พลิกพลิ้ว ลื่นไหล ของ คำขาด “เส้นตาย” อาการ น่าเป็นห่วง

เหมือนกับคำว่า “คำขาด” คำว่า “เส้นตาย” จะสะท้อนลักษณะที่แน่นอน เด็ดขาด และตายตัว แต่เมื่อนำเอาคำเหล่านี้เข้ากับกรณีของ “ธรรมกาย”

กลับดำเนินไปอย่าง “พลิกพลิ้ว”

หนังสือ “พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542” ซึ่งถือว่าเป็นฉบับล่าสุดต่อเนื่องจากฉบับแรกเมื่อ พ.ศ.2493

คำขาด น. คำบอกกล่าวอย่างเด็ดขาดครั้งที่สุดให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่มีการผ่อนผัน เช่น ยื่นคำขาดให้ผู้เช่าออกไปจากบ้านเช่าภายใน 3 วัน นี่เป็นความหมาย 1 ข้อเสนอเด็ดขาด นี่เป็นความหมาย 1

Advertisement

ข้อเสนอที่ยื่นให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามโดยเด็ดขาด เช่น เขายื่นคำขาดให้เธอปฏิบัติตาม

เช่นเดียวกับคำว่า “เส้นตาย” น. วันเวลาที่กำหนดเป็นขั้นเด็ดขาด ใช้ว่า ขีดเส้นตาย หรือกำหนดเส้นตาย

เช่น กำหนดเส้นตายให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างให้หมดภายใน 30 วัน

หากติดตามบทบาทของ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หากติดตามบทบาทของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.

ก็ต้องยอมรับว่า ทั้ง “คำขาด” และ “เส้นตาย” มิได้ “เด็ดขาด”

 

ในความเป็นจริง ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทั้ง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ซึ่งทำงานร่วมกันในกรณี “ธรรมกาย” เคยกำหนดเส้นตายมาแล้วหลายหน

หนที่ 1 เมื่อเดือนมิถุนายน

สถานการณ์ในเดือนพฤศจิกายน เท่ากับเป็นหนที่ 2 และหากนับสถานการณ์อันต่อเนื่องมาถึงเดือนธันวาคมก็เท่ากับเป็นหนที่ 3

เดือนมิถุนายน เคยได้ “หมายค้น” เพื่อบรรลุ “หมายจับ”

ปฏิบัติการครั้งนั้นไม่เพียงแต่ใช้กำลังกรมสอบสวนคดีพิเศษสนธิกับกำลังตำรวจ หากยังดำเนินไปอย่างอึกทึกครึกโครม

อึกทึกครึกโครมด้วย “โดรน” อึกทึกครึมโครมด้วย “เฮลิคอปเตอร์”

แต่ในที่สุดก็ล้มเหลว เพราะหากไม่ล้มเหลวก็คงไม่มี “คำขาด” และ “เส้นตาย” อีกในเดือนพฤศจิกายนและในเดือนธันวาคม

เป็น “คำขาด” หนใหม่ เป็น “เส้นตาย” หนใหม่

ครั้งแล้ว ครั้งเล่า วกไปเวียนมา

อาการแปรเปลี่ยนของ “คำขาด” กระทั่งทำให้ “เส้นตาย” เกิดการแปรเปลี่ยนในกรณีของ “ธรรมกาย” สามารถมองและประเมินได้ 2 ด้าน

ในด้านดี ถือว่าดำเนินไปอย่าง “ยืดหยุ่น”

แม้ว่าในขั้นที่สุดจะวางเป้าหมายอยู่ที่ “มอบตัว” แต่ก็มิได้หมายความว่าจะลงเอยด้วยการบุกเข้าจับตัวอย่างเดียว

การผ่อนปรนด้วยกระบวนการพลิกแพลงก็มีความจำเป็น

ประเด็นอยู่ที่ว่า การผ่อนปรน ยืนหยัดในลักษณะนี้ยังดำรงจุดมุ่งหมายเดิม จุดมุ่งหมายพื้นฐานโดยไม่เปลี่ยนแปลง

นั่นก็คือ การได้ตัว พระเทพญาณมหามุนี มา

ขณะเดียวกัน อาการที่คำขาดมิได้เด็ดขาด อาการที่เส้นตายแปรเปลี่ยนกระทั่งหมดสภาพความเป็น “คำขาด” หมดสภาพความเป็น “เส้นตาย”

ย่อมทำให้สายตาที่มองไปยัง “ดีเอสไอ” และ “ตำรวจ” อย่างไม่มั่นใจ

เป็นความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ เป็นความไม่มั่นใจในการวางแผนและดำเนินการตามแผนว่าจริงจังมากน้อยเพียงใด

ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ “การข่าว”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า “คำขาด” มีความสัมพันธ์อยู่กับความเฉียบขาด อย่าลืมเป็นอันขาดว่า “เส้นตาย” ต้องขีดเส้นและมี
ข้อกำหนดอย่างแน่นอน

หากไม่เฉียบขาดก็ไม่น่าเชื่อถือ หากไม่แน่นอนก็ไม่น่าไว้วางใจ

ไม่ว่าทั้ง พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่ว่าทั้ง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. จะประกาศอย่างเข้มแข็งเพียงใด

แต่ลักษณะ “เลื่อน” และ “ชะลอ”

จากเดือนมิถุนายน มาเป็นเดือนพฤศจิกายน มาเป็นเดือนธันวาคม และทำท่าว่าอาจขยายออกเป็นภายใน 3 เดือน

อาการอย่างนี้สัมพันธ์อย่างยิ่งกับ “ภาพลักษณ์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image