แชร์ก็ผิด ไลค์ก็ผิด ชีวิตดี

ไม่นานมานี้ มีข่าวหนึ่งที่ทำให้หลายคนเกิดความไม่สบายใจ นั่นคือการเข้าจับกุมเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เพราะเขากดแชร์ข่าวบางข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ และข่าวดังกล่าวไปพาดพิงเบื้องสูง ปัจจุบันเด็กหนุ่มคนดังกล่าวได้รับการประกันตัวแล้วด้วยเงินสี่แสนบาท

อีกต่อมาไม่นาน สำนักข่าวประชาไท รายงานข่าว หัวข้อข่าวว่า “คนใช้เฟซบุ๊กโดนด้วย! ตำรวจเริ่มมาตรการใหม่เรียกตัวคนกดไลก์-ติดตาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” โดยในเนื้อข่าว เล่าเรื่องถึงผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อพิมพ์ (นามสมมุติ) ที่ไม่ได้เป็นผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็ติดตามเพจของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และเพจของ BBC ไว้ ต่อมาเธอโดนตำรวจ ปอท. เรียกเข้าไปพูดคุย เพราะไปกดไลค์ และแชร์โพสต์ที่หมิ่นเหม่ เธอเล่าว่าเธอเป็นแค่คนที่สนใจการเมืองบ้าง เมื่ออาจารย์สมศักดิ์โพสต์เรื่องนี้จึงกดไลค์ไว้เพราะตั้งใจว่าจะเข้ามาอ่านทีหลัง

หากเราตัดประเด็นเรื่องหมิ่นเหม่เบื้องสูงออกไปก่อนนะครับ และลองพิจารณาว่าการกดไลค์ หรือกดแชร์โพสต์บนเฟซบุ๊กนั้นผิดไหม เราอาจจะต้องแยกออกเป็นสองประเด็นก่อน

โดยธรรมชาติแล้ว เรามักจะคิดด้วยคอมมอนเซนส์ได้ว่า การกดไลค์ไม่น่าจะผิดใช่ไหมครับ เพราะไม่ได้เป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่หมิ่นใครทั้งสิ้น เป็นเพียงการแสดงอารมณ์ต่อข่าวนั้นๆ แถมบางคนยังไม่ได้ใช้ไลค์เพื่อแสดงอารมณ์ด้วย บางคนก็กดเพียงเพราะว่าจะบอกว่าอ่านแล้ว หรือกดเพราะความเคยชินเท่านั้นก็มี ดังนั้น ตัวไลค์เอง ไม่น่าจะมีความหมายใดๆ ในเชิงกฎหมาย
แต่ด้วยฟังก์ชั่นของเฟซบุ๊ก ที่ในช่วงหลังมันแสดงแล้วว่าเราไปกดไลค์อะไรไว้ เพื่อให้เพื่อนๆ เห็น สิ่งนี้จึงทำให้การตีความกฎหมายซับซ้อนขึ้น เพราะเพียงการกดไลค์ ก็อาจเท่ากับการเผยแพร่ข้อมูลแล้ว ทั้งๆ ที่จริงๆ มันอาจไม่ได้มีความหมายอะไรเลยก็ได้

Advertisement

ส่วนเรื่องการแชร์นั้น หากเราตอบโดยสัญชาต ญาณน่าจะตอบได้ตรงกันว่ามันคือ “การเผยแพร่” ซึ่งอาจจะมีความผิดในกรณีหมิ่นประมาทจริง แต่หากเราคิดดูดีๆ ก็มีหลายครั้งเหมือนกันใช่ไหมครับที่เราแชร์โดยไม่ได้มีความหมายอะไรพิเศษ แค่จะ “เก็บไว้อ่าน” หรือแชร์เพื่อไปประชดใครบางคน กระทั่งแชร์ไปด่า โดยไม่ได้เห็นด้วยกับข้อความในลิงก์ที่ตนแชร์

ฉะนั้น การตัดสินว่าแชร์เท่ากับทำให้เสียชื่อเสียง อาจเป็นการตัดสินที่ละเลยการมองเรื่องความตั้งใจของผู้แชร์ไป

นอกจากนั้น การแชร์ยังมีประเด็นเรื่อง “เนื้อหาภายใน” ที่ผู้แชร์ไม่สามารถควบคุมได้ด้วย

Advertisement

ศาลสูงแคนาดาเคยตัดสินไว้นะครับว่าการแปะลิงก์ (หรือในกรณีนี้อาจรวมถึงการแชร์ด้วย) ไม่ใช่อาชญากรรม โดยอ้างคำตัดสินในคดีที่บล็อกเกอร์คนหนึ่งแชร์ลิงก์ที่มีการกล่าวหาว่าทำให้เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เสียชื่อเสียง โดยศาลบอกว่า “ข้อเท็จจริงที่ว่าการเข้าถึงเนื้อหาเหล่านั้นผ่านไฮเปอร์ลิงก์นั้นรวดเร็วกว่าเชิงอรรถ ไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่า ไฮเปอร์ลิงก์โดยตัวมันเองมีความเป็นกลางทางเนื้อหา มันไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ และไม่ได้มีอำนาจควบคุมเหนือเนื้อหาที่มันอ้างถึง” (อ้างอิงจากประชาไท http://prachatai.com/journal/2011/10/37612)

นั่นคือเขาตัดสินว่าการแชร์ไม่ได้มีความหมายอะไร ไฮเปอร์ลิงก์ไม่ได้มีความเห็นอะไร และคนแชร์ยังไม่สามารถควบคุมได้ด้วยว่าสิ่งที่เขาแชร์คืออะไร เช่นว่า เนื้อหาภายในอาจจะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่เขาแชร์แล้ว จนทำให้มันหมิ่นประมาทก็ได้ หรือกระทั่งว่า ลิงก์ที่แชร์มีการฝังเนื้อหาบางส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามสภาพของอินเตอร์เน็ต ทำให้เนื้อหาไม่คงที่ ก็เป็นไปได้

ศาลอธิบายเพิ่มเติมว่า “โดยสรุป อินเตอร์เน็ตจะไม่สามารถเอื้อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูล โดยปราศจากไฮเปอร์ลิงก์ การจำกัดคุณประโยชน์ของมัน โดยการทำตามกฎของสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิม จะก่อให้เกิดการจำกัดการไหลเวียนของข้อมูลอย่างร้ายแรง ซึ่งจะส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงออกตามมา” คำตัดสินระบุ “ความน่ากลัวที่เป็นไปได้ของการทำหน้าที่ของอินเตอร์เน็ตอาจเป็นเรื่องที่เลวร้ายทีเดียว เนื่องจาก
ผู้เขียนบทความดั้งเดิมคงไม่อยากจะเสี่ยงในการรับผิดในการลิงก์เนื้อหาไปยังอีกบทความหนึ่ง ซึ่งเขาไม่อาจควบคุมเนื้อหาที่สามารถเปลี่ยนไปมาได้”

แต่ก็ไม่ใช่ว่าการแชร์จะไม่ใช่อาชญากรรมเสียทีเดียวนะครับ เพราะว่ามีการพิจารณาด้วยว่าอาจเป็นการทำซ้ำคำหมิ่นประมาท

“การเผยแพร่ข้อความหมิ่นประมาทผ่านไฮเปอร์ลิงก์ควรมีการลงความเห็นว่า ข้อความที่ระบุไปที่ลิงก์ดังกล่าวเลือกใช้หรือเห็นด้วยกับเนื้อหาที่ลิงก์ไปหรือไม่ ถ้าข้อความแสดงถึงความเห็นด้วยกับข้อความที่ลิงก์ไป เมื่อนั้น ผู้ที่แปะลิงก์ควรต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาหมิ่นประมาทนั้น” นั่นคือ ศาลตัดสินว่า หากในข้อความที่ลิงก์ไป เรามีการเพิ่มความเห็นว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่เราแชร์ เราเองก็อาจต้องรับความผิดด้วย

สำหรับเมืองไทยเอง จริงๆ แล้วไม่มีบรรทัดฐานที่เป็นคดีทั่วไปในเรื่องนี้นัก ส่วนใหญ่จะเห็นว่าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นเบื้องสูงทั้งสิ้น ซึ่งก็น่าสนใจว่า หากเป็นคดีการหมิ่นประมาทอื่นๆ จะมีการตีความในเรื่องนี้อย่างไร นี่ถือเป็นเรื่องที่เราควรศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้สามารถใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียได้อย่างปลอดภัยและเป็นสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image