ที่เห็นและเป็นไป : เริ่มที่ ‘ก้าวข้ามความงมงาย’

ที่เห็นและเป็นไป : เริ่มที่‘ก้าวข้ามความงมงาย’ การหาเสียงเลือกตั้งเที่ยวนี้คึกคักมาก

การหาเสียงเลือกตั้งเที่ยวนี้คึกคักมาก แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าวันเลือกตั้งจะเป็นวันที่เท่าไร จะยุบสภาด้วยเหตุผลอะไร เพราะสภาผู้แทนราษฎรไม่มีบทบาทอะไรแล้ว จะอ้างว่าเกิดความวุ่นวายจนรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ คงเป็นเหตุผลที่ฟังดูทะแม่งๆ เพราะเอาเข้าจริงรัฐบาลจะทำอะไรล้วนฉลุยไปทุกเรื่อง แม้จะเป็นผลงานแบบแจกสะบั้นหั่นแหลก จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมือนใช้งบประมาณรัฐซื้อเสียงแบบทิ้งทวน ก็ไม่มีอะไรติดขัด

แต่อย่างว่าแหละ สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การยุบสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้ทำหน้าที่อะไร เพราะปิดสมัยประชุมสุดท้ายไปแล้ว ไม่มี ส.ส.คนไหนมาสร้างความวุ่นวายอะไรจนเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีทนไม่ไหวได้อีก ถ้าจะยุบเสียอย่างก็ยุบได้ เพราะความแปลกประหลาดทั้งหลายถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วใน 8-9 ปีที่ผ่านมา

ในยุคสมัยเช่นนี้ เรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไป ล้วนเป็นไปได้ทั้งนั้น

ที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อมากกว่าเหตุผลการยุบสภาที่ไม่ได้ทำหน้าที่แล้วคือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันเสียงดังฟังชัดว่า ประเทศไทยไม่มีความขัดแย้ง และการแบ่งขั้วทางความคิดความเชื่อแล้ว

Advertisement

เป็นการประกาศหลังนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลถามถึง “จดหมายเปิดใจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ที่เสนอตัวนำพาประเทศ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า ประเทศเดินหน้าพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็นไม่ได้ เพราะความขัดแย้งระหว่างคน 2 ฝ่าย คือ “ผู้ฝักใฝ่อำนาจนิยม” กับ “ผู้เชื่อมั่นในเสรีประชาธิปไตย”

ต่างฝ่ายต่างสาละวนกับการมุ่งทำลายอีกฝ่ายให้สูญสิ้นอย่างเด็ดขาด จนลืมไปว่าภารกิจที่ควรจะต้องทำคือการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรื่อง ให้ประชาชนมีความสุขสมหวังในชีวิต

“พล.อ.ประยุทธ์” บอกว่า อ่านจดหมายของ พล.อ.ประวิตรแล้ว แต่ไม่เห็นว่าประเทศมีความขัดแย้งอะไรที่จะต้องไปก้าวข้าม และไม่เห็นมีความคิดทางการเมืองที่เป็นคนละขั้ว

Advertisement

มุมมอง ความเชื่อเช่นนี้เป็นความน่ากังวลอย่างยิ่งหากมีอยู่ในผู้ที่จะมาสืบทอดการนำประเทศต่อไป

เพราะสาเหตุของความผิดพลาดไม่ว่าจะเรื่องไหนที่เลวร้ายที่สุดคือ การไม่รู้ความจริง หรือรู้แล้วทำใจยอมรับไม่ได้

ประเทศที่ครั้งหนึ่ง “ร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่ผ่าน “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” หรือ สนช. ด้วยเหตุผลที่คนเป็น “ประธานร่าง” สรุปว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

และเมื่อเปลี่ยนประธานร่างจนประกาศใช้ได้ ในความเชื่อมั่นของผู้คร่ำหวอดกับการเมืองว่าเป็น “รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

เนื่องเพราะสร้างอำนาจซ้อนอำนาจขึ้นมาในทุกขั้นตอน “นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง” ในนามของ “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ในทุกระดับ “สมาชิกวุฒิสภา” เป็นอำนาจขั้วหนึ่ง ขณะที่ “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชนบางส่วน” เป็นอำนาจอีกขั้วหนึ่ง

การใช้อำนาจเพื่อห้ำหั่นกันเป็นไปอย่างเข้มข้นตามกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้

กฎหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงจากอีกฝ่ายว่า “สองมาตรฐาน” เป็นต้นทางของการสร้างความไม่เป็นธรรมให้ในทางการเมือง เปิดโอกาส และเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายหนึ่งคุกคามอีกฝ่ายหนึ่งได้ตามที่ผู้บงการปรารถนาให้เป็นไป

นักการเมืองจากการเลือกตั้งถูกกดข่มจากนักการเมือง “ขั้วสืบทอดอำนาจ” จนต้องเปิดโปงความไม่ยุติธรรมนี้ทุกเวทีไม่ว่าจะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือเวทีหาเสียงที่เข้มข้นขึ้นในช่วงนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนว่าเป็น “ผลจากการสร้างความขัดแย้ง” แบบฝังรากลึกไว้ในกฎหมายโครงสร้างอำนาจของประเทศ ให้ “ขั้วสืบทอดอำนาจ” กดข่ม “ขั้วเสรีประชาธิปไตย” จนกลายเป็นปัญหาที่บานปลายกลายเป็นการต่อสู้กันไม่รู้จบสิ้น จนการสาละวนอยู่กับการเอาชนะคะคานกลายเป็นอุปสรรคการเมืองพัฒนาประเทศ

นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น ที่คนที่อาสาจะมาเป็น “ผู้นำ” ด้วยความมุ่งมั่นว่าจะพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองอย่างที่ควรจะเป็น ต้องเริ่มจากเข้าใจ และยอมรับความจริงหรือ

สำหรับคนที่ไม่ยอมรับความจริง ว่าจะต้องเริ่มเคลียร์ปมที่ก่อปัญหาความขัดแย้ง ไม่มีทางที่จะนำพาประเทศให้เกิดการพัฒนาได้

การยอมรับความคิดที่เอาแต่จะ “สืบทอดอำนาจ” โดยมีความเชื่อที่ห่างไกลจากคุณสมบัติของผู้นำการพัฒนาจึงเป็นเรื่องประหลาดยิ่งสำหรับผู้ที่ยังให้การสนับสนุน

แต่อย่างที่ว่า “ยุคสมัยเช่นนี้” ความประหลาดล้วนถูกทำให้ดูเหมือนความเป็นปกติไปเสียหมด

จนแทบมองไม่เห็นว่า สังคมจะหลุดพ้นจาก “คลื่นแห่งความงมงาย” นี้ได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image