาศักดิ์คืนตามที่ได้รับอยู่เดิม ก็ให้ผู้นั้นแจ้งความประสงค์เพื่อดำเนินการขอพระราชทานคืนให้ต่อไป และถ้าเป็นบุคคลที่เคยได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญมาแล้ว ก็ให้มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญตามเดิม (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 11 วันที่ 29 มกราคม 2500)

อานิสงส์หรือคุณประโยชน์ของการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการระงับเวรด้วยการไม่จองเวรต่อกันและสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติแล้ว ยังเป็นการให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นร่วมทำคุณประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป บุคคลดังกล่าวเหล่านั้นถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวในความผิดฐานกบฏ ฐานก่อการจลาจล หรือความผิดตามกฎหมายอื่นทำนองเดียวกัน และถูกขังหรือถูกควบคุมตัวมานานหลายปี ในเหตุการณ์ต่างๆ (ในช่วงที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี) อันได้แก่

(1) กบฏเสนาธิการ (พ.ศ.2491) ทหารอาชีพไม่พอใจทหารการเมือง ทหารอาชีพกลุ่มหนึ่งจึงคิดที่จะทำรัฐประหารยึดอำนาจ ตามแผนการจะลงมือทำการวันที่ 1 ตุลาคม 2491 เวลา 20.00 น. แต่ทำการไม่สำเร็จ

Advertisement

(2) กบฏวังหลวง (พ.ศ.2492) มีคณะผู้สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ให้กลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง โดยเข้าทำการยึดอำนาจตอนเช้าตรู่ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2492 แต่ไม่สำเร็จ

(3) กบฏแมนฮัตตัน (พ.ศ.2494) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงรัตนโกสินทร์ จี้จับตัว จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ขณะรับมอบเรือขุดสันดอนชื่อ “แมนฮัตตัน” แล้วนำตัวไปควบคุมไว้บนเรือรบหลวงศรีอยุธยา และใช้ที่นั่นเป็นกองบัญชาการ แต่ก็ทำการไปไม่ตลอด

(4) กบฏสันติภาพ (พ.ศ.2495) สำหรับกบฏสันติภาพ (เรียกร้องสันติภาพก็เป็นกบฏ) ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ มีการจับกุมผู้แสดงความคิดเห็นด้วยการพูดการเขียนต่างๆ ไว้ประมาณ 100 คน แต่ถูกส่งฟ้องศาล 42 คน ในข้อหากบฏ ศาลตัดสินจำคุก 38 คน เป็นเวลาคนละ 13 ปี 6 เดือน เมื่อถูกจำคุกอยู่นาน 4 ปีเศษก็ได้รับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ นักเขียนนักพูดหรือ “สันติชน” ที่ถูกปล่อยตัวในครั้งนั้นผู้เขียนขออนุญาตยกมากล่าวถึง 2 ท่านคือ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” และ นายเปลื้อง วรรณศรี บก.นิตยสาร “ปิตุภูมิ” ผู้ยึดมั่นเรียกร้องสันติภาพมากกว่าการทำศึกสงคราม (ข้อมูลจากหนังสือ คู่มือรัฐประหาร ของโรม บุนนาค)

การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดอันมีมูลเหตุทางการเมืองหรือเหตุดังกล่าวข้างต้นน่าจะเป็นเรื่องดี เพื่อสร้างความสามัคคีให้คนในชาติ เพื่อให้ประเทศชาติก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงต่อไป

2.ฉบับเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 50 พรรษา นับเป็นอภิลักขิตสมัยที่สำคัญ และเพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณ คือ

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2520 สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีของไทย (คนที่ 15) ได้ตราออกมาใช้ “….เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 50 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2520 ซึ่งนับเป็นอภิลักขิต
สมัยที่สำคัญและประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายและเจตจำนงที่จะผนึกกำลังสร้างสรรค์ความสามัคคีของชนในชาติ สมควรนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิด….
เพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณและให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป” (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 121 ฉบับพิเศษ 3 ธันวาคม 2520)

เกี่ยวกับผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ (เหตุเกิดเมื่อ 25-26 มีนาคม 2520 หัวหน้าคณะผู้ก่อการ ถูกคำสั่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นให้ประหารชีวิตและถูกถอดยศ มีการประหารชีวิตทันทีในวันที่ออกคำสั่ง) และให้จำคุกตลอดชีวิตนายทหารยศ พ.ท. และ พ.ต. รวม 4 คน และภายหลังยังมีบุคคลอื่นอีก 8 คน ถูกคำสั่งให้ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต และอีก 11 คน ให้ได้รับโทษจำคุกลดหลั่นลงไป

แต่ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2520 ทุกคนก็ได้รับการนิรโทษกรรมถูกปล่อยตัว อันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติตามหลักการและเหตุผลของการนิรโทษกรรมดังกล่าวข้างต้น

3.ฉบับเนื่องในโอกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2531 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีของไทย (คนที่ 17) ได้ตราออกมาใช้ “….เนื่องในโอกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกสมโภชสิริราชสมบัติในมหามงคลสมัยที่ทรงปกครองแผ่นดินยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ในวันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายและเจตจำนงที่จะผนึกกำลังสร้างสรรค์ความสามัคคีของชนในชาติ…เพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณและให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมทำคุณประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป” (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 156 ฉบับพิเศษ 27 กันยายน 2531)

การก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองในครั้งนั้น เกิดขึ้นเมื่อเวลา 03.30 น.ของวันที่ 9 กันยายน 2528 ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โรม บุนนาค เขียนเล่าไว้ในหนังสือคู่มือรัฐประหารว่า รถถัง รถไฟ รถเมล์ เจ้ามือแชร์สามัคคีทำรัฐประหาร และเรียกการก่อความไม่สงบครั้งนี้ว่า “กบฏ 9 กันยา” บ้าง “กบฏ 5 นายพล” บ้าง หรือบางทีก็เรียกว่า “กบฏเจ้ามือแชร์” และสรุปความหลังจากเหตุการณ์ยุติแล้วตอนหนึ่งว่า มีการจับกุมนายทหารยศพลเอก 5 คน และนายทหารอื่นๆ อีก จับกุมแกนนำสหภาพแรงงานขนส่งมวลชน (ขสมก.) แกนนำสหภาพรถไฟ และผู้เกี่ยวข้อง 35 คน อีกทั้งยังปรากฏว่าการเข้ายึดอำนาจครั้งนี้มีเจ้ามือแชร์ชาร์เตอร์ที่กำลังโด่งดังในตอนนั้นหอบเงินมาให้เป็นค่าใช้จ่ายอีกด้วย จึงทำให้มีผู้เกี่ยวข้องที่ร่วมกระทำความผิดจำนวนมาก และทุกคนก็ได้รับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้

กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรมหรือยกโทษให้หรือล้างความผิดให้แก่ผู้ก่อความไม่สงบดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณ และให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมทำคุณประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปตามหลักการและเหตุผลข้างต้นดังกล่าวแล้ว

ในโอกาสสุดท้ายนี้ ขออนุญาตอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2532 ความตอนหนึ่งว่า

“ความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง สองประการนี้ คือคุณลักษณะสำคัญของไทยที่ช่วยให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดเป็นอิสระและเจริญมั่นคงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน”

นคร พจนวรพงษ์
กรรมการเนติบัณฑิตยสภา
กรรมการสภาทนายความ (ผู้แทนเนติบัณฑิตยสภา)
(ทนายความ/อดีตผู้พิพากษา)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image