พระราชพิธีบรมราชาภิเษก : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

ภาพจาก www.welovethaiking.com

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีขึ้นครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์สมัยก่อนเรียกว่า “ราชาภิเษก” สำหรับการขึ้นครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณีมีลักษณะ 5 ประการ คือ (กรมศิลปากร 2546 : 1-3)

1.อินทราภิเษก คือ สมเด็จจอมอมรินทราธิราช (พระอินทร์) นำเครื่องปัญจกกุธภัณฑ์ทั้งห้ามาถวายพร้อมด้วยพระพิชัยราชรถ และฉัตรทิพยโอภาสหรือถือเสมือนว่าพระอินทร์ทรงสถาปนาให้เป็นพระมหากษัตริย์

2.โภคาภิเษก คือ การขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ของผู้มีชาติตระกูลพราหมณ์ที่บริบูรณ์ด้วยโภไคยไอศุริยสมบัติหรือเป็นชาติตระกูลมหาเศรษฐี มียศ บริวารและทรัพย์สมบัติอันรุ่งเรือง สามารถปกครองอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายให้มีความผาสุกได้

3.ปราบดาภิเษก คือ การใช้อำนาจรบพุ่งหักหาญจนมีชัยชนะเหนือข้าศึกศัตรู สามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้แก่ชาติและอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายได้

Advertisement

4.ราชาภิเษก คือ การขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์จากการสืบราชสันตติวงศ์ตามราชประเพณี

5.อุภิเษก คือ การขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์จากการมงคลวิวาหะอุภิเษก (แต่งงาน) โดยสมเด็จพระบิดามารดาของสองฝ่ายที่มีชาติตระกูลเสมอกันนำพระโอรสและพระธิดามาแต่งงานกัน แล้วให้ขึ้นปกครองบ้านเมือง

ตามตำราโบราณได้กำหนดเครื่องสำหรับราชาภิเษกไว้ 5 อย่าง คือ พระมหามงกุฎ พระภูษา ผ้ารัตกัมพล พระขรรค์ พระเศวตฉัตร และเกือกทองประดับแก้วฉลองพระบาท

Advertisement

ซึ่งต่อมามีการดัดแปลงให้เหมาะสมตามกาลสมัยเรียกว่า “เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์” ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี (ถือว่าเป็นพระแสงคู่บ้านคู่เมืองได้มาจากเขมร) พระแส้จามรี (นิยมกันว่าเป็นของสูงคู่องค์พระมหากษัตริย์มาแต่อินเดียโบราณ) ธารพระกร (ไม้เท้า) และฉลองพระบาทเชิงงอน

ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสันนิษฐานว่าประเทศไทยได้รับรูปแบบมาจากพิธีราชสูยะของอินเดีย ซึ่งเริ่มมีอิทธิพลต่อราชสำนักและวัฒนธรรมไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อเสียกรุงครั้งที่สอง หลักฐานต่างๆ มีการสูญหายเป็นอันมาก ทำให้ความรู้ในเรื่องนี้มีน้อย ดังคำกล่าวของสมเด็จพระจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 2 ว่า

“ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงเก่าก็สูญเสียแก่พม่า ถ้าจะมีตำราอะไรที่เหลืออยู่ ซึ่งหาได้ในครั้งกรุงธนบุรีนั้น ก็มีอยู่ฉบับเดียวแต่โครงจมื่นไวยวรนาถ แต่งไว้ว่าด้วยกฎหมายเหตุ เรื่องบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ลักษณะการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ทำครั้งนั้นมีสวดมนต์เลี้ยงพระ 3 วัน เวลาเช้าสรงมุรธาภิเษก ทรงเครื่องแล้ว เสด็จประทับพระที่นั่งอัฐทิศแต่ทิศเดียวพระมหาราชครูพราหมณ์ กราบบังคมทูลถวายสิริราชสมบัติแล้วสวดเวทถวายไชยมงคล เป็นเสร็จการเพียงเท่านั้น ไม่ได้ตั้งพระที่นั่งภัทรบิฐและไม่ได้ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พิธีที่ทำเต็มตำรามาทำครั้งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรราชา รับราชสมบัติต่อรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ แต่ไม่ได้มีตำราจดไว้ หรือจดไว้แต่สูญหายไปเมื่อเสียกรุงเก่า

ในสมัยกรุงธนบุรีสันนิษฐานว่าทำแบบอย่างครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แต่ทำพอสังเขป เพราะในระยะนั้นอยู่ในระยะสงครามบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย ถึงสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ทางฝั่งตะวันออกของพระราชวังกรุงธนบุรี และทำพระราชพิธีปราบดาภิเษกก่อน ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการและพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ซึ่งรู้แบบแผนเก่าทำตำราบรมราชาภิเษกขึ้น เมื่อสร้างพระนครและพระมหาปราสาทสำเร็จแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามตำราโบราณในปีมะเส็ง สัปตศกจุลศักราช 1147 (พุทธศักราช 2328) พร้อมกับงานสมโภชพระนคร

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกกระทำสืบต่อมาจนรัชกาลปัจจุบัน โดยยึดแบบแผนตามตำราบรมราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ 1 เป็นหลัก มีการเปลี่ยนแปลงข้อปลีกย่อยบางอย่างบ้างเล็กน้อย เช่น สถานที่ประกอบพระราชพิธีในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงประกอบพิธีที่พระที่นั่งอมรินทราภิเษก รัชกาลที่ 2 ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกที่พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียรในรัชกาลต่อมาก็ทำพิธีที่พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียรเช่นกัน ยกเว้นในรัชกาลที่ 6 มีพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง ครั้งแรก พุทธศักราช 2453 ทำพิธี ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ครั้งที่ 2 พุทธศักราช 2454 ทำพิธี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

นอกจากการเปลี่ยนสถานที่ทำพิธีแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขส่วนประกอบพิธีบางอย่าง เช่น เพิ่มหรือลดวันสวดมนต์เนื่องในการพระราชพิธี เพิ่มหรือลดเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องพระมุรธาภิเษก เพิ่มหรือลดจำนวนพระพุทธรูปที่เชิญมาตั้ง ณ พระแท่นมณฑล เป็นต้น

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีขั้นตอนของพิธีแบ่งออกเป็น

เตรียมพิธี ประกอบด้วยการพิธีตักน้ำและเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมูรธาภิเษกพิธีจารึกพระสุพรรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

การพิธีเบื้องต้น คือ เจริญพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงด้ายจุดเทียนชัย ก่อนวันพิธี

การพิธีบรมราชาภิเษก เริ่มด้วยพิธีสรงพระมุรธาภิเษก รับน้ำอภิเษก รับการถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ เสด็จออกมหาสมาคมสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี ประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภกในพระพุทธศาสนา ถวายบังคมพระบรมศพ พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนๆ เสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทั้งสถลมารคและชลมารค

สำหรับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้ย่อพิธีลงเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในเวลานั้น มีการประกอบพระราชพิธีตามแบบโบราณราชประเพณีเพียง 2 วัน คือ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เป็นวันจุดเทียนชัย วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เป็นวันประกอบพระราชพิธี

การเฉลิมฉลองครบรอบกับพิธีบรมราชาภิเษก

ในประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุข นอกจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ยังมีการจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองในวาระครบรอบการครองสิริราชสมบัติ (ครองราชย์) เพื่อแสดงถึงพระปรีชาสามารถและการดำรงพระองค์ที่มั่นคงยืนนาน กล่าวคือครบรอบ 25 ปี เรียกว่า “รัชดาภิเษก (Silver Jubilee)” ครบรอบ 50 ปี เรียกว่า “กาญจนาภิเษก” (Golden Jubilee)” ครบรอบ 75 ปี เรียกว่า “พัชราภิเษก หรือวชิราภิเษก (Diamond Jubilee)” กรณีหลังอาจเป็นระยะเวลานานในบางประเทศจึงถือเอาครบรอบ 60 ปี แทน 75 ปี ดังเช่นรัฐบาลประเทศอังกฤษจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปี ของพระราชินีวิคตอเรีย เรียกว่า “Diamond Jubilee” ในปี ค.ศ.1897 (พ.ศ.2440)

พระราชพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวาระสำคัญดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2436 ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 25 ปี พระราชทานชื่อว่า “รชฎาภิเษก” จัดพระราชพิธีเป็น 2 วาระ คือ วาระแรกโปรดให้จัดที่พระราชวังบางปะอิน เนื่องในวันครบรอบ 25 ปี ที่พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติตรงกับวันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) วาระที่สองโปรดให้จัด ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เนื่องในวันครบรอบ 25 ปี นับแต่วันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตรงกับวันอังคารที่ 5 ธันวาคม ร.ศ.112 (พ.ศ.2436)

พระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์ครบ 25 ปี ครั้งที่ 2 จัดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ระหว่างวันที่ 9-10 มิถุนายน พ.ศ.2515 (วันเสด็จขึ้นครองราชย์ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489) พระราชพิธีนี้ชื่อว่า “พระราชพิธีรัชดาภิเษก” อย่างไรก็ดี ยังมีพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองราชย์เท่ากับและยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดในประวัติศาสตร์เรียกว่า “พระราชพิธีรัชมงคล” โดยมีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลและบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ในอดีตทุกพระองค์ เรียกว่า “พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก” จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2451 และครั้งที่สองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เมื่อ พ.ศ.2531

สำหรับพระราชพิธีเฉลิมฉลองครบ 50 ปี มีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน พ.ศ.2539 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพระราชพิธีว่า พระราชพิธีกาญจนาภิเษก ส่วนการเรียกชื่องานเฉลิมฉลองโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อการจัดงานครั้งนี้ว่า การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี กำหนดชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The Fifftieeth Anniversary (Golden Jubilee) Celebration of His Majesty’s Accession to the Thron

ความส่งท้าย
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่าเป็นพระราชาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ของประเทศนั้นโดยสมบูรณ์แล้ว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ในการแสดงความยอมรับนับถือจากประชาชน โดยประเทศไทยปัจจุบันสถาบันกษัตริย์มีความผูกพันกับพสกนิกรมากที่สุดกว่าประเทศใดๆ

ดังนั้น พระราชพิธีดังกล่าวนอกจากสร้างศรัทธาและความมั่นคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาติแล้ว ยังเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นไทยมาแต่โบราณกาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image