สมรภูมิ การเมือง ‘เลือกตั้ง’ ตาม ‘โรดแมป’ เตรียม ‘ความพร้อม’

คําว่า “ตัวแปร” ที่นายวิษณุ เครืองาม เสนอเข้ามาในห้วงปลายเดือนพฤศจิกายน เริ่มแสดงบทบาทและความหมายของมันมากยิ่งขึ้น

ทั้งต่อ “คสช.” เอง ทั้งจาก “นักการเมือง”

ถามว่าทำไมถึงมีเสียงเรียกร้องในเรื่อง “กำหนด” ของ “โรดแมป” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง “การเลือกตั้ง”

แม้จะมีคำยืนยันว่า เป็น “ปลายปี” 2560 แน่นอน

Advertisement

ความแน่นอนในที่นี้มิได้หมายถึง “เร็ว” ขึ้น หากแต่เด่นชัดยิ่งว่าไม่ต้องการให้มี “การเลื่อน” ซึ่งเนิ่นช้าออกไป

ระยะ “เวลา” นี้แหละ “สำคัญ”

เพราะหากเดือนมกราคม 2560 เดินทางมาถึงเมื่อใด นั่นหมายความว่า เวลาที่ “เหลือ” มิได้เป็น 1 ปีเต็มอีกแล้ว

Advertisement

ปลายปีอาจหมายถึงตั้งแต่เดือนตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม

เท่ากับเวลาที่เหลือในการตระเตรียมเพื่อเข้าสู่กระบวนการของ “การเลือกตั้ง” อยู่ในกำหนดไม่น่าจะมากกว่า 9 เดือน ซึ่งหมายถึงไม่เกิน 270 กว่าวัน

เห็นหรือไม่ว่า “กระชั้น” เพียงใด

เป็นอันคาดหมายได้เลยว่า เสียงเร่งเร้า เสียงเรียกร้องในเรื่อง “ปลดล็อก” จากพรรคการเมืองจะต้องกระหึ่มขึ้น

โดยมี “คสช.” และ “รัฐบาล” เป็นเป้าหมาย

ที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ออกมาพูด ที่นายอำนวย คลังผา ออกมาพูดที่ นายสมคิด เชื้อคง ออกมาพูด

นับวันจะยิ่งเพิ่ม “ความถี่” ขึ้น

เป็นไปได้ว่าจะมีการประสานเสียงมาจาก นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ

ทั้ง “เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” เห็นตรงกัน

เพราะยิ่งระยะเวลา “ปลดล็อก” เนิ่นยาวออกไป ยิ่งทำให้ความพร้อมของการตระเตรียมของพรรคการเมืองเป็นประเด็น เป็นปัญหา

และที่สุด “คสช.” กับ “รัฐบาล” จะกลายเป็น “จำเลย”

เพราะ “คสช.” ไม่ได้มาดหมายที่จะเข้าสู่สนาม “เลือกตั้ง” เพราะจำนวน 250 ส.ว.ที่จะมีการลากตั้งในมือก็เป็นหลักประกันอย่างเพียงพอแล้ว

เท่ากับมี “พรรค ส.ว.” เป็น “กระดานหก” ทางการเมือง

พลันที่บรรยากาศทางการเมืองเข้าสู่ “โหมด” ของ “การเลือกตั้ง” นั่นหมายถึงบรรยากาศและการขับเคลื่อนในเรื่อง “การหาเสียง”

มี 2 ประเด็นที่จะต้องมีการเอ่ยถึง

1 ประเด็นอันเกี่ยวกับการรัฐประหาร และ 1 ประเด็นอันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอันเป็นตัวบทพื้นฐานในทางการเมือง

เมื่อเป็น “รัฐประหาร” หมายความว่า “คสช.” ต้องเป็นเป้าหมาย

ทุกพรรคการเมืองไม่ว่า “หน้าเก่า” ไม่ว่า “หน้าใหม่” จะต้องตอบคำถามในเรื่องรัฐประหารต่อประชาชน และตรงนี้ก็จะสัมพันธ์กับ “รัฐธรรมนูญ” เพราะรัฐธรรมนูญ คือ ผลิตผลอันเนื่องแต่กระบวนการ “รัฐประหาร” และคำถามในเรื่อง “สืบทอดอำนาจ” จะกระหึ่มขึ้นมาอย่างยากที่จะทัดทานได้

“คสช.” กลายเป็น “คู่กรณี” แม้จะอ้างว่าไม่ลง “เลือกตั้ง”

ระยะเวลาที่เหลือตลอด 1-2 เดือนก่อนลงคะแนนเสียง “เลือกตั้ง” คือบททดสอบต่อ “คสช.” อันร้อนแรงยิ่ง

มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ “โรดแมป” จะเกิดการแปรเปลี่ยนในลักษณะเนิ่นช้า ทอดยาวออกไป

หากประเมินจาก “น้ำเสียง” และ “คำยืนยัน” ไม่ว่าจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ยากถึงขั้นที่จะต้องเขียนว่า “ยากส์”

แต่คำถามก็คือ “คสช.” เตรียมความพร้อมเพียงใดในการเข้าสู่ “มรสุมโลหิต” ครั้งใหม่ในทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image