ใครว่าขุดคลองไทยแล้วจะไม่คุ้มทุน โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

ผู้เขียนในฐานะคนไทยคนหนึ่งและเป็นคนภาคใต้ได้สนใจและศึกษาความเป็นมาของคลองไทยมาพอสมควร (คลองไทย 300 ปี) ฉุกคิดขึ้นมายุคนี้คลองไทยน่าจะเป็นทางเลือกใหม่กับคนไทยทั้งชาติในการสร้างรายได้สร้างดุลอำนาจในการต่อรองระหว่างประเทศ จึงได้หารือสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน ว่าทำอย่างไรที่จะรื้อฟื้น เรื่องคลองไทยให้ท่านนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา สนับสนุนและสั่งการให้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้เรื่องคลองไทยอีกครั้งหนึ่ง

ผู้เขียนได้ข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยบอนท์ ของประเทศเยอรมนี และมหาวิทยาลัยซายด์ ประเทศมาเลเซีย เกี่ยวกับช่องแคบมะละกา งานวิจัยดังกล่าวได้มีหัวข้อน่าสนใจหลายประเด็น แต่มีประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนพอจะสรุปได้คือ ช่องแคบมะละกาเป็นช่องแคบที่เรือทั่วโลกผ่านปีละเกือบๆ 100,000 ลำ ทำให้สิงคโปร์มีรายได้จากการเดินทางของนักท่องเที่ยว / รายได้จากกิจกรรมการขนถ่ายสินค้า จากการสำรองและพักสินค้า ของประเทศต่างๆ เพื่อส่งต่อไปยังทวีปออสเตรเลีย ยุโรป แอฟริกา อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ / รายได้จากการประกันเรือ ประกันตู้คอนเทนเนอร์ ประกันสินค้า / รายได้จากการลากจูงเรือ / รายได้จากการนำส่งสินค้าและข้อมูล / รายได้จากการปรับซ่อมเรือ / รายได้จากการขนถ่ายสินค้า / รายได้จากการจำหน่ายน้ำจืดให้เรือ แต่ละลำที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำ ลำละนับล้านๆ ลิตร / รายได้จากการแลกเปลี่ยนเงินตรา / รายได้จากการเช่าเรือ / รายได้จากการเช่าที่ดินของบริษัท หรือประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ต้องเช่าที่ดินเพื่อสร้างโกดังสินค้าเก็บกักสินค้าเพื่อรอส่งต่อและกิจกรรมอื่นๆ อีกจิปาถะ

ผู้เขียนเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ได้เห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมา ตั้งสำนักงานเรียงรายไปหมด บริเวณท่าเรือจูรง (Jurong) และในตัวเมืองสิงคโปร์เป็นพื้นที่ที่ประเทศสิงคโปร์ปรับถมทะเล เพื่อสร้างท่าเรือและอาคาร ขนถ่ายสินค้า บริเวณชายฝั่งของช่องแคบมะละกาตามเกาะแก่งต่างๆ จะถูกพัฒนาเพื่อรองรับธุรกิจการเดินเรือ เช่น เกาะบาตั้ม (Batum Island) ของอินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางขนถ่ายอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันจุดพักจุดซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในย่านเอเชียและแปซิฟิก สองฝั่งช่องแคบมะละกามีท่าเรือใหญ่น้อยนับ 1,000 ท่าเรือ
ทั้งหมดที่ผู้เขียนมองเห็นเป็นภาพใหญ่ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่แฝงอยู่ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล ฝากเงินโอนเงิน การจับจ่ายสินค้าของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักการเงิน วิศวกรประเภทต่างๆ ที่เดินทางมาจากทั่วโลก เพื่อมาดูแลตรวจสอบและรับ-ส่งสินค้าไปสู่เป้าหมาย คือตลาดต่างประเทศต่อไป ผู้เขียนมองว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่เล็กพื้นที่พอๆ กับเกาะภูเก็ตของเราไม่มีทรัพยากรอะไรในแผ่นดินของสิงคโปร์

ฉะนั้น พอคาดเดาได้ว่าสิงคโปร์น่าจะมีรายได้จากกิจกรรมหรือธุรกิจจากคลองและการเดินเรือ หรือธุรกิจอื่นจากช่องแคบมะละกาอย่างแน่นอน ผู้เขียนลองนั่งเรือสำรวจและได้สอบถามท่าน ผช.กงสุล ฝ่ายการศึกษาของประเทศอินโดนีเซียได้รับการบอกเล่าว่าท่าเรือสิงคโปร์คับแคบมาก ตื้นเขิน ไม่สามารถขุดลอกได้เพราะติดกับน่านน้ำมาเลเซียและอินโดนีเซียอีก 10-20 ปีข้างหน้า การเดินเรือเส้นทางนี้ จะแออัดและใช้ไม่ได้เลย ซึ่งปัจจุบันนี้เรือที่ผ่านช่องแคบมะละกาเป็นเรือที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 200,000-300,000 ตันเท่านั้น แต่เรือขนาดใหญ่เกิน 300,000 ตัน จะอ้อมไปทางใต้ของเกาชะวา แล้ววิ่งวกกลับมาทางช่องแคบลอมบอก ซึ่งต้องใช้ระยะทางเกือบ 2,000 กิโลเมตร
สรุปว่าเรือที่ผ่านช่องแคบมะละกา ประมาณ 50-60% ที่เหลือจะใช้เส้นทางช่องแคบลอมบอก ใกล้เกาะบาหลีประเทศอินโดนีเซียเป็นหลัก และสามารถคาดเดาได้ว่าเรือสินค้า 40-50% ที่ผ่านช่องแคบลอมบอก น่าจะหันมาใช้คลองไทยแทน เพราะประหยัดทั้งเวลา ทั้งค่าใช้จ่าย ปลอดภัยกว่า รวดเร็วกว่า และเชื่อว่าคงไม่มีนักธุรกิจใดๆ ในโลกที่จะไม่เลือกเส้นทางหรือทางเลือกที่ถูกกว่า กำไรมากกว่า

Advertisement

หันมาดูโครงการคลองไทยมีการสำรวจหลายครั้งหลายเส้นทางแต่เส้นทาง 9A เป็นเส้นทางที่เคยผ่านการพิจารณาของวุฒิสภามาแล้วในปี 2548 แต่โชคร้ายปี 2549 เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองทำให้เรื่องคลองตกไปไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ผู้เขียนได้อ่านจดหมายเปิดผนึกของท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ส่งถึงท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งตรงกับความตั้งใจผู้เขียน และพี่น้องชาวใต้ 5 จังหวัด มองว่าโลกเราข้างหน้าคงจะยุ่งยากไม่น้อย จะหวังรายได้จากการท่องเที่ยว/ขายข้าว/ขายยางพารา/ขายมันสำปะหลังคงยาก มีการแข่งขันและกีดกันที่รุนแรงมากขึ้น

ผู้เขียนได้ศึกษาทั้งผลดีและผลเสียของคลองต่างๆ ที่สำคัญ เช่น คลองสุเอช คลองปานามา และช่องแคบมะละกา พบว่ามีจุดเสี่ยง จุดได้ จุดเสียอยู่พอสมควร แต่ถ้าบวกลบแล้วประโยชน์น่าจะมากกว่า จึงได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน โดยวางแผนงาน คือ ให้ความรู้กับประชาชนที่คาดว่าแนวคลอง 9A ผ่าน คือ อ.ระโนด จังหวัดสงขลา, อ.หัวไทร/อ.ชะอวด/ อ.ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช, อ.รัษฎา/อ.ห้วยยอด/อ.วังวิเศษ/อ.สิเกา จังหวัดตรัง และ อ.คลองท่อม จังหวัดกระบี่ โดยใช้แกนนำหลักจังหวัดละ 30-60 คน พบประชาชนทุกหมู่บ้าน ทุกครัวเรือน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อห่วงใยของประชาชน และได้ให้ประชาชนทั้ง 5 จังหวัดลงชื่อ พร้อมเลข 13 หลักของแต่ละคนที่เห็นด้วยกับโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองไทย

โดยผู้เขียนและคณะ จะขออนุญาตนำรายชื่อประชาชนราว 70,000-100,000 คน ที่มีความต้องการให้ท่านนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาสั่งการกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องตั้งกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ของคลองไทยอีกครั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งพวกเราในฐานะคนภาคใต้ 5 จังหวัด ไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง

Advertisement

คลองไทยมีหลายคนห่วงใยต่างๆ นานาในด้านความคุ้มทุนและตลอดระยะเวลา 7-8 เดือนที่ผู้เขียนและทีมงานลงพื้นที่พบประชาชน จึงขอสรุปความคุ้มทุนและความห่วงใยวิตกกังวลของพี่น้อง 5 จังหวัด ดังนี้

1.ความคุ้มทุนด้านเศรษฐกิจ ถ้าเราขุดคลองขึ้นจริงกิจกรรมต่างๆ น่าจะไม่แตกต่างจากกิจกรรมหรือธุรกิจในประเทศสิงคโปร์ แต่ถ้าหากดูสภาพแวดล้อมต่างๆ ไทยน่าจะดีกว่า เช่น เรามีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย นักท่องเที่ยว มักจะท่องเที่ยวชายฝั่งอันดามันเพียงจุดเดียว ถ้ามีการขุดคลองทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยวมายังฝั่งอ่าวไทย เช่น ชลบุรี พัทยา สมุย เพราะภาคใต้ 2 ฝั่ง จะมีฤดูมรสุมที่สลับกัน เรือจากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ลาว เขมร เวียดนาม อินเดีย อาหรับ ยุโรป อเมริกา แอฟริกา น่าจะมาใช้คลองไทย เพราะลดต้นทุน ลดเวลา ปลอดภัย ไทยมีอาหารอร่อย ราคาถูก ไทยจะเป็นครัวโลกอย่างภาคภูมิ

ไทยมีจุดเด่นกว่าสิงคโปร์ ด้วยศิลปวัฒนธรรมต่างๆ มากกว่าสิงคโปร์เป็น 100 เท่า คนไทยมีน้ำใจพร้อมสำหรับต้อนรับชาวต่างชาติ 2 ฝั่งคลอง 130 กว่ากิโลเมตร จะเป็นเขตที่อยู่ที่ตั้งของบริษัทต่างๆ (ให้เช่า) ที่ตั้งของหน่วยงาน สถาบันการศึกษาต่างๆ สถาบันทางการเงิน อู่ซ่อมเรือ และสถานที่บริการน้ำจืด กิจกรรมที่หลากหลายข้างต้น น่าจะส่งผลให้คลองไทยคุ้มทุน

2.คุ้มทุนด้านการประมง ทำให้เรือประมง 50,000-60,000 ลำ ในฝั่งอ่าวไทย สามารถเดินทางไปสู่น่านน้ำอันดามันภายในเวลา 1 วัน และมีแหล่งปลาใหม่ สำหรับหล่อเลี้ยงคนไทยได้สะดวกและมากขึ้น เพราะถ้าผ่านช่องแคบมะละกาจะช้าและยุ่งยากทางพิธีกรรมผ่านน่านน้ำทางทะเลระหว่างประเทศ

3.คุ้มทุนด้านกำลังทางทะเลของราชนาวีไทย กองทัพเรือของไทยจะคล่องตัว สามารถเสริมกำลังทางเรือ เช่น เรือดำน้ำ ได้ทันที และสามารถเพิ่มศักยภาพน่านน้ำฝั่งอันดามันเมื่อยามเกิดเหตุภัยพิบัติ เช่น คราวเกิดสึนามิ กองทัพเรือต้องใช้เวลา 4-5 วันกว่าจะถึงที่หมาย ถ้ามีคลองใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น

4.ความคุ้มทุนในการถ่วงดุลและการต่อรองระหว่างประเทศ คลองไทยจะเป็นคลองที่ปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะเป็นของคนไทยดูแลโดยคนไทย เราน่าจะได้ประโยชน์จากคลองไทยเมื่อสร้างดุลอำนาจ และถ่วงดุลอำนาจระหว่างประเทศในทุกๆ ด้าน เช่น การเมือง การทหาร การคมนาคม ทางเรือ และอื่นๆ และถ้านโยบายของผู้นำอเมริกาคนใหม่เป็นจริง นั่นแปลว่า ยุทธศาสตร์ทางการค้าขาย การทหาร และด้านต่างๆ จะเปลี่ยนไป คนอเมริกาต้องการดูแลประเทศตัวเอง คลองไทยน่าจะเป็นโอกาสดีของไทยที่ไทยจะสร้างดุลอำนาจในการต่อรอง

5.ความคุ้มทุนในการช่วยแก้ปัญหาประเทศ ประเทศไทยมีปัญหาฝนแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ผลผลิตเกษตรกรรมราคาตกต่ำ ค่าแรงสูง อาศัยการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ในระยะยาว น่าจะมีปัญหา เช่น น้ำเสีย อากาศเสีย ดินเสีย รายได้หรือผลประโยชน์ไม่ถึงประชาชนรากหญ้า ประชาชนได้ค่าตอบแทนเป็นค่าแรง/แต่ผลประโยชน์หลักเป็นของนายทุน ลองถามคนจังหวัดระยองดูซิ เรายังหวังพึ่งแรงงานจากต่างประเทศในอนาคตแรงงานเหล่านี้จะอยู่ในไทยหรือไม่ เห็นรัฐบาลวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นอีก อยากให้คิดให้ยาวๆ คิดให้ไกลๆ 20 ปีผ่านมา เขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออกได้เสียอย่างไร ใครได้ใครเสียคลองไทยเป็นนวัตกรรมทางการเดินเรือใหม่ สามารถสร้างงานทุกระดับชั้นงาน รองรับแรงงานเจ้าหน้าที่ได้นับแสนนับล้านคนโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดอีสานและลูกหลานใน 3 จังหวัดภาคใต้ เพราะปัญหาของ 3 จังหวัดภาคใต้ ส่วนหนึ่งมาจากความยากจนไม่มีงานทำขาดรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว เข้าใจเข้าถึงและพัฒนาซึ่งจะเจรจาแกนนำคงยากครับ ตราบใดที่เขายากจนและไม่เป็นธรรม

ส่วนผลกระทบที่ตามมาจากโครงการนี้ ที่ประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดห่วงใยมากเช่น ที่ดินทำกิน การรุกล้ำของน้ำเค็ม มลภาวะที่เกิดจากคลอง การทำลายแหล่งน้ำจืด เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นและมีผลกระทบ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและทันสมัย คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้

สุดท้ายอะไรก็แล้วแต่ ถ้าผลผลิตกับประเทศชาติและประชาชนเชิงบวกก็ควรนำมาพิจารณา นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คลองไทยน่าจะสร้างความคุ้มทุนถ้าทุกฝ่ายช่วยกันคิด ช่วยกันผลักดันช่วยกันสนับสนุนให้มีการทบทวนและศึกษาความเป็นไปได้เรื่องคลองไทยขึ้นมาใหม่

แน่นอนโครงการใหญ่ๆ เช่นนี้ ย่อมมีได้มีเสีย แต่ได้มากกว่าเสียก็น่าคิดน่าสนใจเห็นไหมครับ คนอเมริกากล้าเลือกทรัมป์ เพื่อประเทศชาติของเขา ท่านนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจให้ศึกษาความเป็นไปได้คลองไทยอีกครั้งดูซิคนใต้คิดอย่างไร ถ้าไม่แน่ใจว่าคนไทยและคนใต้คิดอย่างไร อีก 4-5 เดือน ผมและคณะแกนนำคลองไทยจะส่งรายชื่อมาให้ท่านดูและตัดสินใจครับ
พวกเราหวังดีกับประเทศไทยครับ และชื่นชมให้กำลังใจท่านนายกฯอยู่เสมอ เพียงแต่ครั้งนี้ใคร่ขอความกรุณาท่านนายกฯช่วยสนับสนุนให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของคลองไทยอีกครั้งว่าคุ้มทุนหรือไม่อย่างไร

ณรงค์ ขุ้มทอง
ปธ.กก.สถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนนวมิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image