ไทยพบพม่า : การคว่ำบาตรของอียูระลอกใหม่

เมื่อไม่นานมานี้สหภาพยุโรป หรืออียู เพิ่งออกประกาศคว่ำบาตรบุคคล 19 คน และองค์กรอีก 1 แห่งจากพม่า นับเป็นการประกาศคว่ำบาตรครั้งที่ 5 แล้ว รายชื่อผู้ถูกคว่ำบาตรมีบุคคลสำคัญในรัฐบาลคณะรัฐประหารอย่างกัน ซอ (Kan Zaw) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ ทุน ทุน อู (Htun Htun Oo) ผู้พิพากษาศาลสูงสุด รวมทั้งบุคคลอีกหลายคนจากกองทัพพม่าและกรรมการการเลือกตั้ง รวมทั้งนักธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” ให้คณะรัฐประหาร  

เหตุผลหลักของการคว่ำบาตรของอียูที่ผ่านมาคือการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสหภาพยุโรปต่อต้านรัฐประหารในพม่าอย่างเด็ดขาด และยังต่อต้านบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดๆ ที่ทำลายประชาธิปไตยและหลักแห่งกฎหมาย คุกคามความสงบสุข ความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศ  

ในปัจจุบัน อียูขึ้นบัญชีดำชาวพม่าไปแล้ว 84 คน และองค์กรอีก 11 แห่ง มาตรการที่ใช้คือการอายัดทรัพย์สิน (asset freeze) และห้ามไม่ให้บุคคลเหล่านี้เดินทางเข้ากลุ่มประเทศอียู นอกจากนี้ บุคคลหรือบริษัทที่มาจากทุกชาติในอียูยังไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อค้าขายกับบุคคลหรือองค์กรที่ปรากฏในลิสต์ดังกล่าวด้วย  

มาตรการการกดดันพม่าภายในอียูยังมีการห้ามไม่ให้ส่งออกอาวุธและยุทโธปกรณ์ใดๆ (รวมทั้งอุปกรณ์ประเภทอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน) ไปพม่า และการห้ามไม่ให้มีการร่วมฝึกทหารกับพม่าในทุกกรณี มาตรการคว่ำบาตรของอียู รวมทั้งของสหรัฐอเมริกา เป็นการกดดันคณะรัฐประหารพม่า และเพื่อลดความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากความรุนแรง อย่างสงครามกลางเมืองที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้  

Advertisement

ข้อเรียกร้องของอียูสอดประสานกับแผนการ 5 ข้อของอาเซียนที่ออกมาก่อนหน้านี้ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู้ประชาธิปไตย และยังเรียกร้องให้คณะรัฐประหารปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวหลังรัฐประหาร แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าคณะรัฐประหารจะไม่ตอบรับมติของอาเซียน และไม่ได้ออกมาตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของอียูอย่างเป็นทางการ  

ต้องเข้าใจก่อนว่า ท่าทีของอียูนั้น แม้จะมีผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ถูกบีบให้ถอนการลงทุนจากพม่า แต่ก็ยังมีบริษัทขนาดเล็ก หรือองค์กรอื่นๆ ที่ยังมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพม่า เมื่อพม่ามีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2023 นี้ คณะรัฐประหาร กองทัพ และรัฐบาลชุดใหม่ก็จะใช้ข้ออ้างนี้เพื่อเรียกร้องให้อียูและนานาชาติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ไม่ใช่เพราะมาตรการเหล่านี้มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพม่า แต่เป็นเพียงการลบรอยกะดำกะด่างที่ทำให้พม่าไม่สง่างามในสายตาชาวโลกแค่นั้น 

นอกจากนี้ ในความเป็นจริง ยังมีอีกหลายบริษัททั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา รัสเซียและเอเชีย ที่ยังขายอาวุธให้กองทัพพม่าอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของอัลจาซีราเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เปิดเผยว่า มีบริษัทค้าอาวุธจาก 13 ชาติ ที่ยังขายอาวุธให้กองทัพพม่าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศในอียู เช่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี อีกทั้งยังมีบริษัทจากสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ จีน อินเดีย และรัสเซียด้วย  

Advertisement

ท่ามกลางการคว่ำบาตรของอียู ต้องยอมรับว่ากองทัพพม่าซื้ออาวุธได้ยากขึ้นจริงๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นการซื้อเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง จากบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านเครื่องจักรกลในเยอรมนี ออสเตรีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน เพื่อมาผลิตอาวุธใช้เองด้วยส่วนหนึ่ง เครื่องมือและเครื่องจักรเหล่านี้กลายเป็นส่วนสำคัญของโรงงานผลิตอาวุธของกองทัพพม่า ไม่ต่างจากซอฟต์แวร์ที่นำเข้ามาจากฝรั่งเศส เยอรมนี และอิสราเอล  

สิงคโปร์กลายเป็นพื้นที่ส่งต่อวัตถุดิบจากทั่วโลกที่กองทัพพม่านำมาใช้ในการผลิตอาวุธ และไต้หวันเป็นเป้าหมายหลักสำหรับเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง ที่ถูกนำมาดัดแปลงและใช้ผลิตอาวุธ  

ในระดับรัฐบาลและองค์กรเหนือรัฐ การยึดหลักการประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ เป็นจุดเน้นสำคัญที่ทำให้องค์กรหรือรัฐบาลนั้นๆ มีภาพลักษณ์ความโปร่งใส แต่ในความเป็นจริง การกดดันจากอียูก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้บริษัทในยุโรปติดต่อค้าขายกับกองทัพพม่าได้ แน่นอนว่าการซื้ออาวุธประเภทปืนหรือยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่เป็นเรื่องยากขึ้น แต่เมื่อกองทัพพม่าสามารถผลิตอาวุธได้ดีในระดับหนึ่ง การคว่ำบาตรที่มีเป้าหมายที่บริษัทผลิตอาวุธหรือการกันเส้นทางการเงินของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจากพม่าเพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าได้  

ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เสนอว่าอียูควรออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อทำให้การคว่ำบาตรนี้มีผลลงโทษตามกฎหมาย เช่น การมีบทลงโทษบริษัทจากอียูที่ยังขายอาวุธหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตอาวุธให้กองทัพพม่า แต่ในท้ายที่สุดการกดดันพม่าในลักษณะนี้ไม่สามารถต้อนให้พม่าจนตรอกได้จริง ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ากองทัพพม่ามีโรงงานผลิตอาวุธเป็นของตนเอง และในสถานการณ์ที่มีการสู้รบทั่วประเทศ การใช้อาวุธราคาถูกที่โรงงานผลิตอาวุธในประเทศสามารถผลิตเองได้จึงตอบโจทย์กองทัพพม่า ตราบใดที่โรงงานผลิตอาวุธนี้ยังอยู่ และมีเครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัยมาป้อนตลอดเวลา โอกาสที่สงครามกลางเมืองนี้จะจบลงคงเป็นไปได้ยาก  

เมื่อเข้าไปดูรายการการคว่ำบาตรที่อียูใช้กับพม่าก็จะพบว่ายังมีน้อยมาก มีเพียงมาตรการห้ามไม่ให้ส่งออกอาวุธ การอายัดบัญชี การห้ามส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (dual use goods) หรือสินค้าที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางการพาณิชย์และการทหาร การแบนไม่ให้บุคคลในบัญชีดำเดินทางเข้ายุโรป และมาตรการอื่นๆ รวมกัน 7 รายการ ในขณะที่ประเทศที่อียูมีมาตรการคว่ำบาตรรุนแรงที่สุด ได้แก่ รัสเซีย ซึ่งมีรายการการคว่ำบาตรมากถึง 40 รายการ เกาหลีเหนือ 52 รายการ และเบลารุส 27 รายการ เมื่อพิจารณารายการการคว่ำบาตรแล้ว จะเห็นได้ว่าหนทางที่จะควบคุมเส้นทางการค้าอาวุธในพม่ายังอีกยาวไกล และอาจไม่สำเร็จได้โดยง่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image