‘มัดมือมัดเท้า’การพัฒนา

‘มัดมือมัดเท้า’การพัฒนา

ถึงวันนี้ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งคำตอบยังคงมีแค่ 2 ทาง คือ แคนดิเดตจาก “เพื่อไทย” หรือไม่ก็จาก “รวมไทยสร้างชาติ”

ฟากหนึ่งที่เปิดตัวมาแล้วคือ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” หรือไม่ก็ “เศรษฐา ทวีสิน” ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเป็น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” คนเดียวโดดๆ

ความน่าสนใจอยู่ยังอยู่ที่ “เพื่อไทย” ต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก เพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเกินครึ่ง ถึงวันนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 310 ส.ส.แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากจำเป็นต้อง “ก้าวข้าม 250 ส.ว.” ให้ได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

Advertisement

โอกาสที่ “เพื่อไทย” จะชนะเลือกตั้ง ในความหมายของ “พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด” นั้นไม่มีใครปฏิเสธ เป็นความเชื่อของทุกคนทุกฝ่าย

ที่ดีงามแบบนั้น ใช้ไม่ได้แล้วกับประชาธิปไตยที่ถูกออกแบบใหม่เพื่อสนองการ “สืบทอดอำนาจ” 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว

ถ้าเป็นธรรมเนียมของประชาธิปไตยเมื่อก่อน การได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดขึ้นทันที และไม่มีทางที่ล้มเหลว เพราะทุกพรรคจะรีบเข้าขอเป็นส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาล ใครเข้ามาช้าหมายถึงโอกาสที่จะต้องน้อยลง เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงพอที่จะรับประกันเสถียรภาพแล้ว

Advertisement

แต่ธรรมเนียมประชาธิปไตย

การให้ 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของการสืบทอดอำนาจมีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรี เป็นการทำลายธรรมเนียมที่เคารพการตัดสินใจของประชาชน

เปิดทางให้การสืบทอดอำนาจเกิดขึ้นได้ง่าย

ทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่คือ พรรคที่ไม่ชนะการเลือกตั้งเกิดความหาญกล้าที่จะเป็น “พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” โดยอาศัย 250 ส.ว. มามีอำนาจต่อรองให้พรรคต่างๆ เลือกข้าง ว่าระหว่าง “พรรคที่ประชาชนมอบอำนาจให้” กับ “พรรคที่จะได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.” จะต้องเลือกใคร

พรรคการเมืองที่เอาความต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจรัฐ มากกว่าที่จะสนับสนุนเคารพการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ ถูกอำนาจของ ส.ว.ชี้นำให้ร่วมกันทำให้ธรรมเนียมประชาธิปไตยที่ดีงามผิดเพี้ยน

และพฤติกรรมใหม่ของ “พรรคการเมือง” ดังกล่าวนี่เองที่ทำให้ “รวมไทยสร้างชาติ” เป็นคู่ชิงเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” กับ “เพื่อไทย”

ทั้งที่รับรู้กันอยู่ว่า “รวมไทยสร้างชาติ” นั้น ไม่มีทางที่จะได้ ส.ส.มากกว่าพรรคเพื่อไทย

ทว่าโครงสร้างการเลือกตั้งที่เอื้อให้ผลการเลือกตั้งเป็นเบี้ยหัวแตก พร้อมกับมีกลไกอำนาจมากมายที่เชื่อว่าสามารถจัดการไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งชนะเลือกตั้งแบบเบ็ดเสร็จ

การช่วงชิงรวบรวมเสียง ส.ส.จากสารพัดพรรคเพื่อให้ได้เสียง ส.ส.มากที่สุด ทั้งที่เป็นวิธีการที่ใช้อำนาจ 250 ส.ว. มาเป็นแรงกดดัน ไม่แฟร์กับการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ กลายเป็นความชอบธรรม

การเมืองประเทศไทยดำเนินไปเช่นนี้

โอกาสที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้จึงมีแต่มาจาก “เพื่อไทย” ที่ต้องได้รับเลือกตั้งเข้ามามากในระดับ “ก้าวข้าม ส.ว.” ได้ หรือไม่ก็เป็น “รวมไทยสร้างชาติ” ที่อาศัยบารมี     “พล.อ.ประยุทธ์” ใช้ “ส.ว.” เป็นฐานพลังอำนาจ

หาก “เพื่อไทย” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ การบริหารจัดการประเทศที่มี ส.ว.ควบคุมความเป็นไปในรัฐสภา จะเป็นอุปสรรคใหญ่ในการดำเนินนโยบายบริหารจัดการประเทศ

เช่นเดียวกันหาก “พล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งใช้ฐาน ส.ว.กดดันให้เกิดการสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่ละเลยต่อธรรมเนียมประชาธิปไตยที่ดีงาม ย่อมมองไม่เห็นว่า “เสถียรภาพรัฐบาล” จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

การใช้อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน ย่อมเกิดข้อกังขา และก่อปัญหามากมายต่อการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อันส่งผลกระทบต่อความสง่างามของรัฐบาล

สภาพเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกว่า วิถีการเมืองไทยที่เป็นอยู่ ไม่เอื้อต่อการเกิดขึ้นได้ของรัฐบาลที่มีศักยภาพบริหารประเทศอย่างเต็มที่

โครงสร้าง “สืบทอดอำนาจ” กับ “อำนาจประชาชน” ยังเดินไปคนละทาง และส่งผลให้ประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาประเทศอย่างเหมาะสมกับการใช้ทรัพยากรทุกด้านของชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต้องมีอุปสรรคมากมาย

จึงเกิดคำถามขึ้นมา ไม่มีใครทำอะไรที่ดีกว่านี้ให้กับประเทศชาติและประชาชนได้หรือ

อะไรที่ทำให้ ใครก็ทำอะไรไม่ได้

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image