ลุ้นยุทธศาสตร์ชาติ โดย นฤตย์ เสกธีระ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา(แฟ้มภาพ)

ขณะนี้มีการพูดกันถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นการวางอนาคตของประเทศน่าสนใจ

เหตุที่น่าสนใจเพราะเกิดความสับสนว่าตกลงประเทศไทยเรานี้จะก้าวเดินไปทางไหนแน่

วันหนึ่งการเมืองไทยมีคณะนายทหารปกครองประเทศ การเมืองรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง

ต่อมาประเทศไทยมีรัฐบาลเลือกตั้ง และวางแนวทางว่าอำนาจที่มีอยู่จะกระจายสู่ท้องถิ่น

Advertisement

เวลานี้มีการยึดอำนาจ ฝ่ายทหารเข้ามาบริหารประเทศ แนวทางการกระจายอำนาจก็เปลี่ยนอีก

จากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เปลี่ยนเป็นกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค

แล้วเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติจะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหรือภูมิภาค

Advertisement

ถ้าตั้งยุทธศาสตร์ว่ากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น คือให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น แล้วเกิดการปฏิวัติขึ้นมา

อนาคตไทยจะเปลี่ยนกลับไปสู่การรวมศูนย์ หรือกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคหรือเปล่า

หรือถ้าตั้งยุทธศาสตร์ว่ากระจายอำนาจสู่ภูมิภาค คือให้ราชการส่วนภูมิภาคมีอำนาจมากขึ้น แล้วรัฐบาลเลือกตั้งต้องการเปลี่ยนแปลง

อนาคตประเทศก็ต้องเปลี่ยนอีกหรือ

ทางด้านเศรษฐกิจก็ยังงงว่าอนาคตประเทศไทยจะเป็นประเทศที่จะยืนอยู่กับโลก คือมีรายได้หลักจากการส่งออก และเปิดประเทศให้มีการลงทุน

หรือจะตั้งเป้าหมายว่าไทยจะยืนด้วยลำแข้ง เติบโตด้วยเศรษฐกิจภายในประเทศ

และถ้าระหว่าง 20 ปีนั้น ประเทศมีการปฏิวัติสลับกับรัฐบาลเลือกตั้ง อนาคตของไทยจะเปลี่ยนไปหรือไม่

คิดไปคิดมา เหตุที่สับสนกับเป้าหมายในอนาคต เพราะอดีตที่ผ่านมาและปัจจุบันที่เป็นอยู่ทำให้เราสับสน

เดิมทียุทธศาสตร์ชาติมีระยะเวลาสั้น กลุ่มคนที่ดำเนินการคือฝ่ายราชการที่มีความเชี่ยวชาญด้านแผน

ต่อมาพอนักการเมืองเริ่มกำหนดนโยบายหาเสียง แล้วนำนโยบายหาเสียงมาใช้เมื่อเป็นรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติก็เริ่มมีฝ่ายการเมืองเข้ามาจัดทำ

ขณะนี้ประเทศอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติตามคำบอกของ คสช. จึงมีการยึดอำนาจ และลดบทบาทนักการเมือง แนวโน้มยุทธศาสตร์ชาติจะกลับไปที่ฝ่ายราชการโดยการนำของฝ่ายทหารอีกครั้งหรือไม่

ทั้งนี้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้ระยะเวลา 5 ปี ต้องใช้บทเฉพาะกาล

ซึ่งในบทเฉพาะกาลยังคงอำนาจ คสช.เอาไว้

ช่วงการทำยุทธศาสตร์ชาติก็คงหนีไม่พ้นห้วงระยะเวลาที่ คสช.ยังคงมีอำนาจอยู่

น่าสนใจว่า ยุทธศาสตร์ชาติควรจะร่างขึ้นในช่วงรัฐบาลเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่ฝ่ายทหารยังเป็นใหญ่

ถ้าจะร่างกันในยุครัฐบาลหน้า ก็น่าสนใจว่า อนาคตของชาติที่จะวางนั้น ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมกันแค่ไหน

มีส่วนร่วมแบบช่วงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ รู้ทุกจังหวะก้าวของการร่าง

หรือจะรับรู้แบบช่วงการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา คือ รู้ภายหลังจากร่างเสร็จสิ้นแล้ว

ถ้ายุทธศาสตร์ชาติให้ประชาชนแค่รับทราบในภายหลัง ไม่ใช่การรับรู้มาตั้งแต่ต้น

เกรงว่าผลที่ตามมาจะเหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านประชามติไป

ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พบว่ามีคนไม่รู้เนื้อหาจำนวนมาก

แต่ในขณะที่ไม่ทราบเนื้อหา ประชาชนก็ยังเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

เป็นการเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้อ่านเนื้อหา

เป็นการเห็นชอบกันไปตามความเชื่อ

น่าสนใจว่า รูปแบบการร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะออกมาในแบบเดียวกันนี้อีกหรือเปล่า

เป็นรูปแบบที่มีคนกลุ่มเล็กๆ คิดออกแบบให้กับคนกลุ่มใหญ่

กำหนดหนทางให้ก้าวเดินไปด้วยความเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

แต่เนื้อในเป็นเช่นไร ไม่มีใครรู้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image