พรรคเมินการศึกษา กินไม่ได้ ขายไม่ออก

พรรคเมินการศึกษา กินไม่ได้ ขายไม่ออก

พรรคไทยสร้างไทยประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งตั้งแต่ไก่โห่ ให้บำนาญประชาชนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปตลอดชีพ คนละ 3,000 บาทต่อเดือนทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจนได้สิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งคนที่เสียภาษี และไม่มีความสามารถเสียภาษี

พอการเมืองคึกคักขึ้นตามลำดับ พรรคพลังประชารัฐ เกทับหรือไม่ ต่างคนต่างคิดกันไปเอง ให้เป็นขั้นบันได ตามสูตร 3-4-5 ทุกเดือน แปลความออกมาเป็นว่า 3,000 บาท สำหรับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 4,000 บาท สำหรับคนอายุ 70 ปีขึ้นไป 5,000 บาทสำหรับคนอายุ 80 ปีขึ้นไป ติดตามมาด้วยเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นเดือนละ 700 บาท

ถึงคิวรวมไทยสร้างชาติออกโรงบ้าง หนักขึ้นไปอีก ประกาศเพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัสเป็น 1,000 บาท/เดือน และใช้สิทธิฉุกเฉินกู้ได้อีก 10,000 บาท

Advertisement

ครับ ที่ผมยกคำโฆษณาหาเสียงของแค่บางพรรคมาชวนสนทนาการเมืองโดยไม่ได้กล่าวถึงพรรคอื่นๆ ที่เหลือ ไม่ใช่เพราะอคติ รัก ชอบชังด้วยความลำเอียงใดๆ

เพียงแต่ต้องการยกเป็นตัวอย่างสะท้อนภาพการแข่งขันทางนโยบายแบบประชานิยม ลด แลก แจก แถม สุดขั้ว รวมถึงพรรคที่ไม่ได้เอ่ยนาม ถามถึงทั้งหลายแหล่ด้วย

ขณะที่มีคำถามจากนักเศรษฐศาสตร์ระดับนำของประเทศ อาทิ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ว่านโยบายจาก 8 พรรค จำนวน 50 นโยบาย ต้องใช้งบประมาณมหาศาล หลายแสนล้านบาท

Advertisement

ฯพณฯ ผู้ทรงเกียรติจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย เมื่อไม่มีพรรคไหนยอมเสียแต้มบอกว่า จะขึ้นภาษี ก็ต้องใช้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐหรือไม่ก็ต้องกู้เงิน จะกลายเป็นภาระของลูกหลานในอนาคต

จนถึงวันนี้ ใกล้ยุบสภาก่อนวันที่ 23 มีนาคม 2566 แน่นอน ยังไม่มีคำตอบ คำอธิบายใดๆ จากพรรคการเมืองไหนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

นอกจากคำสัญญาหอมหวานที่ว่า ทำแน่นอน ทำทันที ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ฯลฯ ถ้าได้เป็นรัฐบาล

คนฟังก็ชักเคลิ้ม เริ่มมีความหวังสิครับ กับคำสัญญาที่ว่า ทำแน่ถ้าได้เป็นรัฐบาล

แต่พอมาฉุกคิดอีกรอบรัฐบาลที่ว่านั้น รัฐบาลพรรคเดียวหรือรัฐบาลผสม กลับไม่ยอมเขียนหรือพูดผูกมัดชัดเจน เลยถึงบางอ้อ สัญญาแบบนี้หมกเม็ดนี่หว่า

แปลไทยเป็นไทย คือ ถ้าเป็นรัฐบาลพรรคเดียวก็อาจจะทำตามสัญญา แต่ถ้าเป็นรัฐบาลผสมต้องเอานโยบายของพรรคโน้นพรรคนี้มายำใหญ่รวมกันเป็นนโยบายใหม่ สิ่งที่เคยหาเสียงไว้ แล้วก็แล้วกันไป ไม่ได้ทำ ไม่ถือว่าผิดสัญญา

สภาพการณ์อย่างนี้แหละครับถึงเป็นที่มาของคำว่า การเมืองไทย การเมืองศรีธนญชัย เอาตัวรอดไปวันๆ ขอให้ได้คะแนนเสียงชนะคู่แข่ง จนได้เป็นฝ่ายรัฐบาลไว้ก่อน เป็นฝ่ายค้านอดอยากปากแห้ง

สาระนโยบายในเวทีปราศรัยหาเสียงจึงมุ่งให้น้ำหนักไปที่ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจเฉพาะหน้าระยะสั้น ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันก่อนอื่นๆ เพราะคิดว่าได้ผลเป็นรูปธรรม กินได้ จับต้องได้

ขณะที่นโยบายด้านอื่นโดยเฉพาะการศึกษา สังคม วัฒนธรรม เป็นนโยบายอันดับรองทั้งๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญ ส่งผลดีในระยะยาวทั้งต่อชีวิตคนและชีวิตประเทศ กลับไม่ได้ผลักดันนำมาสร้างจุดขายอย่างหนักแน่น ฮือฮา เท่าที่ควร

เพราะฐานคิดที่ว่า การศึกษาเป็นเรื่องระยะยาว เป็นเรื่องทางเทคนิควิชาการ หนักสมอง กินไม่ได้ ขายไม่ออก สู้เติมเงิน ลดแลกแจกแถมสารพัดบัตรไม่ได้ ของตาย กินได้ ดีกว่า

ด้วยวิธีคิดและพฤติกรรมขอมีอำนาจไว้ก่อนนี่แหละ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ การศึกษาไทยวิกฤต อยู่ขณะนี้

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ถูกคัดค้าน ต่อต้าน ด้วยอัตตา ประโยชน์แห่งตน แห่งพรรค จนถูกแช่แข็ง มองไม่เห็นอนาคตจะไปต่ออย่างไร

ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ไม่มีพรรคไหนหยิบยกขึ้นมาประกาศจุดยืนโฆษณาหาเสียงที่ชัดเจน จนสื่อมวลชนทวงถาม “นโยบายการศึกษา เรื่องใหญ่ที่พรรคการเมืองเมิน”

ถ้าความจำไม่เลอะเลือนเสียก่อน 8 ปีที่ผ่านมา เสียงเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งรวมทั้งปฏิรูปการศึกษา ดังสนั่นหวั่นไหว

แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคงมีแต่เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ไว้ดูต่างหน้า

กรอบความเห็นร่วม ปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา ผลิตโดยคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ 2557

หน้า 9 เขียนไว้ว่า จัดการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นวาระแห่งชาติ ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบที่ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการศึกษา เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 39 หมวด 5 กำหนดให้มีการกระจายอำนาจการ
บริหารและจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคลและการบริหารงานทั่วไป ไปยังคณะกรรมการและสำนักงานการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง และการเร่งรัดออก พ.ร.บ.ฉบับใหม่เพื่อให้สอดรับกับการปฏิรูปการศึกษา

เป็นหลักฐานยืนยันว่า รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีการคิด วางแผน เตรียมการต่างๆ ไว้แล้วว่าจะต้องทำอะไรบ้างต่อจากนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image