ส่องเลือกตั้งคึก แห่ชิงส.ส.เขต-ปาร์ตี้ลิสต์

ส่องเลือกตั้งคึก แห่ชิงส.ส.เขต-ปาร์ตี้ลิสต์

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการที่มีผู้สมัคร ส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองต่างๆ จำนวนมาก

ปฐวี โชติอนันต์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การเลือกตั้งรอบนี้มีพรรคการเมืองลงสมัครทั้งสิ้น 67 พรรคการเมือง ด้านหนึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงความหลากหลายของการมีตัวแทน

ADVERTISMENT

อีกด้านหนึ่ง ในบริบทการเมืองของประเทศไทยการมีพรรคการเมืองมาลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวนมากนั้น สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของสถาบันพรรคการเมืองในประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหาร การยุบพรรคการเมือง และการออกกติกาการเลือกตั้งที่มีการเปลี่ยนไปมายังหาจุดลงตัวไม่ได้ การเลือกตั้งรอบที่แล้วใช้การเลือกตั้งแบบผสมบัตรใบเดียว คะแนนไม่ตกน้ำ ผลที่ตามมาคือมีพรรคการเมืองที่ร่วมเป็นพรรครัฐบาลผสมกว่า 20 พรรค

การเลือกตั้งรอบนี้ ถึงแม้จะเปลี่ยนกติกามาเป็นบัตร 2 ใบ และนับคะแนนแยกกัน ระบบนี้ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ และมีแนวโน้มจะนำไปสู่การตั้งรัฐบาลร่วม 4-5 พรรคการเมือง

นอกจากนี้ แคนดิเดต-ส.ส.เขต-ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ลงรับสมัคร สะท้อนให้เห็นการวางกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น พรรคเพื่อไทย มีนักการเมืองย้ายกลับมาอยู่ในพรรคเป็นจำนวนมาก ส.ส.เขตที่ก่อนหน้านั้นจะมีโอกาสลงในบัญชีรายชื่อแต่ต้องกลับไปลงเขตของตนเพื่อรักษาฐานคะแนนเสียงและปล่อยให้ลำดับในบัญชีรายชื่อเป็นของ ส.ส.ที่เพิ่งย้ายมา รวมถึงการส่งบ้านใหญ่คุมในแต่ละพื้นที่เพื่อให้มั่นใจว่า ส.ส.ในจังหวัดนั้นจะได้รับเลือกตั้งมากที่สุด

นอกจากนี้ ถ้าดูจากลำดับบัญชีรายชื่อจะเห็นว่า นักการเมืองที่มีชื่อเสียงและมีโอกาสเป็นรัฐมนตรีจะไปอยู่ในลำดับหลังๆ เนื่องจากถ้าพรรคได้เป็นรัฐบาลจะได้ไม่ต้องสละการเป็น ส.ส. ที่สำคัญยังเปิดให้มีที่ว่างให้กับนักการเมืองท่านอื่นเข้ามาเป็น ส.ส.ในบัญชีรายชื่อรอบแรก

สุดท้ายคือ การวางให้แคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยนั้นมีสามคน ด้านหนึ่งเพื่อป้องกันอุบัติเหตุการเมือง อีกด้านหนึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระการหาเสียงของคุณแพทองธาร ชินวัตร ที่กำลังท้องได้อีกด้วย และส่งสัญญาณให้เห็นว่าแคนดิเดตพรรคเพื่อไทย
มีทั้งนักธุรกิจ นักกฎหมาย และลูกสาวของอดีตนายกฯทักษิณซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนเหนือและอีสาน

ส่วนพรรคก้าวไกลนั้นเราจะเห็นบัญชีรายชื่อมีความหลากหลายมาจากคนหลายกลุ่ม ที่สำคัญแคนดิเดตนายกฯยังลงรับสมัครแบบบัญชีรายชื่อเป็นลำดับที่ 1 แนวทางของพรรคเชื่อว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเป็น ส.ส.เพื่อให้เชื่อมโยงกับประชาชน การกระทำดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์ของพรรคที่ยึดถือกันมาในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตยและนายกฯต้องมาจาก ส.ส.

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยนั้น มีการวางกลุ่มบ้านใหญ่ในแต่ละพื้นที่ และวางแคนดิเดตนายกฯอยู่บัญชีรายชื่อ การกระทำเหล่านี้เพื่อต้องการใช้ในการลงพื้นที่หาเสียงในพรรคของตนเอง

ตอนนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือน ที่จะเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกเขตในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ส่วนการเลือกตั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำมากที่สุดตอนนี้คือการออกนโยบายที่แก้ไขปัญหาให้กับประชาชน นำเสนอนโยบายของตนไปให้ประชาชนรับรู้เพื่อที่จะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าจะเลือกพรรคใด การนำนโยบายของตนลงไปสู่ประชาชนนั้นมีหลายช่องทางทั้งการหาเสียงของ ส.ส.ในพื้นที่ การส่งตัวแทนไปออกรายการดีเบตต่างๆ การยิงสปอตโฆษณาผ่านทางช่องทางออนไลน์ หรือการใช้เครือข่ายในท้องถิ่นและหัวคะแนนในการสื่อสารกับประชาชนในแต่ละพื้นที่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำมากที่สุดนอกจากการรักษาฐานคะแนนเสียงเดิมที่ตนได้แล้วคือการออกนโยบายในการขยายฐานเสียง เราจะเห็นชัดจากพรรคเพื่อไทยที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมากขึ้น การสนับสนุนยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ สิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ที่ต่อมากลายเป็นพรรคก้าวไกลเคยเสนอมาก่อน ตอนนี้พรรคเพื่อไทยต้องการคะแนนเสียงคนรุ่นใหม่จึงหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายเหล่านี้มากขึ้น หรือพรรคก้าวไกลเองที่ช่วงหลังมีการเปิดตัวทีมเศรษฐกิจและนำเสนอนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นเพื่อขยายฐานเสียงให้มากขึ้น

สำหรับพรรคภูมิใจไทย ยังคงเน้นนโยบายที่ตนเองต้องการเป็นเจ้ากระทรวงในการเป็นรัฐบาลสมัยหน้า เช่น กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกัญชาเสรี การรักษาโรคไตฟรี หรือการก่อสร้างคมนาคม

พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยังให้ความสำคัญกับนโยบายที่เคยทำมา เช่น โครงการประชารัฐบัตรคนจน และการคัดค้านในเรื่องการแก้ไขกฎหมาย ม.112 อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้อาจจะคล้ายกับนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯตรงนี้ก็ต้องมาดูกันว่าเครือข่ายในท้องถิ่นและบ้านใหญ่ของใครจะมีอิทธิพลมากกว่ากันในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมาถึง

สุดท้าย ยิ่งการเลือกตั้งใกล้เข้ามา พรรคเพื่อไทยออกนโยบายให้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผมว่าสามารถสร้างแรงสะเทือนให้กับพรรคต่างๆ ได้อย่างมาก พรรคต่างๆ ต้องคิดนโยบายเศรษฐกิจของตนมาสู้กับพรรคเพื่อไทย เนื่องจาก 10,000 บาท เป็นจำนวนเงินที่มาก

อย่างไรก็ตาม นโยบายที่แต่ละพรรคจะออกมาช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งน่าจะต้องจับประเด็นที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ตอนนี้มากขึ้น เช่น ปัญหา PM2.5 ที่คนไทยทั้งประเทศกำลังเผชิญอยู่ แต่การพูดถึงปัญหาตรงนี้ในวงกว้างและเชิงนโยบายของพรรคการเมืองตรงนี้ยังไม่มาก ถ้าจับปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญในปัจจุบันให้ดีและออกนโยบายที่ฟังแล้วสามารถแก้ได้จริง ก็อาจจะทำคะแนนในช่วงโค้งสุดท้ายได้

นพพร ขุนค้า
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

การที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากนั้น เป็นความสวยงามในระบอบประชาธิปไตย
ถือเป็นการตื่นตัวทางการเมืองในการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้

ส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่น่าสนใจ มีอยู่เพียงประมาณ 3-4 คนใน 3 พรรคการเมืองเท่านั้นที่โดดเด่น
และมีโอกาสเป็นนายกฯ เช่น น.ส.แพทองธารชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนลุงป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั้น แม้มีโอกาสก็จริงแต่ว่าการตั้งรัฐบาลโดยพรรคที่ไม่ได้มีเสียงส่วนใหญ่เป็นข้างมาก รวมถึงการยอมรับของคนทั้งประเทศไม่ได้โดดเด่นอะไร รวมถึงยังมีปัญหาสุขภาพด้วย ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล มองว่ายังโซซัดโซเซ จากการที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โจมตีพรรค จึงคิดว่าไม่น่าจะมีความพร้อมและคงรอแต่เป็นพรรคร่วมเท่านั้นมากกว่า หากจะขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีเลย ยังมองว่าเหนื่อยสำหรับนายอนุทิน ในขณะนี้ จึงมองว่าในสามคนนี้ประกอบด้วย
น.ส.แพทองธาร หรือนายเศรษฐา พรรคเพื่อไทย และ พล.อ.ประยุทธ์ ใครจะช่วงชิงที่จะรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่ากัน

สำหรับความตื่นตัวทางการเมืองที่สะท้อนได้จากการที่มีพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนมากถึง 67 พรรคแบบบัญชีรายชื่อ และ 70 พรรคแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จะเป็นการช่วยกระตุ้นทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนทั่วไปได้มากขึ้นด้วย เนื่องจากในแต่ละพรรคก็ต่างมีแฟนคลับของตัวเอง อีกทั้งยังเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งรอบนี้คนจะออกมาใช้สิทธิกันมากขึ้นด้วย

และที่สำคัญที่ได้เห็นกันในเวลานี้ คือ พรรค การเมืองแต่ละพรรคจะขุดนโยบายลดแลกแจกแถม หรือประชานิยมออกมาประชันกัน ซึ่งมองว่าไม่ผิด และถือเป็นสิ่งสวยงาม ขณะที่ประชาชนก็ควรให้ความสำคัญกับนโยบายในการตัดสินใจเลือกผู้แทนของตน และไม่อยากเห็นภาพของการใช้กระสุน หรือทรัพยากรทางการเมืองที่เรียกว่ากระสุน ที่ทำให้มองไปไกลถึงขั้นว่าอยากให้บ้านเมืองไม่มีการซื้อเสียง โดยอยากให้พรรคการเมืองมาแข่งกันโดยนโยบายดีกว่า

ส่วนแต่ละพรรคจะมาวิจารณ์นโยบายกันว่า อย่างนี้ทำได้ไม่ได้อย่างไรมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือหากจะพูดกันตรงๆ ก็คือนโยบายก็เป็นการขายฝันนั่นเอง ส่วนการจะทำฝันให้เป็นจริงหรือไม่ เมื่อไปเป็นรัฐบาลแล้วทำได้แบบไม่เป็นจริงก็อาจจะถูกประชาชนลงโทษ โดยการไม่ได้รับเลือกตั้งในคราวต่อไปเท่านั้นเอง จึงอยากให้ประชาชนได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายแต่ละพรรค และเลือกพรรคที่ชอบมากกว่าการที่เขาเอาสิ่งอย่างอื่นมาให้เสียดีกว่า

ส่วนการที่พรรคการเมืองจะสื่อสารไปถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็วได้อย่างไรถึงนโยบายที่กำลังทยอยออกมา หรือทันกับช่วงกรอบเวลาในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เชื่อว่ามีเวลาเพียงพอเนื่องจากปัจจุบันสื่อออนไลน์ต่างๆ เข้าถึงได้เร็ว และโลกเปลี่ยนไปมากแล้ว ซึ่งการที่มีโลกออนไลน์ได้ช่วยทำให้พรรคการเมืองหาเสียงได้ง่ายขึ้น และต้องเร่งสร้างความเข้าใจในนโยบายที่เสนอมา เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล ที่หลายคนสงสัยว่าพรรคที่เสนอมาจะทำได้จริงไหม

หน้าที่ของพรรคการเมือง คือ ต้องไปอธิบายกับประชาชนว่าจะทำได้จริงหรือไม่ และแหล่งเงินที่จะเอามานั้น จะไปเอามาจากไหนในการทำนโยบายอย่างนี้ ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากนโยบายฉาบฉวยแล้ว จึงอยากฝากพรรคการเมืองทุกพรรคว่าเราต้องนึกถึงนโยบายต่างๆ ที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปในอนาคต และฝากถึงพี่น้องประชาชนให้ดูกันตรงจุดนี้

โดยนอกจากเรื่องนโยบายแล้วยังมีสิ่งที่จะเป็นสีสัน ที่แต่ละพรรคจะนำมาโจมตีกันว่าพรรคนี้ทำได้ พรรคนี้ทำไม่ได้ หรือพรรคนี้ถ้าทำนโยบายนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นมาภายหลัง ซึ่งจะเป็นสีสันทางการเมือง

จึงถือว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ เป็นการทำให้คนในประเทศตื่นเต้นกันมากกว่า โดยนโยบายต้องมองถึงอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องมองนโยบายว่าอนาคตข้างหน้าประเทศจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่นโยบายที่มาแป๊บๆ เดียว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแป๊บเดียวแล้วหายไปอย่างนั้น ต้องมองอนาคตวางรากฐานอนาคตให้กับประเทศเราด้วย จึงจะเป็นนโยบายที่น่าสนใจ

ส่วนการที่พรรคอื่นจะออกนโยบายมาเกทับกระเป๋าเงินหนึ่งหมื่นบาทนั้นคงยากแล้ว เพราะว่าแต่ละพรรคได้เปิดตัวออกนโยบายกันมาก่อนล่วงหน้าแล้วว่าจะทำอะไร เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท หรืออีกพรรคนึง 1,000 บาท แต่มองว่าจะใช้วิธีการนำมาโจมตีกันมากกว่าว่าจะทำได้จริงหรือไม่ และจะผิดวินัยทางการเงินการคลังหรือไม่ และยังเป็นโอกาสในการชี้แจงสำหรับพรรคที่เพิ่งออกนโยบายมาแล้วถูกโจมตี เป็นการต่อสู้ทางนโยบายจะยิ่งทำให้คนเกิดความตื่นเต้น

และขอย้ำว่านโยบายเป็นสิ่งสวยงามของพรรคการเมืองที่จะนำเสนอต่อประชาชน ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่ได้จริง สำเร็จหรือไม่สำเร็จเมื่อได้เป็นรัฐบาลนั้น จะเป็นคำตอบเองเมื่อคราวครบวาระของการเป็นรัฐบาล สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นขอให้ใช้ความสวยงามในการแข่งขันกัน และใช้นโยบายกันจริงๆ และให้เข้าถึงประชาชน อธิบายถึงนโยบายของท่านว่าจะดีอย่างไร ไม่อยากให้เกิดภาวการณ์ไปเดินจดรายชื่อของหัวคะแนนแล้วใช้กระสุนอย่างนั้น

ในครั้งนี้ขอบอกได้เลยว่ากระสุนอาจจะด้านและอาจจะเจ็บปวดทั้งใจ และเจ็บทั้งกระเป๋าเงินด้วย ส่วนพี่น้องประชาชนนั้นก็ขอให้นึกถึงนโยบายของแต่ละพรรคมากกว่าไปนึกถึงอย่างอื่น 4 ปีที่เลือกตั้ง 1 ครั้ง คือ อนาคตของบ้านเมืองเรา ประชาชนต้องช่วยกันอย่านอนหลับทับสิทธิ วันที่ 14 พฤษภาคมนี้ อยากเห็นสถิติการออกมาใช้เสียงเลือกตั้งเป็นจำนวนมหาศาล