‘แค่ได้คิดถึง’ โดย ปราปต์ บุนปาน

สำหรับบางคน บางกลุ่ม กิจกรรมล้อการเมือง ผ่านหุ่นกระดาษขนาดใหญ่ ป้ายผ้า และการแปรอักษร ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่เพิ่งผ่านพ้นไป อาจถือเป็นการพยายามสร้างความปั่นป่วน ที่ก้าวร้าว น่ารำคาญ ไม่น่ารัก ของเด็กๆ (ซึ่งถูกยุยง) บางพวก

แต่สำหรับอีกหลายคน กิจกรรมเหล่านั้นกลับถือเป็นเครื่องช่วยระบายความอัดอั้นตันใจอันทรงประสิทธิภาพ เปี่ยมอารมณ์ขัน ลุ่มลึก และเจ็บแสบ ท่ามกลางบรรยากาศทางสังคมที่ยังไม่คืนสู่สภาพปกติ

นอกจากนี้ หากพิจารณาดีๆ การแปรอักษรของฝั่งธรรมศาสตร์ ในงานบอลฯ ครั้งที่ผ่านมา ยังมีแง่มุมงดงามเจือเศร้าสร้อยปะปนอยู่ด้วย

“แค่ได้คิดถึง” เป็นเพลงที่โด่งดังพอสมควรในหมู่วัยรุ่น เมื่อช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 2540

Advertisement

เพลงเพลงนี้อยู่ในอัลบั้ม “Yarinda” ของ “ญารินดา บุนนาค” นักร้องสาวมาดเท่ ย้อมผมสีชมพูสะดุดตา แถมยังเป็นนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล ที่ออกวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2544

เนื้อหาของเพลงเป็นเรื่องราวรักใคร่ระหว่างวัยรุ่น ซึ่งสุดท้ายต้องเลิกรากัน ทว่า ความทรงจำ ความคิดถึง ความรู้สึกดีๆ ที่มีให้กัน ยังคงระอุคุกรุ่นอยู่ในใจ

อาจดูเป็นเนื้อหาธรรมดาๆ ไม่แปลกใหม่ แต่พอถูกเล่าผ่านการเขียนคำร้องคมๆ ของ “สีฟ้า” มือประพันธ์เนื้อร้องรุ่นเก๋าประจำค่ายแกรมมี่ คลอไปกับท่วงทำนองเพราะๆ ที่แต่งและเรียบเรียงโดย “บรูโน บรุญญาโน” โปรดิวเซอร์ชาวอิตาเลียน ซึ่งเป็นมือดีมีงานชุกคนหนึ่งของอุตสาหกรรมเพลงไทยช่วงนั้น

Advertisement

“แค่ได้คิดถึง” ก็กลายเป็นเพลงฮิตโดนใจ และเพลงในความทรงจำของใครหลายคน

14-15 ปีให้หลัง “แค่ได้คิดถึง” ถูกรื้อฟื้นชีวิตและสอดใส่จิตวิญญาณใหม่ๆ ลงไป เมื่อมันถูกนำมาใช้เป็นเพลงสำคัญประจำหนังไทยเรื่อง “สแน็ป : แค่…ได้คิดถึง” ผลงานการกำกับของ “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” ที่เพิ่งออกฉายระหว่างช่วงปลายปี 2558-ต้นปี 2559

ผู้ชมบางส่วนเห็นว่าสแน็ปฯ เป็นหนังที่มีความโดดเด่น เพราะพูดถึงบริบททางการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2549-2557 ได้อย่างคมคาย ละเอียดลออ และมีแง่มุมแฝงเร้นชวนฉุกคิดอยู่มากมายหลายประเด็น

โดยเฉพาะการซัดคนดูด้วยคำถามที่ว่า ทำไมอะไรต่อมิอะไรมันจึงไม่คืบหน้าไปไหนเลย ตลอดระยะเวลา 8 ปีดังกล่าว?

มองเผินๆ เพลง “แค่ได้คิดถึง” คล้ายจะถูกใส่เข้ามาในภาพยนตร์ของคงเดช เพื่อสื่ออารมณ์ของตัวละครหนุ่มสาวสองคน ที่เคยมีความรักแบบวัยรุ่นด้วยกัน ทว่า มิอาจจะรักกันได้ ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน

แต่ขณะเดียวกัน เมื่อหนังพยายามสอดแทรกสถานการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยเข้ามาเป็นฉากหลัง

คนดูจึงอาจตั้งคำถามต่อได้ว่า นอกจากความรักที่เป็นไปไม่ได้ของตัวละครสองคน เนื่องจากพื้นฐานครอบครัว-เครือข่ายทางสังคมที่แตกต่าง วิถีชีวิต-การมองโลกที่ไม่คล้ายคลึง ทั้งยังมีบาดแผลความทรงจำระหว่างกันแล้ว

อะไรบ้างคือสิ่งที่ผู้คนนอกโรงหนังทำได้เพียงถวิลหา แต่มิอาจไขว่คว้ามาครอบครองในโลกความจริง?

จากเสียงร้องของญารินดา สู่ภาพเคลื่อนไหวของคงเดช สุดท้าย “แค่ได้คิดถึง” ก็มาปรากฏเด่นเป็นข้อความ “ฮุค” ปิดฉากการแปรอักษรล้อการเมืองของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 71

โดยมีภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งอยู่เคียงคู่ข้อความ “แค่ได้คิดถึง ก็เป็นสุขใจ” อันเป็นเนื้อร้องท่อนหนึ่งของเพลงเพลงนี้

เพลงรัก (ร้าง) ที่งดงาม จึงค่อยๆ ขยับเคลื่อนเข้ามาซ้อนทับกับคำถามทางการเมืองร่วมสมัยอย่างแนบสนิท

ในภาวะที่สิ่งก่อสร้างบางชนิด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์/ภาพแทนของคุณค่า หลักการ บางประการ กำลังถูกโหยหา หากยังไม่มีอยู่จริง

 

(ที่มาภาพ:ขบวนการประชาธิปไตยใหม่)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image