คำขาด เส้นตาย สำคัญ ทรงความหมาย ’10 ธันวาคม’

หากมองตาม “คำขาด” อันมาจากทั้ง 1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทั้ง 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) วันที่ 10 ธันวาคม

สำคัญ และ ทรงความหมาย

เพราะนี่คือ “เส้นตาย” ล่าสุดอันเป็นกำหนดให้ พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เข้ามอบตัวในคดีรับของโจรและฟอกเงิน

เป็น “เส้นตาย” ที่ “ดีเอสไอ” มอบให้กับ “พศ.”

Advertisement

เป็น “เส้นตาย” ที่ นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ร่วมรับรู้พร้อมกับ พระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี

นำไปสู่โต๊ะ “เจรจา”

เป็นความต่อเนื่องจากการเจรจา ณ สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นความต่อเนื่องจากการเจรจา ณ วัดพระธรรมกาย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม

Advertisement

ถือว่าวันที่ 10 ธันวาคม เป็น “คำขาด” และ “เส้นตาย” ล่าสุด

หากว่าในวันที่ 10 ธันวาคม สถานการณ์เป็นเหมือนกับคำขาดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน เท่ากับว่า “คำขาด” นี้จะกลายเป็น “เส้นตาย” ให้กับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วย

นี่คือ “บูมเมอแรง” สำคัญและทรงความหมาย

สําคัญเพราะว่า ไม่ว่าจะการยื่น “คำขาด”

ไม่ว่าจะเป็นการขีด “เส้นตาย” กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า

เป็นการดำเนินการตามหลักแห่ง “กฎหมาย”

บรรทัดฐานนี้ได้รับการรับรองอย่างหนักแน่นทั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

จึงมอบหมายให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เมื่อเป็นรัฐมนตรี “ยุติธรรม” รับผิดชอบ

แม้ว่า ณ วันนี้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่ภาระหน้าที่นี้ก็ตกอยู่บนบ่าของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้รักษาการแทน

หากมองจากความเป็น “นักกฎหมาย” ของ นายวิษณุ เครืองาม การได้รับมอบหมายให้รักษาการในตำแหน่งนี้ยิ่งเพิ่มความสำคัญ

ไม่มีอะไรเลยที่จะทำให้ “ดีเอสไอ” และ “ตำรวจ” บังเกิดความลังเล

ขณะเดียวกัน หากกล่าวจากความพยายามในการสร้างความชอบธรรมและในการสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชน

แทบไม่มี “ปัจจัย” อะไรทำให้ไม่สามารถ “เดินหน้า” ได้

ยิ่งกว่านั้น หากคำนึงถึงความคาดหวังอันมาจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งเกาะติดกรณีของวัดพระธรรมกายตั้งแต่ยังเป็นสมาชิก สปช.อยู่

ยิ่งทำให้ “ปฏิบัติการ” มากด้วย “ความหมาย”

จากสภาพความเป็นจริงนับแต่วันที่ 2 ธันวาคมเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็น “ดีเอสไอ” ไม่ว่าจะเป็น “ตำรวจ” แทบไม่เหลือหนทางอื่น

นอกจากการบุกเข้าไปใน “วัด”

เพราะว่า “ดีเอสไอ” ได้ให้โอกาสกับ พระเทพญาณมหามุนี แล้วอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกระบวนการของการเจรจา

เหมือนกับเป็นการเจรจาให้ “ต่อรอง” แต่ความจริง “ไม่ใช่”

ตัวแทนทางด้าน “วัดพระธรรมกาย” อาจยืนยันและพยายามต่อรอง แต่หลักการอัน “พศ.” รับมาจาก “ดีเอสไอ” มีเป้าหมายเดียวเท่านั้น

คือ เจรจาให้ พระเทพญาณมหามุนี “มอบตัว”

เมื่อทาง พระเทพญาณมหามุนี ปฏิเสธ เมื่อทางวัดพระธรรมกายไม่สะท้อนให้เห็นว่าจะปฏิบัติตามมาตรการที่ดีเอสไอเสนอ

ก็มีหนทางเดียวเหลืออยู่ คือ การบุกเข้าไป “จับกุม”

หาก “ดีเอสไอ” ไม่ปฏิบัติตามแผน หาก “ดีเอสไอ” ไม่ร้องขอกำลังและความช่วยเหลือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในที่สุด “ดีเอสไอ” ก็จะมีแต่ “เสีย”

จากนี้จึงเห็นได้อย่างเด่นชัดยิ่งว่า คำขาดที่กำหนดเป็น “10 ธันวาคม” จึงเป็นเหมือนกับ “ไฟต์บังคับ”

ยากเป็นอย่างยิ่งที่ “ดีเอสไอ” จะไม่ขอกำลังและอุปกรณ์จาก “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” เพื่อทำให้หมายจับบรรลุตามเป้าหมาย และเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นเหมือนที่เคยเกิดเมื่อเดือนมิถุนายนอีก

วันที่ 10 ธันวาคม จึงสำคัญและทรงความหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image