9 ธันวาคม วันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (International Anti-Corruption Day) : โดย ฐนยศ คีรีนารถ

“คอร์รัปชั่น (Corruption) เป็นภัยพิบัติของโลก” เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์แตกต่างกับภัยอื่นๆ ซึ่งเกิดแต่ธรรมชาติ แต่คอร์รัปชั่น (Corruption) ก็เป็นภัยพิบัติรุนแรงไม่น้อยกว่าภัยธรรมชาติ เพราะเป็นผลให้คนบริสุทธิ์ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ก่อความยากจนไปทั่วโลก เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ทั้งนับวันจะรุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้น ทั่วโลกจึงศึกษาค้นคว้าหาหนทางป้องกันและปราบปรามอย่างเร่งด่วน

“United Nations office on Drug and Crime หรือ UNODC และ United Nations Development Programme หรือ UNDP หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชั่นของสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (International Anti-Corruption Day) มีวัตถุประสงค์เรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมกันตรวจสอบและยุติการคอร์รัปชั่น และให้ทุกประเทศต้องถือว่าการคอร์รัปชั่นเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ”

ประเทศไทย สังคมไทย เป็นประเทศหนึ่งที่มีการคอร์รัปชั่น (Corruption) เป็นอันดับต้นๆ ของโลก เป็นผลให้คนในชนบทดำรงชีวิตอย่างด้อยคุณภาพมาเป็นเวลาช้านาน ขาดเงินงบประมาณในการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งที่มีพื้นที่เกษตรกรรมมากมาย ทำให้มีรายได้น้อยไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ ต้องเร่ร่อนเข้าเมืองใหญ่เพื่อหางานทำ สถาบันครอบครัวขาดความอบอุ่นและแตกแยก คุณภาพชีวิตตกต่ำ

ปัจจุบันการคอร์รัปชั่น (Corruption) ยังเป็นต้นเหตุให้คนในสังคมแบ่งแยกแตกความสามัคคี แยกพวก แยกพรรค แยกภาค แยกถิ่น แยกสี เพราะขัดแย้งผลประโยชน์ไม่ลงตัว ไม่สิ้นสุด

Advertisement

สังคมทั่วโลกตื่นรู้พิษภัยและผลร้ายของปัญหาคอร์รัปชั่น (Corruption) และหาหนทางป้องกันปราบปรามอย่างเร่งด่วนและอย่างจริงจัง เพื่อยุติการคอร์รัปชั่นให้จงได้ หลายประเทศได้คิดค้นออกกฎหมายใหม่ๆ เพื่อปราบปรามเด็ดขาด ดังนี้

ประเทศอังกฤษ ได้ออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่นฉบับใหม่ชื่อ The Bribery Act 2010 มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 เพื่อให้ครอบคลุม กว้างขวาง ขจัดคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ

ประเทศอเมริกา ได้ออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่นฉบับใหม่ชื่อ US Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) เพื่อป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรงและเด็ดขาด

Advertisement

ประเทศในเอเชีย ประเทศสิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีกฎหมายป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาดและรุนแรงที่สุด จนเป็นประเทศที่ปลอดจากการคอร์รัปชั่น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรืองตลอดมาจนปัจจุบัน

ประเทศจีน โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศกฎเหล็ก 8 ข้อ หรือบัญญัติ 8 ประการ ในการปราบปรามและต่อต้านคอร์รัปชั่นเมื่อไม่นานมานี้ โดยได้กล่าววาทกรรมสำคัญว่า “ปราบทุจริตต้องจัดการทั้งแมลงวันและเสือไปพร้อมๆ กัน” อันโด่งดัง

สำหรับ ประเทศไทย หลังจากเกิดการแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรง มีกลุ่ม กปปส.และ นปช.เมื่อปลายปี 2556 ก่อความแตกแยก แบ่งสี แบ่งกลุ่ม เพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัวแล้ว สังคมไทยมองเห็นภัยพิบัติของคอร์รัปชั่น (Corruption) อย่างชัดเจน หลายกลุ่มองค์กร หลายคณะบุคคลก็เรียกร้องให้จัดตั้งศาลคดีคอร์รัปชั่น (Corruption Court) ขึ้นเพื่อป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังและเด็ดขาด

บัดนี้ รัฐบาลเห็นความสำคัญและจำเป็นจึงได้ตรากฎหมายจัดตั้งศาลดังกล่าวขึ้นเป็นการเฉพาะแล้ว ชื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

รัฐบาลโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตรากฎหมายชื่อ “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559” เป็นผลให้มีการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นแล้ว และเปิดการทำส่วนกลางแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2559 และจะเปิดการทำศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบ ภาค 1 ถึงภาค 7 ในวันที่ 1 เมษายน 2560 นี้และต่อมารัฐสภาได้ตรากฎหมายชื่อ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ให้เป็นเครื่องมือปรามปราบการคอร์รัปชั่นให้เด็ดขาดแล้ว ถือเป็นบริบทใหม่ในการปราบปรามคอร์รัปชั่นในสังคมไทยโดยแท้

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบแตกต่างกับศาลอาญา ที่สำคัญหลายประการ ดังนี้

ประการแรก นำระบบไต่สวนมาใช้แทนระบบกล่าวหาที่ใช้ในศาลอาญาทั่วไป เป็นผลให้ศาลหรือผู้พิพากษาไม่ถูกจำกัดให้ต้องรับฟังพยานได้เฉพาะที่โจทก์และจำเลยเสนอต่อศาลเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจเรียกหรือแสวงหาพยานได้จนเป็นที่พอใจ ทั้งสามารถเรียกพยานบุคคลและเอกสารได้ด้วยความรวดเร็ว

ประการต่อมา คดีเสร็จเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก กล่าวคือ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วถือว่าถึงที่สุด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากองค์คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกาให้ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา โดยตรงเท่านั้น คดีจึงยุติเร็วขึ้น เพราะความล่าช้าเป็นอุปสรรคในการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่น

ประการต่อมา กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ เป็นเหตุให้อายุความยาวขึ้นตามระยะเวลาที่หลบหนี

นอกจากนี้แล้ว ยังมีรายละเอียดข้อปลีกย่อยอีกบางประการเพื่อเสริมให้กระบวนการพิจารณาคดีของศาลรวดเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นผลดีในการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาดและจริงจัง ซึ่งคาดหมายได้ว่าต่อแต่นี้ไปการแก้ไขปัญหานี้จะเป็นวิธีที่ถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แม้ว่าบางส่วนที่เรียกร้อง เช่น ให้ราษฎรที่แจ้งข้อมูลการทุจริตต่อเจ้าพนักงาน และราษฎรนั้นเสียภาษีประจำปี ให้เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายด้วย เพื่อให้มีอำนาจฟ้อง ร้องทุกข์ หรือเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้ด้วยก็ดี หรือการกันผู้ติดสินบนไว้เป็นพยานแทน เพราะจะช่วยรัฐเปิดเผยข้อความจริงมากขึ้น หากผู้ติดสินบนต้องตกเป็นผู้ต้องหาและถูกลงโทษด้วยเข้าทำนอง “หนูก็ผิด แมวก็ผิด” ก็จะช่วยกันปิดบัง “เป็นช่องว่างของกฎหมาย” ดังเช่นเป็นอยู่ในปัจจุบันก็ดี ยังไม่ได้รับการพิจารณาก็ตาม แต่คาดว่าอนาคตอาจจำเป็นต้องพัฒนาแก้ไขเพิ่มเติมให้มีขึ้นก็เป็นได้

บทสรุป ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลต่อต้านคอร์รัปชั่น (Corruption Court) เป็นองค์กรหนึ่งที่สำคัญจะมีส่วนช่วยในการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่น (Corruption) อย่างจริงจังและเด็ดขาด

และคาดหมายได้ว่าต่อแต่นี้ไปปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยจะค่อยๆ ได้รับการแก้ไขเยียวยาให้ดีขึ้น มีส่วนช่วยฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย ความรักสามัคคี และเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวมให้รุ่งเรือง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างเช่นนานาอารยประเทศทั้งหลายครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image