ภาพเก่าเล่าตำนาน : พลังอำนาจของจีน…ในแอฟริกา

ภาพเก่าเล่าตำนาน : พลังอำนาจของจีน…ในแอฟริกา

ปี พ.ศ.2543 จีนพุ่งเป้าไปทวีปแอฟริกา ขอจัดตั้ง “องค์กรว่าด้วยความร่วมมือจีน-แอฟริกา” (FOCAC)

ตั้งแต่นั้นมา…บริษัทจีนได้สร้างทางรถไฟยาวกว่า 10,000 กม. ถนนยาวถึง 100,000 กม. สะพานเกือบ 1,000 แห่ง และท่าเรือเกือบ 100 แห่ง สร้างโรงพยาบาลมากกว่า 130 แห่ง โรงเรียนอีกมากกว่า 170 แห่งอีกด้วย และสนามกีฬาอีก 45 แห่ง

ชาวแอฟริกันที่ไม่มีใครเหลียวแล มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เรื่องผลประโยชน์ที่ต้องแลกกัน ก็เป็นเรื่องปกติ.. หมูไป-ไก่มา

Advertisement

บารมี อิทธิพล ของจีนในแอฟริกา ถูกบ่มเพาะ สะสมมาต่อเนื่อง “ดินแดนกาฬทวีป” เคยถูกชาติตะวันตกเข้าไปปกครอง ช่วงชิงทรัพยากร แถมด้วยนำตัวชาวพื้นเมือง ล่ามโซ่ ใส่เรือไปขายเป็น “ทาส”

หลายชาติ ที่เพิ่งได้รับเอกราช แสนจะยากจน เมื่อจีนหยิบยื่นชีวิตใหม่ มาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ ใครเลยจะปฏิเสธ

ข่าวทุนสีขาว สีเทา สีดำจากจีน กระหึ่มในเมืองไทย

Advertisement

“เงิน” ปูทางให้ทุกดีลเดินไปได้สะดวก เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือ หาช่อง ชี้ทางให้ คุณ คือ เทวดา

วิศวกรจีน เจาะภูเขา ทำอุโมงค์ยาวหลายสิบกิโลเมตร สร้างสะพานข้ามหุบเหวระหว่างภูเขา ลึกเป็นกิโลเมตร จีนสร้างทางรถไฟยาวที่สุดในโลกไปถึงยุโรป..แบบโลกแอบอิจฉา

อสังหาริมทรัพย์ คอนโด อพาร์ตเมนต์ ทั่วประเทศไทย ในระดับพรีเมียม บ้านริมทะเลสาบ มีโรงเรียนนานาชาติให้ลูกหลานจีนได้เรียนหนังสือเป็นเรื่องที่ซึมลึก…เกิดขึ้นมานานแล้ว

การอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีนในระลอกใหม่นี้ เป็นชาวจีนที่มีเงินหนา มีความรู้ มีธุรกิจอยู่แล้ว เป็น “คนละพวก” กับชาวจีนรุ่นเสื่อผืนหมอนใบ ที่มาอยู่แถวเยาวราช สำเพ็ง

มหาวิทยาลัยในไทย..นายทุนจีน ก็ซื้อมาแล้วหลายแห่ง

มีคลิปนักศึกษาไทย ถ่ายทำเผยแพร่ ให้เห็นมหาวิทยาลัยที่เธอเรียนในกรุงเทพฯ นักธุรกิจจีนซื้อมหาวิทยาลัยไปแล้ว มีนักศึกษาจีนมาเรียน ร้านค้าข้างๆ มหา’ลัย ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ป้ายบอกทาง เมนูอาหารทุกสรรพสิ่งล้วนตอบสนองนักศึกษาจีน

ในกรุงเทพฯ เป็นที่ยอมรับกันว่า ไชน่าทาวน์ 2 อยู่ที่ “เขตห้วยขวาง” ร้านค้า ที่พัก ตลาดขายของโตวันโตคืนสังคมไทยคุ้นชิน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมานานแล้ว

ก็เห็นๆ กันอยู่ ไม่ใช่เรื่องปิดบังอะไร

ต้องอยู่กับความจริง…ชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน เรื่องคนไทยเชื้อสายจีน คุยกันได้สนุกทุกเวลา …ชาวจีนมีพลังงาน มีพลังสมอง มีความกล้า เก่งเรื่องการทำมาค้าขาย ชาวตะวันตก (ฝรั่ง) ที่เข้ามาค้าขายในสยาม ยอมรับว่าชาวจีน คือผู้กุมสภาพเศรษฐกิจของสยาม

รอบๆ เมืองไทย..เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีชุมชน ธุรกิจชาวจีนกันพร้อมเพรียง

สงครามในจีน ความแร้นแค้น การกดขี่ มองไปทางไหนก็ไร้อนาคต ทำเอาชาวจีนทยอยลงเรือเสี่ยงตายในทะเลไปตั้งถิ่นฐานทั่วโลก เสียชีวิตไประหว่างทางมหาศาล

ไปอยู่ที่ไหน….เจ้าถิ่นจะหวาดระแวง กีดกัน หวั่นเกรงในความขยัน มานะอดทน จะสร้างธุรกิจให้เติบใหญ่ ไม่ช้าไม่นาน กระโดดทะยานขึ้นไป กลายเป็นเจ้าของกิจการ โดยมีเจ้าถิ่นเป็น “ลูกจ้าง”

สายเลือดของความขยัน จริงจัง ถูกฝังลึกในวิถีชีวิตของชาวจีน (ส่วนใหญ่) นานนับพันปีแล้ว

กว่า 2 พันปีที่แล้ว จีน คือผู้สร้างตำนาน “เส้นทางสายไหม” ทางบก ทางเรือ ไปค้าขายไกลสุดขอบฟ้า เคยเป็นมังกรหลับนานหลายสิบปี มียุทธศาสตร์ระยะยาว
ปู่ส่งต่อให้หลาน และดำเนินการยุทธศาสตร์ได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้นำไปกี่คน

ยุทธศาสตร์ที่เขย่าโลกทุกวันนี้ คือ BRI (Belt and Road Initiative) สร้างเส้นทางบก ทางเรือ เชื่อมโลกเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ย้ายศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกไปทางทิศตะวันออก

เมื่อราว 600 ปีที่แล้ว ฮ่องเต้ เคยส่งกองเรือรบ เรือสินค้านับร้อยลำ เดินทางไปค้าขายถึงทวีปแอฟริกาโน่น แม่ทัพชื่อ เจิ้งเหอ

กองเรือของเจิ้งเหอ ออกสำรวจทางทะเลรวม 7 ครั้ง ท่องต่างแดนมากกว่า 37 ประเทศ เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.1948 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราชแห่งราชวงศ์อู่ทองปกครองกรุงศรีอยุธยา

เจิ้งเหอ เป็นผู้บังคับกองเรือสำเภาขนาดใหญ่ เรียกว่า “เป่า ฉวน” แปลว่า “”เรือมหาสมบัติ” ต่อขึ้นที่เมืองนานกิง อดีตเมืองหลวงอันเก่าแก่ของจีน (ในประเทศไทย เจิ้งเหอ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เจ้าพ่อซำปอกง” หรือซานเป่ากง)

กองเรือจีนอันเกรียงไกร แวะเจริญสัมพันธไมตรีกับกลุ่มชาติพันธุ์อาหรับ ประชาคมมุสลิม เลยทำให้มีมัสยิดในแผ่นดินจีน

ขอเจาะประเด็นไปที่ทวีปแอฟริกา ..ที่พูดภาษาจีนกันปร๋อ

เคยสังเกตมั้ยครับ…สี จิ้นผิง ผู้นำจีนเดินทางไปเยือนทวีปแอฟริกาหลายครั้ง ผู้นำจีนที่มาดเคร่งขรึม สุขุม นุ่มลึก เลือกที่จะไปเยือนชาติต่างๆ ในแอฟริกาแบบมีจุดมุ่งหมาย เป็นเนื้อ เป็นหนัง

ปี 2559 เมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำจีนเป็นครั้งแรก ผู้นำพญามังกรเลือกเดินทางไปประเทศคองโก และแอฟริกาใต้

เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำจีนเป็นวาระที่ 2 ก็ยังเลือกเดินทางไปเยือนแอฟริกาเป็นทริปแรก…ไป เซเนกัล รวันดา และมอริเชียส

จีน ได้ลงทุนในภูมิภาคนี้ไปแล้วมหาศาล บริษัทสัญชาติจีนกว่า 10,000 แห่ง ได้เข้ามาทำงานในทวีปนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญ

ทวีปแอฟริกา ที่แสนจะแร้นแค้นยากจน ไร้คนสนใจ มี “จีน” รุกเข้าไปพัฒนา สร้างถนน สะพาน ระบบราง ประปา ไฟฟ้า

ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-แอฟริกาเป็นความสัมพันธ์แบบ 2 ทิศทางที่มีชีวิตชีวา ผู้นำประเทศในแอฟริกา ก็ต้องการให้ดินแดนของตนลืมตาอ้าปากได้ อยากมีถนน มีรถไฟ มีน้ำ มีการเกษตร มีงานทำ

จีน คือ แก้วสารพัดนึก ที่ใจถึง พึ่งได้

พญามังกร สร้าง สะสม ความเป็นพันธมิตรทางการทูตผลประโยชน์ของจีน คือทรัพยากรธรรมชาติ การค้า ความมั่นคง การทูต และซอฟต์เพาเวอร์

จีนเป็นผู้บริจาคความช่วยเหลือรายใหญ่ที่ไร้คู่แข่ง

ผลประโยชน์ที่ได้ คือ น้ำมันและก๊าซ ที่ลงทุนเต็มพิกัดใน ซูดาน แองโกลา และไนจีเรีย

แอฟริกา เป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับสินค้าส่งออกของจีน

จีน แสวงหาพันธมิตรทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่ชัดเจนที่สุด คือ รัฐบาลชาติต่างๆ ในแอฟริกาส่วนใหญ่แสดงการสนับสนุนนโยบาย “จีนเดียว” ของปักกิ่ง ซึ่งไม่มีชาติใดปฏิเสธ

“จีนทำได้” ในขณะที่ชาติร่ำรวยทั้งหลาย “ไม่ทำ”

จีน ยังกลายเป็นโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เป็นแรงจูงใจให้ประเทศที่ยากจน แร้นแค้น จะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ล่าสุดของจีนในการยกระดับตัวเอง

ทัศนคติของประเทศต่างๆ ในแอฟริกา มองว่าจีน “เห็นแก่ผู้อื่น” มากกว่าที่รัฐบาลและองค์กรต่างๆ ของตะวันตกมี

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกล่าวว่า โมเดลการลงทุนของจีนกำลังได้รับการยอมรับมากขึ้น แม้ว่าจะทำให้หลายประเทศมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นก็ตาม

ในเคนยา…สินค้าจากประเทศจีนขายดีกว่าสินค้าจากทางตะวันตกอย่างชัดเจน เนื่องจากมีราคาถูกกว่า โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นจุดเด่นของบริษัทจีนที่เข้าไปลงทุน

จีน ทำงานแบบมีเป้าหมาย มีโฟกัส

กลางเดือนมกราคม 2566 นายฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีนคนใหม่ เมื่อรับหน้าที่แล้ว ออกเดินทางไปยังทวีปแอฟริกา เยือนเอธิโอเปีย กาบอง แองโกลา และเบนิน

แวะไปอียิปต์ พบกับเลขาธิการของสันนิบาตอาหรับที่อียิปต์ ตอกย้ำในมิตรภาพจากจีน เพื่อแสดงถึงพันธสัญญาที่จีนให้ไว้ต่อแอฟริกา แทนที่จะไปเยือนอเมริกา หรือยุโรป

จีนได้ขยายอิทธิพลไปทวีปแห่งความยากจน โดยไม่เพียงแต่ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังจัดหาความช่วยเหลือทางการทหารและลงทุนสร้างระบบการติดต่อสื่อสารในระบบดิจิทัล

อิทธิพลของจีนเหนียวแน่น มั่นคง ยากที่ชาติใดจะแข่งกับจีนในภูมิภาคนี้ได้ ความแน่นแฟ้นของจีนกับชาติต่างๆ ในแอฟริกา กลายเป็น “ข้อติฉิน” ของบรรดาชาติตะวันตก

จีนถูกนินทาว่า…ไปเที่ยวหว่านเงิน สร้างหนี้ เอาเปรียบ

กลุ่มรณรงค์ในอังกฤษเผยแพร่ผลการศึกษา ซึ่งสวนทางกับข้อกล่าวหาของสหรัฐ และชาติตะวันตกอื่นๆ ที่กล่าวโทษจีนว่า สร้างกับดักหนี้ให้ชาติในทวีปแอฟริกา โดยผลการศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า ชาติในทวีปแอฟริกาเป็นหนี้ชาติตะวันตก มากกว่าเป็นหนี้กับจีนถึง 3 เท่า แถมถูกโขกดอกเบี้ยแพงกว่าอีกด้วย

การคำนวณจากข้อมูลของธนาคารโลก และพบว่า ทวีปแอฟริกาเป็นหนี้จีนแค่ร้อยละ 12 แต่เป็นหนี้ถึงร้อยละ 35 กับเจ้าหนี้เอกชน (private creditors) ของชาติตะวันตก ซึ่งมีทั้งธนาคาร ผู้จัดการสินทรัพย์ และเทรดเดอร์น้ำมัน

เจ้าหนี้เอกชนตะวันตกยังคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าของจีนเกือบ 2 เท่า คือเฉลี่ยร้อยละ 5 ขณะที่จีนคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.7

ย้อนไป สิงหาคม 2565 หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศและมนตรีแห่งรัฐของจีน ประกาศยกหนี้เงินกู้จำนวน 23 รายการดังกล่าวให้กับประเทศลูกหนี้ แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่ายกหนี้เงินกู้จำนวนเท่าใดให้กับประเทศไหนบ้าง แต่เชื่อว่าเป็นหนี้เงินกู้ที่ปราศจากดอกเบี้ยให้กับประเทศในแอฟริกา 17 ประเทศ

ข้อมูลจากสถาบันศึกษาก้าวหน้าระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในสหรัฐ พบว่า….

ตั้งแต่ปี 2000 จีนได้ประกาศยกหนี้เงินกู้ให้กับประเทศในแอฟริกาหลายรอบ เฉพาะในปี 2019 ก็ยกหนี้ไปจำนวนกว่า 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.2 แสนล้านบาท โดยเกือบทั้งหมดเป็นหนี้เงินกู้ระหว่างประเทศแบบไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งประเทศ “แซมเบีย” ได้ประโยชน์จากการยกหนี้ในรอบนี้มากที่สุด

นอกจาก “ยกหนี้” เงินกู้ปราศจากดอกเบี้ยให้ชาติในแอฟริกา จีนยังประกาศพร้อมโยกเงินทุนสำรองกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.6 แสนล้านบาท ในกองทุน IMF ของตน ไปให้กับประเทศยากจน และภูมิภาคอื่นๆ ด้วย

ในปี 2563 ประเทศในแอฟริกาที่มีหนี้จีนมากที่สุด ได้แก่ แองโกลา (25 พันล้านดอลลาร์) เอธิโอเปีย (13.5 พันล้านดอลลาร์) แซมเบีย (7.4 พันล้านดอลลาร์) สาธารณรัฐคองโก (7.3 พันล้านดอลลาร์) และซูดาน (6.4 พันล้านดอลลาร์)

รัฐบาลในแอฟริกา นำ “ภาษาจีนกลาง” มาใช้ในหลักสูตรเน้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าเป็นเหตุผลหลัก ซึ่งตอกย้ำความสำคัญของภาษาจีนกลาง

กรมการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อนุมัติให้รวมภาษาจีนกลางเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรโรงเรียนของแอฟริกาใต้ โดยนักเรียนระหว่างเกรด 4 ถึง 12 สามารถเลือกเรียนเป็นภาษาที่สองได้

แถมท้าย… หลังโควิด-19 ..(ปลายปี 2565) ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ฟุบจากพิษเศรษฐกิจ แข่งขันกันเปิดประเทศ เพื่อขอรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจาก “จีน” ที่มีพลังอำนาจในการซื้อ.. เป็นลูกค้าคนสำคัญ ทำทุกอย่างเพื่อให้ชาวจีนมาเที่ยว มาใช้เงิน

ที่ไปดี-มาดี มีมหาศาล ที่เกิดคดีแบบฉาวโฉ่ ก็สะสางกันไป

ไม่ต้องเขินอาย…ทุกประเทศแย่งกันต้อนรับ เอาใจชาวจีน…นักท่องเที่ยวชาวจีน คือ อัศวินม้าขาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image