ผู้เขียน | ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ณัฐพล สร้อยสมุทร ⦁ พิชิต รัชตพิบุลภพ วสุ สุวรรณวิหค ⦁ เมรดี อินอ่อน |
---|
ดุลยภาพดุลยพินิจ : การกระจายตัวของอาคารชุดในเมืองใหญ่และการขับเคลื่อนสู่เมืองอัจฉริยะ
กรณีศึกษาเทศบาลนครปากเกร็ด นนทบุรี
อาคารชุดเป็นหนึ่งของทรัพย์สินที่ต้องถูกประเมินภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ในเขตเทศบาลนครปากเกร็ด นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดอาคารชุด เนื่องจากมีอาคารชุดจำนวนมากนับเป็นจำนวนห้องมากกว่า 50,000 ยูนิต กระจายอยู่ในพื้นที่ 5 ตำบล ซึ่งมีความแตกต่างกันในขนาดพื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และราคาหลักทรัพย์ ในโอกาสนี้ขอนำแผนที่ภาษีของเทศบาลนครปากเกร็ดมาวิเคราะห์ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเพื่อเข้าใจการพัฒนาเมือง บันทึกความก้าวหน้าและความคิดริเริ่มของเทศบาลนครปากเกร็ดในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนโดยอย่างยิ่งเกี่ยวกับความปลอดภัยจากโจรกรรม อุบัติเหตุ รวมทั้งปัญหามลพิษทางอากาศ
เทศบาลนครปากเกร็ด เป็นหน่วยงานท้องถิ่นชั้นนำได้รับการยกย่องและรางวัลจากหน่วยงานของรัฐหลายครั้งหลายครา คณะอนุกรรมการวินัยการเงินการคลังไปเยี่ยมชมกิจการ สัมภาษณ์และขอข้อมูลเมืองจากแผนที่ภาษี เทศบาลนครปากเกร็ดมีพื้นที่ความรับผิดชอบ 36.04 ตร.กม. ประชากรตามทะเบียนจำนวน 1.89 แสนคน (โดยไม่รวมประชากรแฝง) เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1.54 แสนคน กินพื้นที่ 5 ตำบล และ 34 หมู่บ้าน ดั้งเดิมจัดตั้งเป็นสุขาภิบาลปากเกร็ดในปี 2498 ต่อมายกฐานะเป็นเทศบาลตำบลปากเกร็ดเมื่อปี 2535 และเลื่อนชั้นเป็นเทศบาลนครปากเกร็ดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2543 (โดยไม่ผ่านขั้นตอนการเป็นเทศบาลเมือง) เนื่องจากครบเงื่อนไขทั้งจำนวนประชากรและรายได้ เป็นหนึ่งในท้องถิ่นที่มีพลวัตสูงเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ



นอกเหนือจากการพัฒนาแผนที่ภาษี เพื่อการจัดเก็บรายได้อย่างครบถ้วน เทศบาลนครปากเกร็ดได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อการสำรวจแปลงที่ดินสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีจำนวนมาก (หลายแสนแปลง) พัฒนาระบบสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนหากมีข้อสงสัย บทเรียนและความประทับใจจากการเยี่ยมชมกิจการครั้งนี้ คือพบว่าเทศบาลปากเกร็ดให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยกับประชาชนเป็นลำดับต้นๆ หนึ่ง ได้ลงทุนติดตั้งระบบกล้อง CCTV ทั่วพื้นที่ เชื่อมโยงเข้ากับแพลตฟอร์มสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ที่พัฒนาขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของเทศบาล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศเพื่อวางแผนการเดินทาง สอง การทำงานเชิงบูรณาการด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยการนำภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดที่ถูกบันทึก ณ ศูนย์ข้อมูลกลางมาใช้เป็นหลักฐานในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดได้อย่างครบถ้วน สาม การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยหลักวิชาสถิติ เพื่อเป็นข้อมูลสารสนเทศแก่ประชาชน เช่น การระบุความเสี่ยงจำแนกตามสถานที่ ช่วงเวลา แนวถนนที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรม ฯลฯ ควบคู่กับการทำงานเชิงรุกร่วมกับฝ่ายตำรวจเพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในชุมชน
ดังกล่าวในตอนต้นว่า ปากเกร็ดเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตสูง มีถนนสายสำคัญ คือ ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนติวานนท์ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) ขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะอำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้คน ประหยัดทั้งรายจ่ายและเวลาเดินทางและจูงใจให้มีจำนวนประชากรเข้าไปพำนักอาศัย สิ่งปลูกสร้างและอาคารชุดเพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจเมืองอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การที่ผู้คนร้านค้าและหน่วยงานหลั่งไหลเข้ามาพำนักอาศัย ย่อมหมายถึงภาระการบริหารจัดการของท้องถิ่น เป็นหัวข้อวิจัยที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป