ก้าวข้ามความขัดแย้ง

ก้าวข้ามความขัดแย้ง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ประกาศจุดยืนทางการเมืองผ่านจดหมายเปิดผนึก 5 ฉบับ ขอก้าวข้ามความขัดแย้ง

นักสังเกตการณ์ทางการเมืองอ่านแล้วก็มองออกว่าเป็นยุทธศาสตร์เพื่อพิชิตชัยชนะในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ โดยเสนอแนวทางเป็นคนกลาง เป็นกาวใจประสานความร่วมมือกับทุกพรรค ทุกฝ่าย ก้าวข้ามความขัดแย้งที่ผ่านมาและเดินหน้าไปด้วยกัน

ประเด็นต่อไปมีว่า ความขัดแย้งในเรื่องใด ใครคือคู่ขัดแย้ง

Advertisement

คงหนีไม่พ้น ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายก้าวหน้ากับฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ การรวมศูนย์อำนาจกับการกระจายอำนาจ พรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ส.ส.กับ ส.ว. คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ลงลึกถึงตัวบุคคลก็ว่า ฝ่ายเอา พล.อ.ประยุทธ์ กับไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ฯลฯ

การเสนอแนวทางก้าวข้ามความขัดแย้งดังกล่าว ตอบโจทย์ถูกไหม หมดไหม

ที่สำคัญผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่จะรับซื้อสิ่งที่ พล.อ.ประวิตรและพรรคพลังประชารัฐเสนอขายหรือไม่ ผลการเลือกตั้งที่ปรากฏจะเป็นคำตอบในที่สุด

Advertisement

การเสนอแนวทางสายกลาง ประนีประนอมเพื่อให้มีโอกาสเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลเป็นสำคัญก่อนอื่น ตอบโจทย์ถูกในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นผลตอบแทนในระยะสั้น ได้อำนาจเป็นฝ่ายบริหาร

ขณะนี้ปัญหาความขัดแย้งที่ส่งผลในระยะยาว ในระดับโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ยังดำรงคงอยู่ไม่ถูกขจัดปัดเป่าออกไป

นั่นก็คือ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีความพยายามผลักดันแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า

จนหลายฝ่ายตั้งความหวังว่า ผลการเลือกตั้งจะเป็นหนทางนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อมองลงไปในรายละเอียด มาตราหลักที่ทำให้เกิดความขัดแย้งไม่จบไม่สิ้น หนีไม่พ้น มาตรา 272 ว่าด้วยอำนาจวุฒิสมาชิกในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา

กับหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (3) การลงคะแนนเสียงวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา 84 คนจาก 250 คน

(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ขั้นสุดท้าย ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ย้ำนะครับ ทั้งวาระแรกและวาระสาม ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วย 84 คน ถ้าหาได้ไม่ครบก็จบกัน

บทบัญญัติทั้งสองมาตรานี้ เขียนเป็นเงื่อนไขผูกมัดหลายชั้น ทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความยากลำบาก เกิดปัญหาความขัดแย้งตลอดมา

ทั้งๆ ที่แนวทางที่เหมาะสมกว่า คือ การลงมติให้ความเห็นชอบทั้งวาระแรกและวาระที่สาม เพียงใช้เสียงข้างมากของทั้งสองสภาก็เพียงพอแล้ว

ฉะนั้น เมื่อต้นเหตุแห่งความขัดแย้งอันเนื่องมาจากตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกแก้ไขให้ดีขึ้น หรือขจัดปัดเป่าไป ปัญหาความขัดแย้งก็ยังดำเนินต่อไปไม่รู้จบ

การเสนอแนวทางก้าวข้ามความขัดแย้งโดยหลักการคนส่วนใหญ่น่าจะเห็นด้วย แต่ต้องมีความชัดเจนในรายละเอียด วิธีการ ขั้นตอน กระบวนการดำเนินงานที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

พล.อ.ประวิตรและพรรคพลังประชารัฐ จะมีคำตอบให้กับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในเรื่องนี้ว่าอย่างไร

จะสามารถต่อรอง โน้มน้าว ชักจูงให้พรรคที่จะเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาล เดินไปในแนวทางเดียวกันสำเร็จหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิสมาชิกจะยินยอมลดอำนาจ บทบาทลงแค่ไหน

ตัวอย่าง จากการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีเพียง 23 คนเท่านั้นที่ยอมตัดอำนาจตัวเอง

ได้แก่ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ นายคำนูณ สิทธิสมาน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายบรรชา พงศ์อายุกูล นางประภาศรี สุฉันทบุตร นายประมนต์ สุธีวงศ์ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ นายพิศาล มาณวพัฒน์ นายมณเฑียร บุญตัน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายวันชัย สอนศิริ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล นายอำพล จินดาวัฒนะ ที่เหลือไม่ยินยอม

ผมเลยเอามาบันทึกไว้อีกครั้ง ด้วยความชื่นชมและจะติดตามดูต่อไป

ฉะนั้นไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร รูปร่างหน้าตาของรัฐบาลจะเป็นฝ่ายใด หากยังไม่สามารถปลดล็อกเงื่อนไขความขัดแย้งอันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ

การเมืองไทยหลังเลือกตั้งก็ยังคงสภาพลุ่มๆ ดอนๆ ต่อไป ยากที่จะสงบลงได้แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image