คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : หนังสืออ่านนอกเวลาวัน‘รัฐธรรมนูญ’ : โดย กล้า สมุทวณิช

เราล้วนเล่าเรียนท่องจำกันมาว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

นั่นเพราะรัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติที่กำหนดรูปของรัฐและประมุขรัฐ รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงการก่อตั้งและให้อำนาจองค์กรทั้งหลายที่ใช้อำนาจรัฐ ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตลอดจนการเป็นแม่บทแห่งความชอบธรรมของกฎหมายทั้งปวง ด้วยว่ากฎหมายทั้งหลายจะต้องตราขึ้นโดยวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด และมีเนื้อหาไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญด้วย

แล้วทำไมรัฐธรรมนูญจึงถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุด เรื่องนี้อาจจะอธิบายได้ในทางทฤษฎี ที่เรียกว่า “ทฤษฎีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ”

ที่ผ่านมา เราพบคำอธิบายของถ้อยคำนี้ในตำราเรียนวิชากฎหมายมหาชนบ้าง กฎหมายรัฐธรรมนูญบ้างอย่างประปราย แต่ยังไม่เห็นว่ามีหนังสือภาษาไทยสักเล่มที่อธิบายถึงเรื่องนี้อย่างเต็มที่เลย ทั้งๆ ที่ปัญหาว่าด้วย “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใคร” นั้นเป็นคำถามพื้นฐานที่สุดในระบอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายในรัฐประเทศสมัยใหม่

Advertisement

จนกระทั่งมีหนังสือเล่มหนึ่งที่อุทิศให้เพื่อการศึกษาต่อคำถามสำคัญนี้ คือ “รัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน” ของ อาจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล โดยสำนักพิมพ์ “ฟ้าเดียวกัน” ที่เกิดจากการรวบรวมเรียบเรียงบทความของผู้เขียนที่เคยลงในนิตยสาร “มติชนสุดสัปดาห์” ให้มีความเค้าเป็นโครงต่อเนื่องกัน

เป็นหนังสือวิชาการว่าด้วย “รัฐธรรมนูญ” ที่ไม่ได้อธิบายเรื่องรัฐธรรมนูญในเชิงเนื้อหาของ “บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ” อย่างตำราเรียนวิชานี้เล่มอื่น แต่หนังสือเล่มนี้จะเน้นอธิบายแนวคิดอันเป็นแก่นแกนของสิ่งที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” ในแง่มุมต่างๆ

และที่สำคัญที่สุด คือการย้อนกลับไปสู่ “ต้นกำเนิด” ของรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า “อำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญ” อันเป็นอำนาจล้นพ้นที่ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของแต่ละรัฐประเทศในโลก

Advertisement

ข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้จะพาเราไปสำรวจความหมายอันแท้จริงของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญครั้งแรกที่เรียกว่าอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญว่าเป็นอำนาจแห่งการริเริ่ม อันไร้ข้อจำกัดและเป็นอิสระ เพื่อใช้ก่อตั้งระบอบการเมืองและระบบกฎหมายขึ้นในห้วงเวลาที่ปราศจากระบอบการเมืองและระบบกฎหมาย ดังนั้นในระหว่างเวลาที่ระบอบการเมืองหนึ่งก่อตั้งและดำรงอยู่อย่างปกติ อำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญจะไม่มีทางเกิดขึ้นและปรากฏกายได้ มันจะเผยโฉมออกมาให้เราเห็นก็ต่อเมื่อเกิดการทำลายระบอบการเมืองที่ดำรงอยู่ให้ดับสูญลงและก่อตั้งระบบการเมืองใหม่ขึ้นแทนที่

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนหนังสือจึงนำเสนอว่าเราไม่มีทางพูดถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้โดยไม่พูดถึงการปฏิวัติ เช่นการปฏิวัติในอเมริกาที่ได้ทำลายและตัดขาดระบอบเจ้าอาณานิคมของอังกฤษ ก่อตั้งสถาปนารัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา หรือการปฏิวัติในฝรั่งเศสที่อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้เข้าไปรื้อถอนระบอบกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และก่อตั้งสถาปนาระบอบใหม่

อาจสรุปได้จากวรรคหนึ่งจากหนังสือที่ว่า “…อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ตัดชีวิตของรัฐให้ขาดสะบั้น ชีวิตเก่าได้ตายไป ชีวิตใหม่ได้เกิดขึ้น หากยังมีสิ่งตกค้างจากชีวิตเก่า สิ่งตกค้างนั้นต้องอยู่กับชีวิตใหม่ตามระเบียบของชีวิตใหม่ เมื่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญบังเกิดขึ้น นั่นคือการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติ…”

หนังสือเล่มนี้ยังพาเราย้อนไปพิจารณาถึงคำถามอันควรเป็นปัญหาแรกสุดอันเป็นรากฐานของสังคมการเมืองสมัยใหม่ของไทยที่ว่า “ตกลงแล้ว ในระบอบการเมืองของไทย ใครคือผู้ทรงอำนาจสูงสุด และใครคือผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ซึ่งหากเราได้คำตอบอันแจ้งใจไขกระจ่างแล้ว เราอาจจะเข้าใจถึงปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในทางการเมืองภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญของเราได้เกือบทั้งหมด

ในบทแรกของหนังสือเล่มนี้จึงมุ่งตอบปัญหานี้อย่างเต็มที่ ชนิดเข้มข้นควบแน่นไปด้วยหลักทฤษฎีข้อความคิดทางวิชาการ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนจุดแข็งจุดด้อยในข้ออ้างข้อเถียงของแต่ละฝ่ายประกอบคำวิจารณ์ที่ครบถ้วนชวนคิดตาม

ดังที่ได้กล่าวปิดท้ายไว้ในคำนำของผู้เขียนหนังสือว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การนำเสนอเรื่องที่สะท้อนถึงโครงสร้างอุดมการณ์อาจเป็นประโยชน์กว่าการเสียเวลาไปกับการเดินตามเส้นทางที่ “พวกเขา” ขีดเส้นบังคับให้เราเดินมากจนเกินไปแล้ว

ไปให้พ้นจาก “วงจรอุบาทว์” รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เพื่อที่จะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญและย้อนซ้ำรอยกงเกวียนวงจรอุบาทว์นี้ต่อไปอีกไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ

ปิยบุตรอยากพาเราให้ไปให้ถึงอำนาจปฐมสถาปนา ที่เขาเชื่อว่านี่คือศักยภาพของมนุษย์ในการสร้างประวัติศาสตร์ และนี่คือการเมืองของความเป็นไปได้

นานมาแล้วที่ไม่มีหนังสือแนว “วิชาการ” เล่มไหนที่อ่านแล้วบังเกิดประกายแสงสว่างไสวในห้วงคิดซึ่งให้ความหวังพลังใจ แม้ในห้วงยามที่อาจจะยังมองไม่เห็น “ทาง” ไปในตอนนี้ แต่เราก็มีเส้นแสงแห่งปัญญานำไปแล้วว่า ทางที่เราควรจะเดินไปนั้นควรมีจุดหมายอยู่ ณ ที่ใด ด้วยความตื่นรู้ว่า “เรา” นั้นแท้จริงแล้วควรมีฐานะเป็น “อะไร” รัฐประเทศสมัยใหม่ของ “เรา” ได้เกิดขึ้นมาแล้วอย่างไร และถูก “เขา” บิดเบือนไปอย่างไรด้วยชุดความคิดและคำอธิบายแบบไหน ด้วยสำนวนวิธีการเขียนที่หมายให้ผู้อ่านทั่วไปที่ไม่ใช่นักกฎหมายหรือนักวิชาการแต่สนใจในคำถามพื้นฐานที่ว่านี้สามารถอ่านไปได้อย่างลื่นไหลสละสลวยไปกับภาษาที่แหลมคมจริงจังแต่ยังแฝงความงดงามอย่างวรรณกรรม

จึงเป็นหนังสืออ่าน “นอกเวลา” ที่อยากแนะนำสำหรับวันหยุดยาวที่เราเรียกว่าเป็น “วันรัฐธรรมนูญ” ระหว่างช่วงรอ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับต่อไป ซึ่งแน่ใจได้ว่าคงไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่จะใช้บังคับต่อเราไปชั่วกัลปาวสาน

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image