‘รธน.’ปีที่1ในรัชกาลที่10 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

พระบรมฉายาลักษณ์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงฉายพระรูปร่วมกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในฐานะพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในฐานะพระขนิษฐาทั้งสองพระองค์ เบื้องหน้าพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระบรมราชชนก ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

นอกจากเป็นภาพหาดูยาก ดังที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงโพสต์ภาพและข้อความผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมาแล้ว

พระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวยังนำความ “อุ่นใจ” มาสู่มวลหมู่พสกนิกรด้วย

Advertisement

อุ่นใจ ที่พูดตามประสาชาวบ้านก็คือ พระเจ้าแผ่นดินและพี่ๆ น้องๆ ร่วมกันแสดงให้เห็นว่าทุกพระองค์พร้อมเป็นหลักพึ่งพิงให้ประชาชน และพร้อมในการสืบพระปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่จะทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรของพระองค์ต่อไป

ในยาม “เปลี่ยนผ่าน” ประเทศ ความอุ่นใจเป็นสิ่งสำคัญ

ดั่งที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทรงมีพระราชดำรัสกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และองคมนตรีชุดใหม่ ที่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ทรงอุ่นใจที่ได้ทำงานร่วมกับ พล.อ.เปรม

Advertisement

นอกจากความอุ่นใจ อันเป็นมงคลที่เกิดกับประชาชนจากเหตุผลข้างต้นแล้ว

การเปลี่ยนผ่านสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทุกคนรอคอย นั่นก็คือ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่

เราเพิ่งผ่านวันรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา

หลังจากนี้ก็คงเป็นการรอพระบรมราชวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ พล.อ.ประยุทธ์นำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน จะโปรดเกล้าฯลงมาเมื่อใด

ซึ่งคาดหมายว่าคงจะมีพระวินิจฉัยทางใดทางหนึ่งในเวลาไม่นานนักจากนี้

หากมีพระมหากรุณาธิคุณ ลงพระปรมาภิไธยเห็นชอบ

เราก็จะได้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตราไว้ ณ วันที่ ………….พุทธศักราช……

เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลที่ 10

ย่อมถือเป็นสิริมงคล สำหรับการเมืองการปกครองของไทยอย่างแน่นอน

ต่อจากนั้นก็จะเป็นภาระหน้าที่ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อคืน “ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์” แก่ประชาชนต่อไป

ก็ได้แต่หวังว่า คำว่า “ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์” นั้น จะไม่ถูกมอง หรือตีความแตกต่างกันมากนัก

เพราะหากมอง “แตกต่างกัน” ความไม่ราบรื่นก็จะมีมาก

ซึ่งนั่นจะทำให้การ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความเป็นประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ “ยากขึ้น”

ฟังน้ำเสียงของฝ่ายต่างๆ แล้ว ก็น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย

เพราะมีความแตกต่างอยู่มาก ทั้งในตัวรัฐธรรมนูญเอง และทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

โดยด้านหนึ่งก็มีความพยายามจัดระเบียบวางกรอบการเมืองใหม่ ตามความเชื่อและความเห็นของฝ่ายตน ภายใต้ธง “ปฏิรูปการเมือง”

แต่ก็นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อีกฝ่าย ว่ามีเค้าลางของความพยายามที่จะ “สืบทอดอำนาจ” ของตนเองต่อไปมากกว่า พร้อมๆ กับพยายาม “บอนไซ” บางฝ่ายที่ไม่ใช่พวกของตนเองเอาไว้

เสียงแห่งความแตกต่างนี้ ดังขึ้นๆ

ท่ามกลางความคาดหมายว่าจะมีความไม่ราบรื่น ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จนอาจทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกขึ้นอีกได้

นำไปสู่ “ความไม่อุ่นใจ” ในหมู่ประชาชน

จนเกิดคำถามว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจะ “ราบรื่น” “อุ่นใจ” ได้บ้างหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image