ฟร้อนต์เพจ ออนไลน์ :อาลัย “ลพ บุรีรัตน์” ครูเพลงผู้มาก่อนกาล

ข่าวเศร้า การจากไปของครูเพลง “ลพ บุรีรัตน์” หรือชื่อจริง “วิเชียร คำเจริญ” เดินทางมาถึงเมื่อเช้านี้

กับชีวิตของเด็กชนบท หนังสือหนังหาที่มีให้อ่านค่อนข้างเป็นเรื่องไกลตัว ชุดคำชุดความที่จะสามารถเก็บเกี่ยวซึมซับความงดงามของภาษาได้ เห็นจะมีอยู่เพียงไม่กี่ช่องทาง

หนึ่งในนั้นก็คือ “เพลงลูกทุ่ง”

จึงไม่แปลกอะไรถ้าจะบอกว่า นี่คือการสูญเสียบุคคลที่ผมอาจกล่าวได้ว่า “มีบุญคุญ”

Advertisement

“หอมเอย หอมดอกกระถิน รวยระรินเคล้ากลิ่นกองฟาง เห็ดตับเต่าขึ้นอยุ่ริมเถาหญ้านาง มองเห็นบัวสล้าง ลอยปริ่มริมบึง อยากจะเด็ดมาดอมหอมหน่อย ลองเอื้อมมือค่อยๆ ก็เอื้อมไม่ถึง..” คือคำอันงดงามของ “ไพบูลย์ บุตรขัน”

“แดดบ่ายปลายคุ้ง ท้องทุ่งรวงทอง น้ำทรงเมื่อเดือนสิบสอง หัวใจพี่กลับนองรักน้องนางทุ่ง กระจับจอกแหน เป็นแพลอยติดก้นคุ้ง เหมือนสวาททับถมใจมุ่ง มุ่งปองรักสาวแม่ดาวบ้านนา” คือภาษาอันเห็นภาพของ “พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา”

และสำหรับผู้ล่วงลับ เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นหูกับบทเพลงมากมายของเขา ครูเพลงผู้ส่งให้ชื่อของ “พุ่มพวง ดวงจันทร์” กลายเป็น “ราชินีลูกทุ่ง”

Advertisement

ดาวเรืองดาวโรย, สาวนาสั่งแฟน, เจอแต่คนชอบหลอก, นัดพบหน้าอำเภอ, หนูล้อเล่น, นึกว่าแค่ไหน, อื้อหือ..หล่อจัง, กระแซะเข้ามาสิ, นอนฟังเครื่องไฟ, อายแสงนีออน, ห่างหน่อย-ถอยนิด, ผู้ชายในฝัน, กะลิ้มกะเหลี่ย, สยามเมืองยิ้ม, สยามเมืองยิ้ม ฯลฯ

นี่คือส่วนหนึ่งของชื่อเพลงที่ “ลพ บุรีรัตน์” แต่งให้กับ “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ขับร้อง (ยังไม่รวมนักร้องคนอื่น ๆ และที่เขาร้องเอง รวมๆ แล้วกว่า 2,000 เพลง)

หลังทราบข่าวการเสียชีวิตของครูเพลง ผมร่วมแสดงความอาลัยโดยการหยิบเอาเพลงหนึ่งซึ่ง “ลพ บุรีรัตน์” แต่ง โพสต์ในโลกโซเชียล แล้วบอกว่าเป็นแนวเพลงที่ตัวเองชอบ ทั้ง นัดพบหน้าอำเภอ สาวนาสั่งแฟน ล้วนเป็นเพลงที่สนุกและสร้างสีสันให้กับนักเรียน-นักศึกษาผู้เคยผ่านกิจกรรมในวงดนตรีลูกทุ่ง

ขณะเดียวกัน มิตรสหายคนหนึ่ง ที่ทราบข่าวเศร้านี้เช่นกัน เลือกพูดถึงเพลง “กระแซะเข้ามาสิ”

“ลูกกะท้อนหนา ถ้าจะให้หวาน ค่อยๆทุบรับประทานหวานขึ้นมาได้ หากว่าชอบฉัน หมั่นมาเอาใจ จะไปไหนลูกไก่ในกำมือ… ก็ตัวรักเขาเฝ้าแต่มองตา ห่างตั้งวาสองวาโถยังขาสั่น เกิดมาเป็นชายหากว่าอายกันอีกกี่วันจะได้เจาะไข่แดง”

และอีกเพลงที่ผมอยากชวนคิดด้วย ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพสิ่งที่จะพูดต่อยอดจากเพื่อนได้มากยิ่งขึ้นคือ เพลง “ผู้ชายในฝัน”

“ตั้งแต่เป็นสาวเต็มกาย หาผู้ชายถูกใจไม่มี เมื่อคืนฝันดีน่าตบ ฝันฝันว่าพบผู้ชายยอดดี พาไปเที่ยวดูหนัง พาไปนั่งจู๋จี๋ แล้วพาไปเที่ยวชมสวนเด็ดดอกลำดวนส่งให้ด้วยซี เสียบหูให้ตั้งหลายหน เสียบหล่นเสียหล่น ตั้งห้าหกที ตกใจตื่นมาตีสี่ แหมเสียดายจัง เฮ้อ เสียดายจัง”

เนื้อเพลงสนุก ๆ หยิกแกมหยอก สองแง่สองง่าม แต่ทว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะ “ล้ำสมัย” อย่างยิ่งสำหรับคนก่อนปี พ.ศ. 2530

เพื่อนชวนคิดด้วยว่า ถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นเพลงลูกทุ่งไหน ที่พูดถึงเรื่องทำนองนี้ หรือมาไกลขนาดสามารถพูดความรู้สึก ความต้องการส่วนตัว (แบบที่สังคมเหนียมอาย ทั้งที่เป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมดา) ได้อย่างนี้

“ลพ บุรีรัตน์” นับเป็นคนแรกที่พา “หญิงไทย” (อันมี “พุ่มพวง” เป็นตัวแทน) ก้าวขึ้นมาแตะเพดานข้อจำกัด ยั่วนิดๆ เชิญชวนหน่อยๆ ไม่เรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้ ไม่ใช่ผู้หญิงในแบบที่ต้องให้ผู้ชายเข้ามาจีบก่อน

ไม่ธรรมดาจริงๆ สำหรับยุคนั้น พ.ศ.นั้น

แน่นอน อาจไม่ต้องย้อนไปก่อน พ.ศ.2530 อันเป็นช่วงทศวรรษที่ “พุ่มพวง” โด่งดังเป็นพลุแตกก็ได้ เอาแค่ทุกวันนี้ การที่ผู้หญิงจะร้องเชิญชวนผู้ชายให้กระแซะเข้ามาสิ หรือ ฝันหวานถึงอะไรที่วาบหวาม ร้องอี้อ้าครวญครางออกมานั้น หากประกาศต่อสาธารณะ อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นกุลสตรี เป็นคนอ่อย แรด เรียกหาผู้ชาย

หรือบางทีอาจโดนข้อหา “ไม่ใช่ (สตรี)ไทย” ก็เป็นได้

ดูอย่างช่วงเทศกาลสงกรานต์ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อย ทั้งที่เป็นงานรื่นเริง ทั้งที่เป็นความบันเทิง แต่เหมือนกับว่าแค่โชว์เอว เกาะอก เต้นวี้ดเวี้ยวเสียวโว้ย ยังทำไม่ได้ โดนตำรวจวัฒนธรรมรวบตัว มีความผิดข้อหา “อนาจาร” (ซะงั้น)

ทั้งที่คำว่า “วัฒน” แปลว่าการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหล แต่ไม่รู้ทำไมผู้มีอำนาจในบ้านเราจึงชอบที่จะให้มัน “สถิต” หรือบางทีก็ชวนย้อนหวนกลับไปในยุคเก่าคร่ำครึ

จึงไม่แปลกที่ยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งออกโดยผู้มีอำนาจที่อายุ 60 ปีขึ้นนั้น จะถูกคนรุ่นใหม่ร้องยี้

ยี้ เพราะคนรุ่นท่านๆ สักกี่คนจะเท่าทัน เข้าใจ และรู้ว่าอนาคตที่คนรุ่นใหม่ต้องการอะไรนั้น เป็นอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image