ที่เห็นและเป็นไป : เลือกให้ ‘ประเทศมีความหวัง’

เห็นและเป็นไป : เลือกให้ ‘ประเทศมีความหวัง’

เห็นและเป็นไป : เลือกให้’ประเทศมีความหวัง’

ประเทศไทยเราเข้าสู่บรรยากาศของการเลือกตั้ง อย่างที่บอกกันว่าอำนาจกลับมาเป็นของประชาชน

คำว่า “อำนาจเป็นของประชาชน” ดูยิ่งใหญ่ทีเดียว ให้ความรู้สึกว่าในฐานะประชาชนถึงเวลาที่เราสามารถกำหนดให้ประเทศเป็นอย่างไรก็ได้

แต่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น “อำนาจ” ของเรามีแค่เลือกนักการเมืองว่านักการเมืองคนไหน พรรคการเมืองพรรคไหนจะได้รับสิทธิในอำนาจของเราไปใช้แทนเท่านั้น

Advertisement

ยิ่งลงไปในรายละเอียด อำนาจของประชาชนในระบบที่เลือกว่าจะมอบให้ใครไปใช้แทนเช่นนี้ เป็นอำนาจที่แต่ละคนมีเพียงน้อยนิด

ผู้ที่จะมีสิทธิใช้อำนาจที่เรามอบให้ไปครอบครองอำนาจการบริหารประเทศ สิทธินั้นต้องประกอบด้วยเงื่อนไข และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

พื้นฐานที่สุด ต้องได้เป็นตัวแทนที่ประชาชนส่วนใหญ่มอบอำนาจให้

Advertisement

ชัยชนะในการที่เลือกตั้งของผู้สมัครทั้งในพื้นที่และบัญชีรายชื่อ จะต้องได้จากคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่ประชาชนคนใดคนหนึ่งเลือกก็จะเป็นได้

แค่หลักการของประชาธิปไตยสากลเช่นนั้น การได้เป็นผู้แทนราษฎรก็ยากลำบากพอแล้ว แต่ประเทศไทยกลับเขียนกติกาตั้งแต่ “รัฐธรรมนูญ” จนถึง “กฎหมายประกอบ” และแต่งตั้งคณะบุคคลที่เข้ามาบังคับใช้ในลักษณะ “ด้อยค่าอำนาจประชาชน” เอื้อต่อการ “สืบทอดอำนาจ” ของคนกลุ่มหนึ่งเข้าไปอีก

อำนาจประชาชนที่ดูยิ่งใหญ่ และกำลังได้คืนมาผ่านวาระที่ประเทศเข้าสู่การเลือกตั้ง จึงไม่ได้มีความหมายที่จะสร้างอิทธิฤทธิ์อย่างที่รู้สึก

หนทางเดียวที่จะทำให้อำนาจที่ได้รับคืนมาทรงพลังสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์กำหนดความเป็นไปของประเทศได้ คือการรวมพลังกันอย่างพร้อมเพรียงเลือกนักการเมือง และพรรคการเมืองที่ชัดเจนว่าสมควรเป็น “ศูนย์รวมอำนาจประชาชน”

การรวมอำนาจของประชาชนแต่ละคนให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้มีพลังเหมือนจะเกิดขึ้นยาก เพราะนักการเมืองและพรรคการเมืองมีมากมาย ซึ่งประชาชนแต่ละคนต่างชื่นชม และชื่นชอบต่างกันไปเป็นธรรมดา

แต่หากย้อนคิดให้ดี เพื่อให้อำนาจประชาชนเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ต้องช่วยกันทำให้ประชาชนทุกคนทบทวนความชื่นชม และชื่นชอบของตัวเองกันใหม่

อย่างน้อยควรจะเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “ชื่นชม และชื่นชอบเพราะอะไร”

เพราะความสนิทชิดเชื้อ เพราะการเกื้อหนุนจุนเจือประโยชน์ให้ เพราะชื่นชมตามๆ กันไป ชอบเพราะอยู่คนละฝ่ายกับผู้ที่เราเกลียด

และลองถามตัวเองว่า “การตัดสินในเลือกตามความชื่นชม ชื่นชอบที่เป็นคำตอบนั้น มีประโยชน์อะไรกับประเทศชาติ โดยรวม การเลือกที่จะมอบอำนาจของเราให้กับคนที่เราชื่นชม ชื่นชอบแบบนั้น เป็นเรื่องน่าเสียดายในโอกาสเรามีสิทธิใช้อำนาจที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งหรือไม่ แค่ไหน”

จะไม่ดีกว่าหรือที่ทุกคนจะต้องพิจารณาว่า “อำนาจควรจะมอบให้ผู้ที่แสดงให้เห็นว่ามีความรู้ความสามารถในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศ”

หากคิดว่ายากที่จะรู้ว่าใครดีกว่าใคร ลองค่อยๆ พิจารณาดูใหม่

ไม่ต้องย้อนไปทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตว่านักการเมืองคนไหนมีพฤติกรรมอย่างไร

ช่วงนี้ประเทศเรามีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า ฝุ่นพิษ สินค้าราคาแพง และอีกสารพัดสารพัน

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเป็นธรรมดาที่นักการเมืองทุกคนจะต้องแสดงความคิดความอ่านในการแก้ปัญหา ทั้งตอบคำถามผู้สื่อข่าวในแต่ละวัน ต้องแสดงความเหนือกว่าในเวทีดีเบตซึ่งเกิดขึ้นมากมาย

เมื่อปัญหาก็มีมาก การถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องแสดงความเห็น ต้องตอบคำถามทุกเรื่องก็หนีไม่พ้น

เป็นจังหวะ และโอกาสที่ดีที่สุดของประชาชนทุกคนจะพิจาณาว่า “นักการเมือง” และ “ผู้บริหารพรรคการเมือง” แต่ละคนมีความรู้ความสามารถ มีความตั้งใจที่จะเป็นผู้แก้ปัญหา หรือเอาแต่โยนปัญหาว่าเกิดจากคนอื่น เอาแต่เรียกร้องให้คนอื่นแก้ โดยที่ตัวเองเอาแต่สั่งการไปเรื่อยเปื่อย มองไม่เห็นว่ามีความคิดสร้างสรรค์จะแก้ปัญหาที่ตรงไหน

มองไม่ยากหรอก ที่ยากคือเมื่อเห็นความห่วยแตกแล้ว จะทำใจให้ไม่เลือกความห่วยแตกนั้นได้อย่างไร เพราะเคยชินอยู่กับความชื่นชม ชื่นชอบ ที่ไม่มีเหตุผลเพื่อส่วนรวมมารองรับ

จะทำอย่างไรให้ “พลังอำนาจประชาชน” ที่ต้องอาศัยการผนึกให้เป็นหนึ่งเดียว มาเป็นประโยชน์กับความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ

เป็นคำถามที่ต้องตอบตัวเอง ในฐานะ “ประชาชนที่ต้องรับผิดชอบต่อประเทศชาติร่วมกัน”

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image