เศรษฐศาสตร์การเมืองของเผด็จการ และประชาธิปไตยไทย (1)

ผมไปเที่ยวไล่อ่านโครงการ “ประชารัฐ” ต่างๆ เท่าที่พอจะหาได้ แล้วพบด้วยความไม่ประหลาดใจว่า ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของโครงการ ล้วนเป็นงานที่รัฐหรือหน่วยราชการเป็นผู้ทำหรือออกทุนทั้งนั้น ไม่เฉพาะแต่หน่วยราชการของกระทรวงมหาดไทยเพียงฝ่ายเดียว ยังมีหน่วยราชการอื่นๆ อีกมากที่คิดทำโครงการ “ประชารัฐ” ต่างๆ แม้แต่โรงเรียน หรือสร้างเขื่อนหรือจัดการน้ำก็ “ประชารัฐ” ด้วย

ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดในเมืองไทยมานานแล้ว ใครมีอำนาจคิดอะไรขึ้นมาได้ หน่วยราชการต่างๆ ก็จะรับลูกไปทำทันที ไม่ใช่เพราะเห็นด้วยหรือถูกมอบหมายเป็นภารกิจนะครับ แต่เพราะเป็นหนทางที่จะช่วงชิงงบประมาณได้ง่ายขึ้น เติมชื่อคำขวัญของผู้มีอำนาจลงไปในโครงการเก่าที่ของบไม่ได้ หรือโครงการใหม่ แล้วใครจะกล้าปฏิเสธไม่ให้งบได้ล่ะ

ผมเกิดสนใจโครงการประชารัฐขึ้นมาก็เพราะอยากจะรู้ว่า พวกเจ้าสัวผูกมัดตัวเองกับโครงการนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะได้เห็น 24 เจ้าสัวไปไขว้แขนจับมือกับ คสช.ในทำเนียบรัฐบาล แล้วชักภาพออกสื่อกันแพร่หลาย ผมกลับได้พบว่าโครงการที่เจ้าสัวเข้าร่วมด้วยมีน้อยมาก โครงการเด่นดังที่สุดน่าจะเป็น การตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีขึ้น บริษัทนี้จะทำอะไรแน่ก็ไม่ค่อยชัดนะครับ ดูจากแผนการของบริษัทแล้ว จุดมุ่งหมายน่าจะเป็นการเชื่อมต่อธุรกิจของเจ้าสัวกับการผลิตของชาวบ้าน เช่น ร่วมกับหน่วยราชการส่งเสริมให้ผ้าขาวม้าเป็นงานหัตถศิลป์ไทยที่ลือชื่อ เพื่อขยายตลาดของผ้าขาวม้า ทำธุรกิจค้าลำไยครบวงจรกับชาวบ้านเจ้าของสวน ชวนให้ร่วมกันไปจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อจะได้สามารถส่งลำไยเข้าห้างได้เอง บริษัทเซ็นทรัลฟู้ดอ้างว่าจะสามารถรับซื้อได้ถึง 100 ตัน จะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองไปกับพ่อค้าคนกลาง

(ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเครือเซ็นทรัลจึงต้องรังเกียจ “คนกลาง” ในเมื่อธุรกิจหลักของตนคือ “คนกลาง” นั่นแหละครับ

Advertisement

“คนกลาง” นั้นไม่ใช่เสือนอนกิน เขาขายบริการซึ่งผู้ผลิตไม่สามารถทำได้ หากเป็นลำไย “คนกลาง” ให้หลักประกันแก่ห้างได้ว่า สินค้าที่เขาส่งจะต้องมีคุณภาพระดับหนึ่ง สินค้าจะส่งถึงมือได้ทัน และไม่ขาดสายตลอดฤดู บางครั้งเพื่อเพิ่มกำไร เขาอาจลงทุนคัดเกรดลำไยก่อนส่ง ซึ่งทำให้ห้างค้าปลีกได้กำไรเพิ่มขึ้นด้วย เพราะห้างย่อมได้ค่าส่วนแบ่งจากลำไยเกรดสูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ฯลฯ

คนกลางเป็นห่วงโซ่ที่ขาดไม่ได้ในเศรษฐกิจ ปัญหาของคนกลางไม่ได้อยู่ที่ตัวคนกลาง แต่อยู่ที่เกิดการผูกขาดในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติขึ้นต่างหาก ตราบเท่าที่ผู้รับซื้อลำไยมีหลายเจ้าในอำเภอสารภี เชียงใหม่ และผู้ส่งลำไยเข้าห้างก็มีหลายเจ้า บริษัทประชารัฐจะเสนอราคาที่ดีกว่าคนกลางอื่นๆ ได้อย่างไร ตรงกันข้าม หากบริหารไม่ดี เช่น ปล่อยให้ราชการหรือเจ้าพ่อเข้าครอบงำวิสาหกิจชุมชนได้ กลับจะเกิดการผูกขาดขึ้น และชาวบ้านถูกกดราคาด้วยซ้ำ)

เอ็นจีโอบางสายโจมตีการเข้าร่วมทุนของเจ้าสัวกับบริษัทประชารัฐฯ ว่าเพื่อเตรียมทางจะเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านในการผลิตอ้อยป้อนโรงงานน้ำตาล และผลิตข้าวโพดป้อนโรงงานอาหารสัตว์

Advertisement

ผมกลับไม่คิดอย่างนั้น เพราะเจ้าสัวได้เปรียบในการทำกิจการของตนอยู่แล้ว โดยไม่ต้องร่วมทุนกับประชารัฐเลย ผู้บริโภคซื้อน้ำตาลในราคาสูงกว่าตลาดโลกอยู่แล้ว และคนปลูกข้าวโพดก็ถูกเอาเปรียบอยู่แล้ว

ประเด็นของผมไม่ต้องการคัดค้านเอ็นจีโอ แต่ต้องการจะบอกว่า การไปจับมือกับ คสช.ในทำเนียบก็ตาม การร่วมหุ้นกับบริษัทประชารัฐฯ ก็ตาม ไม่ทำให้เสียมือหรือขนหน้าแข้งของเจ้าสัวเลย เพราะมันเล็กน้อยมาก บางเจ้าสัวลงทุนแค่หุ้นเดียวยังมี แต่คุณจะอยู่ร่วมกับเผด็จการทหารได้อย่างไร หากไม่เข้าไปจับมือหรือออกเงินนิดหน่อยให้แก่โครงการตลกๆ ของเผด็จการโน่นต่างหากที่เจ้าสัวมองด้วยตาเป็นมันมากกว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษครับ

ในหลายๆ ประเทศที่เดินตามต้นตำรับ (คือจีน) เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น “พิเศษ” จริงๆ คือเป็นเขตแห่งการยกเว้น เช่น ยกเว้นกฎหมายแรงงาน, ยกเว้นกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ, ยกเว้นกฎหมายสิ่งแวดล้อม, ยกเว้นกฎหมายสัดส่วนการลงทุน ฯลฯ ไม่นับยกเว้นภาษี ทั้งการศุลกากร และอาจจะสรรพากรบางส่วนด้วย ผมไม่ทราบว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยจะเดินตามนั้นหรือไม่ แต่เริ่มต้นประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยการใช้ ม.44 ก็ดูจะส่อมาแต่ต้นว่าเขตพิเศษของไทย ก็คงเป็นเขตแห่งข้อยกเว้นไม่ต่างจากประเทศอื่น

และ คสช.ยังอาจมีโครงการอื่นๆ ตามมาอีก ที่เจ้าสัวเห็นว่าจะทำเงินได้สะดวกกว่าภาวะปกติ ผมอยากอธิบายความตรงนี้ให้กระจ่างขึ้นด้วยว่า โครงการอื่นๆ ที่อาจตามมานั้น ต้องไม่ใช่แค่โครงการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่หรือรถไฟขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ นี่เป็นเรื่องทำมาหากินปกติของเจ้าสัวอยู่แล้ว ถึงไม่มี คสช. รัฐบาลใดทำโครงการเหล่านี้ เจ้าสัวก็สร้างรายได้ให้แก่ตนเองเพิ่มขึ้นได้ทั้งนั้น แต่ต้องเป็นโครงการซึ่งในรัฐบาลปกติ (ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือที่มีการตรวจสองถ่วงดุลจากหลายฝ่าย) ทำไม่ได้

ยกตัวอย่างการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นเขตยกเว้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำไม่ได้ หรือทำได้จำกัดมาก กล่าวคือ ถึงยกเว้นได้ ก็ยกเว้นไม่กี่อย่าง และล้วนเป็นข้อยกเว้นที่เจ้าสัวไม่เห็นประโยชน์ก็ได้

ทั้งหมดนี้นำมาสู่คำถามที่ผมอยากชวนให้คิดว่า ลึกลงไปจริงๆ แล้ว เจ้าสัวไทยยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยหรือเผด็จการทหารกันแน่ ที่ต้องพูดว่าลึกลงไป เพราะระดับผิวหน้า เจ้าสัวย่อมแสดงท่าทีสนับสนุนใครก็ได้ที่ถืออำนาจรัฐไว้ในมือ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร อย่าลืมว่าเจ้าสัวไทยไม่ได้สร้างกองกำลังอิสระของตนเอง ฉะนั้นจึงปกป้องตนเองไม่ได้ (แม้แต่เจ้าภาษีนายอากรรุ่นก่อน ร.5 อาจมีกองกำลังของตนเอง แต่ไม่อาจเทียบได้กับกองกำลังที่รัฐสามารถระดมได้ นอกจากนี้ ไม่มีเจ้าสัวไทยสักคนเดียวที่รายได้หลักมาจากการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่ระดับจังหวัดหรือหลายจังหวัด)

ดังนั้น การสมยอมกับอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย (แม้ไม่ชอบธรรม) ย่อมปลอดภัยแก่เจ้าสัวที่สุด

Jeffrey A. Winters บอกว่า (Oligarchy) ภัยคุกคามต่อทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์หรือคนรวยล้นฟ้า (ที่ผมเรียกว่าเจ้าสัวในที่นี้) ในสังคมต่างๆ มีมาได้จากสามทางด้วยกัน ด้านบน ซึ่งหมายถึงผู้ปกครองรัฐหรือผู้พิชิตต่างชาติ ข้างล่าง ซึ่งหมายถึงประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะที่มีส่วนแบ่งของทรัพย์สินและรายได้น้อย อันเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมเสมอ และข้างๆ คือเหล่าเจ้าสัวด้วยกัน ที่อาจถือโอกาสเข้ามาฮุบทรัพย์สินและรายได้ ด้วยวิธีต่างๆ ที่เป็นไปได้ในสังคมหนึ่งๆ

หากมองจากภัยคุกคามสามทางนี้ในสังคมไทยปัจจุบัน ผมอยากจะพูดว่าอะไรๆ มันก็บ่แน่หรอกนาย สิ่งที่ควรปลอดภัยไปแล้ว กลับไม่ปลอดภัยขึ้นมาในภายหลัง ผมขอจาระไนภัยคุกคามทั้งสามทางดังนี้

ภัยคุกคามจากข้างบน เพียงเมื่อชั่วอายุคนที่แล้ว คือ 40 ปีมาแล้ว เจ้าสัวไทยหวั่นวิตกมากกับชัยชนะของคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าในฐานะผู้พิชิตจากต่างประเทศ (เวียดนาม) หรือในฐานะของชนชั้นกรรมาชีพผ่านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ความกังวลดังกล่าวก็อันตรธานไปโดยสิ้นเชิง เจ้าสัวหันไปลงทุนในประเทศคอมมิวนิสต์เองอย่างมั่นใจด้วยซ้ำ

ส่วนภัยคุกคามจากผู้ปกครองรัฐและกลไกอำนาจรัฐ ในรัฐประหาร 2490 และ 2500-01 เผด็จการในเครื่องแบบอาจทำความปั่นป่วนวุ่นวายแก่ทรัพย์สินและรายได้ของเจ้าสัวบางราย ที่เคยฝักใฝ่อยู่กับปฏิปักษ์บ้าง แต่เมื่อแน่ใจแล้วว่าเจ้าสัวเหล่านั้นไม่อุดหนุนทางการเงินแก่ปฏิปักษ์ทางการเมืองของตนต่อไป ก็ปล่อยให้เพิ่มพูนทรัพย์สินด้วยการทำรายได้เพิ่มขึ้นในโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ที่เกิดขึ้น

อีกด้านหนึ่งคือ กลไกอำนาจรัฐ นับตั้งแต่กฎหมาย, ตุลาการ, ระบบราชการ, ระบบการศึกษา, สื่อ, ฯลฯ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ของไทย ไม่ได้มีชื่อเสียง ประสิทธิภาพ หรือความเที่ยงธรรม แต่เจ้าสัวไทยก็มีวิธีซิกแซกกับสิ่งเหล่านี้ได้ ป้องกันตนไม่ให้ความฉ้อฉลของระบบมากระทบถึงตน แม้แต่ความเที่ยงธรรมในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินและรายได้มากนัก ก็อาจป้องกันได้ เช่น เป็นเจ้าสัวหรือญาติเจ้าสัวสักอย่าง ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐกล้าจับกุมหรือดำเนินคดี หากจะจับกุมหรือดำเนินคดี ก็ต้องทำอย่างอะลุ่มอล่วย

ด้านนี้แหละครับที่ออกจะก้ำๆ กึ่งๆ แม้ว่ากลไกอำนาจรัฐไทยค่อนข้างอ่อนแอ แต่ก็มีสมรรถภาพป้องกันทรัพย์สินและรายได้ของเจ้าสัวได้อย่างมั่นคง เช่น แม้แต่จะรัฐประหารกันกี่ครั้ง ก็ไม่เคยล้มเลิกเพิกถอนประมวลกฎหมายอาญา และแพ่งพานิชย์เลยสักครั้งเดียว บางครั้งอาจมีการแก้ไขบางมาตรา แต่ก็ไม่กระทบทรัพย์สินและรายได้ของเจ้าสัว

ระบบราชการไทยซึ่งเรารับรู้ความเหลวไหลเลื่อนเปื้อนต่างๆ นานา เอาเข้าจริงแล้วก็เป็นระบบราชการที่มีประสิทธิภาพกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศ อย่างน้อยบอกว่าจะสร้างสะพาน ก็มีสะพานโผล่ขึ้นมาจริงๆ นะครับ แม้จะบอบบางกว่าแบบเป็นอันมากก็ตาม

กล่าวโดยสรุปก็คือ ส่วนต่างๆ ของกลไกอำนาจรัฐนี้ เจ้าสัวคุ้นเคย, เข้าถึง, และควบคุมได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ตราบเท่าที่อำนาจรัฐข้างบนไม่ไปรื้อมันหรือสร้างมันขึ้นมาใหม่แบบถอนรากถอนโคน ก็อาจกล่าวได้ว่ากลไกเหล่านี้ช่วยปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของเจ้าสัวได้

แต่เพราะความอ่อนแอโดยตัวของมันเองของกลไกเหล่านี้ ทำให้มันปกป้องตนเองจากการแทรกแซงของคนที่ยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จไม่ค่อยได้ (ไม่ว่าจะผ่านการรัฐประหารหรือการเลือกตั้ง) และผู้ที่ยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จ ก็มักจะแทรกแซง เพื่อรักษาอำนาจของตนเองให้ยืนนาน หรือขยายอำนาจของตนให้กว้างใหญ่มากขึ้น แม้เราเห็นความอ่อนปวกเปียกของกลไกอำนาจรัฐในการปกป้องตนเองจากการแทรกแซงของผู้ถืออำนาจรัฐ

แต่ในสมัยหนึ่ง คนมีฝีมือก็พออยู่ได้ ระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน, กองทัพ, ตุลาการ, ตำรวจ, อัยการ ฯลฯ มักมีสำนึกถึงศักดิ์ศรีบางอย่าง ที่ทำให้การแทรกแซงจากเบื้องบนต้องทำด้วยความแนบเนียนพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ในระยะ 20-30 ปีหลังมานี้ สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อการเลือกตั้งเริ่มมีความมั่นคงในการเมืองไทย นักการเมืองรู้สึกในความชอบธรรมของตนหนักแน่นขึ้น การแทรกแซงกลไกรัฐจึงทำกันอย่างแนบเนียนน้อยลง แม้ไม่เคยมีใครใช้กลไกรัฐไปคุกคามทรัพย์สินและรายได้หลักๆ ของเจ้าสัว (อย่างมากก็เรียกเก็บค่าต๋ง ซึ่งก็ทำกันมาทุกยุคทุกสมัย และเจ้าสัวก็เข้าใจดีว่า นี่คือค่าคุ้มครองความปลอดภัยทรัพย์สินและรายได้ของตน) แต่การแทรกแซงที่มากขึ้นทั้งด้านปริมาณและความโฉ่งฉ่าง ทำให้หลักประกันทรัพย์สินและรายได้ที่สำคัญอันหนึ่งของเจ้าสัวสั่นคลอนลง

ยิ่งภายใต้รัฐบาลไทยรักไทย นายกฯ ทั้งแทรกแซงอย่างออกหน้า ทั้งทำท่าเหมือนจะปรับระบบราชการใหม่ทั้งหมดเลย ก็ยิ่งทำให้เจ้าสัวรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ขึ้นมา

ที่ต้องแยกให้ชัดตรงนี้ก็คือ กลไกของรัฐซึ่งกำลังจะถูกปฏิรูป (ด้วยคำพูดหรือการกระทำก็ตาม) นั้น จะเปลี่ยนไปอย่างไร หากเปลี่ยนไปสู่ความเป็นกลไกที่เคารพหลักนิติรัฐ-นิติธรรมอย่างเคร่งครัด มีแต่กฎหมาย ไม่มีตัวบุคคลอยู่ในระบบ เจ้าสัวไทยจะชอบหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่การปฏิรูปที่ทำให้กลไกของรัฐตกอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลยิ่งขึ้น เช่น คุณทักษิณ ชินวัตร สั่งให้ทั้งผู้ว่าฯ และทูตกลายเป็นซีอีโอหมด (ไม่ว่าคุณทักษิณจะหมายความอย่างไรก็ตาม) ฟังดูน่าตกใจแก่เจ้าสัว เพราะทำให้ระบบทั้งระบบกลายเป็นตัวบุคคลโดยสิ้นเชิง

ระบบกลไกรัฐที่เจ้าสัวไทยสะสมทรัพย์สินและรายได้จนกลายเป็นคณาธิปัตย์ได้นั้น คือระบบที่ไม่ใช่ตัวบุคคลแท้ และไม่ใช่กฎหมายแท้ ก้ำกึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างสองด้าน หากเปลี่ยนเป็นตัวบุคคลด้านเดียว ย่อมเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินและรายได้แน่ อย่างน้อยค่าต๋งก็ย่อมจะสูงขึ้นมาก ส่วนเปลี่ยนไปเป็นด้านกฎหมายแท้ เจ้าสัวก็ต้องปรับตัว ซึ่งพวกเขาอยากปรับหรือไม่ ผมไม่ทราบ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image