แจกเงินคนจน-บริโภคนิยม :โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

กิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคม อันเป็นผลจากนโยบายลด แลก แจก แถม อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริโภค จับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า บริการและการท่องเที่ยวเพื่อสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีในช่วงเดือนปลายปีเก่าต่อเนื่องปีใหม่ เป้าหมายเพื่อควักกระเป๋าคนชั้นกลาง คนมีอันจะกินเป็นหลัก

อีกด้านหนึ่งคนจนกำลังทยอยกันตรวจสอบรายชื่อตามธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารกรุงไทย เพราะไม่แน่ใจว่าชื่อตัวเองผ่านการพิจารณาเข้าข่ายเป็นคนจนที่จะได้รับเงินนี้หรือไม่ อัตราไหน คนละ 3,000 บาท หรือ 1,500 บาท เพราะวันเวลาจ่ายเลื่อนออกไปจากวันที่ 1 ธันวาคม 2559 เนื่องจากเกิดกระแสข่าวว่ามีคนจนปลอม กับต่างด้าวเข้ามาแอบสวมสิทธิ

โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐหรือมาตรการแจกเงินผู้มีรายได้น้อย คนยากจนหรือคนอยากจนนี่แหละครับ น่าวิเคราะห์ ติดตามผลศึกษาวิจัยเปรียบเทียบเพื่อหาความจริงที่แท้ ใครคือคนจน

หลายต่อหลายรัฐบาลที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายและมาตรการรองรับมีหลากหลายรูปแบบ หลักเกณฑ์วิธีคิด การจำแนกประเภทคนจน คนไหนเข้าข่าย จนกระทั่งวิธีการช่วยเหลือ พัฒนามาตามลำดับแตกต่างกันไป

Advertisement

มาตรการล่าสุดตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 โครงการลงทะเบียนคนจน ถือหลักเกณฑ์พิจารณาจากรายได้เป็นฐาน หากมีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี เฉลี่ยเป็นรายเดือนตกประมาณ 8,333 บาท จัดว่าเป็นคนจน ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าจะมีจำนวน 5.4 ล้านคน ใช้เงินทั้งสิ้น 12,750 ล้านบาท

ขณะที่วิธีคิดอีกด้านหนึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) คิดเกณฑ์คนจนจากเส้นแบ่งความยากจน จากรายจ่ายต่อเดือนต่ำกว่า 2,647 บาท ในปี 2558 จะมีจำนวนคนจนทั้งสิ้น 7.21% จากจำนวนประชากรทั่วประเทศ หรือประมาณ 4.8 ล้านคน

ความแตกต่างของวิธีคิด หลักเกณฑ์การวัดความจนเพื่อหาจำนวนคนยากจนที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือ ระหว่างคิดจากฐานรายได้กับฐานรายจ่าย ทำให้ตัวเลขคนยากจนแตกต่างกันนับล้านคน ซึ่งกระทบถึงงบประมาณที่จะนำไปใช้ตามโครงการในแต่ละปี

Advertisement

ทำให้เกิดคำถามว่า แท้จริงแล้วจำนวนคนจนแต่ละปีเพิ่มขึ้นหรือลดลง ช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนมีกับคนจนลดลงหรือยิ่งถ่างมากขึ้น

การดำเนินโครงการช่วยเหลือคนจนโดยวิธีการจดทะเบียนคนจน จำเป็นต้องทำทุกครั้งทุกปีที่มีนโยบายและมาตรการใหม่ๆ ออกมาหรือไม่ ซึ่งสะท้อนถึงระบบและกระบวนการแก้ปัญหาความยากจนที่ขาดความเชื่อมโยงและต่อเนื่อง เหตุเพราะระบบฐานข้อมูลคนจนไม่ได้มาตรฐานและไม่ตรงกับความเป็นจริง

การดำเนินโครงการแทนที่จะขึ้นอยู่กับจำนวนคนจนที่เข้าเกณฑ์ควรได้รับการช่วย เหลือจริงๆ แต่ขึ้นอยู่กับเม็ดเงินที่รัฐบาลแต่ละคณะไปควักหามาได้ และเป้าหมายทางการเมือง เพื่อหาคะแนนนิยมเป็นหลัก ไม่ว่าในนามของประชานิยมหรือประชารัฐก็ตาม

สาเหตุที่การดำเนินโครงการช่วยเหลือคนจนขาดความเชื่อมโยงและต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างทำ องค์กรเจ้าภาพเปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเวลา บางรัฐบาลให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก บางรัฐบาลให้กระทรวงการคลังเป็นหลัก บางรัฐบาลให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯเป็นหลัก แม้มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัล เป็นหน่วยสนับสนุนทางวิชาการก็ตาม ระบบข้อมูลสารสนเทศ ตัวเลข 13 หลักยังไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง

หากมีองค์กรหรือหน่วยงานประจำทำหน้าที่รับผิดชอบระบบฐานข้อมูล ระบบการบริหารจัดการ การติดตามวิเคราะห์ประเมินผลที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ การจดทะเบียนคนจนเป็นรายปี หรือรายรัฐบาล ก็ไม่จำเป็นต้องทำกันใหม่ทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

ความเป็นจริงเกี่ยวกับจำนวนคนจน ลักษณะปัญหาความยากจนลดลงหรือเพิ่มขึ้น จะมีคำตอบที่ถูกต้องชัดเจนขึ้น

การปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อหาคะแนนเสียง ใช้คนจนเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะทำได้ยากขึ้น แต่เป็นการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือคนจนจริงๆ จากฐานข้อมูลที่แท้จริง

ยิ่งรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย ส่งเสริมวัฒนธรรมบริโภคนิยมมากเท่าไหร่ คนจนก็จะตกเป็นเหยื่อมากเท่านั้น คนอยากจนก็ยิ่งมากขึ้นสวนทางกับวัฒนธรรมด้านตรงข้ามที่ดีและควรส่งเสริมให้มากพอๆ กัน คือ การออม ประหยัด มัธยัสถ์

หากระบบฐานข้อมูล ระบบการบริหารจัดการ ถูกปฏิรูปอย่างจริงจังไม่เปลี่ยนไปมาบ่อยๆ ตามรัฐบาล คนจนที่ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองก็จะลดลงกว่าที่ผ่านมา

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image