5 เรื่องในระบบสาธารณสุข ที่รัฐควรปฏิรูปอย่างเร่งด่วน : โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่ผ่านประชามติของประชาชนชาวไทย กล่าวถึงระบบสาธารณสุขของรัฐไว้ว่า มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มาตรา 48 สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังคลอดบุตรย่อมได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆ ให้เกิดผลต่อไปนี้ ช.ด้านอื่นๆ (4) ปรับระบบประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการ และการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกเท่าเทียมกัน (5) ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม

ในปัจจุบันระบบสาธารณสุขของรัฐกำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอย จนทำให้ประชาชนผู้ยากไร้ไม่สามารถเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพและสะดวกเท่าเทียมกัน จากวิกฤต 7 ประการดังนี้

1.วิกฤตการเงินของโรงพยาบาลรัฐ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบปัญหาโรงพยาบาลรัฐขาดสภาพคล่องประสบภาวะวิกฤตทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2558 โรงพยาบาลที่มีวิกฤตการเงินจำนวนมาก วิกฤตรุนแรงระดับ 7 มีจำนวนกว่าร้อยโรง คิดเป็นร้อยละ 10-20 ของจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมดเกิดขึ้นทุกไตรมาส โดยเฉพาะไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้การรักษาพยาบาล การป้องกันโรคด้อยคุณภาพ

Advertisement

2.วิกฤตความแออัดของคนไข้ เมื่อมีระบบประกันสุขภาพเกิดขึ้นใน 13 ปีที่ผ่านมา พบจำนวนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในไปกระจุกแออัดกันที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 50-200 แม้กระทรวงสาธารณสุขจะมี
นโยบายและกลยุทธ์ลดความแออัดอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ส่งผลให้คิวการรักษายาวนาน สภาพผู้ป่วยที่ลำบากยากจนต้องนอนเตียงเสริม ใส่เครื่องหายใจในตึกผู้ป่วยสามัญ พบเห็นกันเกือบทุกโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่

3.วิกฤตการฟ้องร้อง การร้องเรียน การฟ้องศาล แม้จะมีจำนวนน้อย ไม่ถึงร้อยละ 1 ของจำนวนแพทย์ทั้งหมด แต่เชื่อว่ามีมากกว่าที่เห็น เนื่องจากส่วนใหญ่มีการเจรจาไกล่เกลี่ยก่อนเกิดคดี จนลงเอยด้วยการไม่ฟ้องร้อง ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไป ขาดความเชื่อมั่นศรัทธา ส่งผลให้เกิดการแพทย์ป้องกันตัว (Defence medicine) มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการตรวจรักษาคนไข้ เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ สมัย 10 ปีก่อน วินิจฉัยโดยการตรวจทางคลินิก ปัจจุบันวินิจฉัยโดยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่มีการผ่าตัดหรือทำคลอดที่โรงพยาบาลชุมชน มีการส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชนเข้าโรงพยาบาลจังหวัดจำนวนมากขึ้น เพราะคนไข้และญาติขาดความมั่นใจ

4.วิกฤตการกระจายแพทย์ จำนวนแพทย์ทั่วประเทศประมาณ 5 หมื่นราย เกินร้อยละ 50 อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล แพทย์จบใหม่ ปีละสองพันเศษ ลาออกจากราชการประมาณ 600 คน แพทย์ในชนบทเป็นแพทย์จบใหม่และเปลี่ยนหน้าทุกปี แม้ร่างรัฐธรรมนูญสนับสนุนการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ จากค่านิยมของแพทย์และประชาชนที่ยังศรัทธาแพทย์เชี่ยวชาญ และแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะโรค (Board, Subboard) ซึ่งมีการเพิ่มจำนวนผลิต

Advertisement

5.วิกฤตมาตรฐานการรักษา สาเหตุของการฟ้องร้องที่มากที่สุดคือปัญหาการสื่อสารและมาตรฐานการรักษา โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งมีข้อจำกัดในจำนวนคน เครื่องไม้เครื่องมือ เงินทุน ความรู้ความชำนาญของบุคลากร การบริหารยา การบริหารจัดการที่ดี มีข้อจำกัดของการส่งต่อ

6.วิกฤตภาระงาน ปัจจุบันอัตราครองเตียงของโรงพยาบาลหลายแห่งเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ บุคลากรทางการแพทย์รับภาระงานหนัก ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าแพทย์ส่วนหนึ่งปฏิบัติงาน 94 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำงานต่อเนื่องเกิน 24 ชั่วโมง มีเวลาพักน้อย ตรวจผู้ป่วยนอกใช้เวลาคนละประมาณ 5 นาที เช่นเดียวกับพยาบาลบางแผนก ชั่วโมงทำงานที่มากเกินไป ทำให้เกิดความผิดพลาด บางแห่งการบริการทางพยาบาลต้องอาศัยญาติของคนไข้ช่วยกัน

7.วิกฤตธรรมาภิบาลในโรงพยาบาลรัฐ กระบวนการปฏิบัติงานและระบบงานยังไม่เป็นมาตรฐาน ยังไม่สามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนา สร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจสนองตอบความคาดหวังของประชาชนได้ในบางโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งไม่โปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้ ประชาชนไม่ค่อยมีส่วนร่วมในการพัฒนา และยังมีการเลือกปฏิบัติ ไม่เท่าเทียมกัน ในสิทธิการรักษาพยาบาลทั้งสามสิทธิ ประกันสังคม ข้าราชการ บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า

5เรื่องในระบบสาธารณสุขที่รัฐควรปฏิรูปอย่างเร่งด่วน มีดังนี้

1.แก้ไขวิกฤตการเงินการคลังของโรงพยาบาลรัฐที่ขาดสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดการจำกัดคุณภาพการรักษาพยาบาล ปัจจุบันมีคณะทำงานระดับต่างๆ แต่การแก้ไขยังไม่บรรลุผล ทั้งเพราะงบประมาณมีไม่เพียงพอ ทั้งส่วนหนึ่งเชื่อว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการบริหารงาน

2.สร้างเสริมพลังประชาชน เราคือหมอคนแรกและคนสุดท้ายของตนเอง คนเราจะมีสุขภาพแข็งแรงไม่ได้ขึ้นอยู่กับหมอและโรงพยาบาล ประชาชนทุกคนต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้ดูแลสุขภาพของตนให้แข็งแรงเป็นพื้นฐาน เห็นความสำคัญของการรับวัคซีน การตรวจคัดกรองโรค การป้องกันโรค การคุมกำเนิด เตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เข้าใจการแพทย์ เข้าใจวัฏจักรเกิดแก่เจ็บตาย สามารถละโลกนี้ไปอย่างมีศักดิ์ศรี

3.เสริมพลังบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งระดับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ สร้างแรงจูงใจ ให้มีความสามัคคี มีคุณธรรม ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการดูแลสุขภาพประชาชน ให้บรรลุตัวชี้วัดสุขภาพที่สำคัญ

4.ทบทวนนโยบายสาธารณสุขที่สำคัญ เช่น การผลิต การกระจายแพทย์ กฎหมายใหม่ทางการแพทย์ ภาระงาน ค่าตอบแทน มาตรฐานการรักษา การส่งต่อ การผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

5.สร้างโรงพยาบาลคุณธรรม มีการบริหาร การจัดซื้อจัดจ้าง การเงิน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยึดหลักซื่อสัตย์ มีคุณธรรม จริยธรรม ยึดมั่นความถูกต้องของประโยชน์ส่วนรวม พอเพียง ประหยัด ประชาชนพึงพอใจ ผู้ให้บริการมีความสุข บริการด้วยน้ำใจ มีมาตรฐาน ยุติธรรม เคารพในศักดิ์ศรีของบุคคลอื่น เป็นจิตอาสาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม จนโรงพยาบาลสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในที่สุด

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image