การยกเลิกโทษประหารชีวิตสถานเดียวในมาเลเซีย

การยกเลิกโทษประหารชีวิตสถานเดียวในมาเลเซีย

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 สภาผู้แทนราษฎรของมาเลเซียได้ผ่านร่างกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตสถานเดียว โดยให้ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจได้ 3 ทางคือ ลงโทษประหารชีวิตในกรณีการก่ออาชญากรรมร้ายแรงเป็นพิเศษ หรือจำคุกจนสิ้นอายุขัยในกรณีการก่ออาชญากรรมร้ายแรง หรือจำคุกตลอดชีวิต (ในบริบทของมาเลเซียหมายถึงจำคุกไม่เกิน 30 – 40 ปี) ในกรณีก่ออาชญากรรมร้ายแรงแต่ไม่ถึงกับทำให้ผู้ใดเสียชีวิต นับเป็นก้าวสำคัญไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตไปเลย

นายรามคาปาล ซิงห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมให้เหตุผลในการเสนอร่างกฎหมายนี้ว่า เมื่อทำโทษประหารชีวิตไปแล้ว จะย้อนกลับมาทบทวนคดีใหม่ไม่ได้ และโทษประหารไม่มีผลในการป้องปรามอาชญากรรม เขากล่าวว่า “โทษประหารชีวิตไม่ก่อให้เกิดผลดังที่เราตั้งใจ” เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะเป็นประโยชน์แก่นักโทษรอการประหารจำนวนประมาณ 1300 คน ซึ่งประมาณ 60 % อยู่ในกรณีที่กฎหมายบังคับให้ประหารชีวิตสถานเดียว พวกเขาสามารถใช้กฎหมายย้อนหลังที่เป็นคุณ โดยขอให้ศาลทบทวนกรณีของตนได้ อย่างไรก็ดี มาเลเซียไม่ดำเนินการประหารชีวิตนักโทษรอประหารตั้งแต่ปี 2561 แล้ว

กล่าวกันว่ามีคดีคดีหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนใจชาวมาเลเซียในเรื่องโทษประหารชีวิต นั่นคือคดีเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค กฎหมายมาเลเซียในเรื่องกัญชามีบทลงโทษที่รุนแรงมาก ผู้ปลูกกัญชา 1 ต้นอาจต้องโทษจำคุกจนสิ้นอายุขัย ผู้ที่มีกัญชาเกินกว่า 200 กรัมอาจต้องโทษประหารชีวิต มีหญิงชาวมาเลเซียคนหนึ่งชื่อ ยูกิ ตอนที่เธออายุ 29 ปี เธอเป็นโรคขาดสารโปแตสเซียมในเลือด ทำให้เจ็บปวดมาก อีกทั้งมีเบาหวานแทรกซ้อน ยาอื่น ๆ ที่ใช้มาไม่เป็นผล จึงตัดสินใจใช้กัญชา แม้เสี่ยงต่อการติดคุกก็ยอม ปรากฏว่ากัญชามีผลดีต่อเธอ ความเจ็บปวดทุเลาลง สามารถกลับมาดูแลลูกและทำงานบ้านได้ใหม่

ADVERTISMENT

ตอนนี้ ยูกิอายุ 41 ปี สิบกว่าปีที่ผ่านมา เธอถูกจับกุมและคุมขังหลายหน รวมทั้งครั้งหนึ่งที่ถูกจับทั้งครอบครัว แต่เธอไม่ท้อถอย และผันตัวเองมาเป็นหัวหอกในการรณรงค์การใช้กัญชาทางการแพทย์ที่เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับมาเลเซีย เธอกล่าวว่า ถ้าให้อดใช้กัญชาและโรคเก่ากลับมาเยือน “ยอมตายเสียดีกว่า” เพื่อนของเธอหลายคนที่ร่วมรณรงค์ได้ติดตารางกันเป็นแถว เธอเองต้องออกจากงาน แล้วก็เกิดเหตุการณ์ขั้นวิกฤตคือ เพื่อนของเธอชื่อ มูฮัมมัด ลุกมาน ถูกตัดสินประหารชีวิตเพราะขายน้ำมันกัญชาทางเฟสบุคเพชชื่อ HealTHCare (สังเกตว่า THC คือสารประกอบออกฤทธิ์ทางจิตประสาทของกัญชา) เขาถูกกล่าวโทษว่าเฟสบุคดังกล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น กัญชารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมียได้ กรณีของลุกมานจุดประกายข้อถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง เพราะหลายคนเห็นว่าเป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด มีการรวบรวมลายมือชื่อหลายหมื่นชื่อ รวมทั้งชื่อของผู้นำทางการเมืองคนสำคัญ ที่เรียกร้องให้มีการทบทวนคดีนี้ การรณรงค์ของยูกิและพวกเริ่มสร้างผลแตกต่าง มีการถกเถียงเรื่องคุณสมบัติทางการแพทย์ของกัญชาอย่างกว้างขวาง และรัฐบาลของมาฮาดีร์ โมฮามัดประกาศว่าจะดำเนินการเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี เวลาผ่านไปจนมาถึงรัฐบาลอันวาร์ อิบราฮิม กฎหมายใหม่ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่ทำเพียงยกเลิกการโทษประหารชีวิตสถานเดียว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานว่า ในปี 2564 มี ประเทศจำนวน 55 ประเทศที่ยังคงมีการประหารชีวิต ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ประมาณ 140 ประเทศได้ยุติโทษดังกล่าวแล้ว ไม่ทางพฤตินัยก็ทางนิตินัย โดยมีเหตุผลหลักคือ บทลงโทษประหารชีวิตไม่ส่งผลให้การประกอบอาชญากรรมร้ายแรงลดลง ลองมาดูสถานการณ์ในประเทศอาเซียนของเราบ้าง

ADVERTISMENT

สมาคมอาเซียนมีสมาชิก 10 ประเทศ และกำลังจะมีสมาชิกเพิ่มอีกหนึ่งประเทศคือ ตีมอร์ เลสเต สมาชิกประเทศแรกที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตได้สำเร็จในปี 2532 คือ กัมพูชา ตามด้วยฟิลิปปินส์ และตีมอร์ เลสเต ผมเข้าใจว่าเหตุผลที่ยกเลิกได้สำเร็จ เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเหล่านี้ และความเชื่อทางศาสนาเรื่องการไม่ฆ่าเพื่อนมนุษย์ ซึ่งมีอยู่ชัดเจนในศาสนาพุทธ (กรณีกัมพูชา) และศาสนาคาทอลิก (กรณีฟิลิปปินส์และตีมอร์ เลสเต) ขณะนี้มาเลเซียได้ตามมาในหนทางนี้ ประเทศอาเซียน 2 ประเทศมีบทลงโทษประหารชีวิต แต่ไม่บังคับใช้โทษ ได้แก่ ลาว และบรูไน ประเทศเมียนมาไม่ได้บังคับใช้โทษประหารชีวิตมาประมาณ 30 ปี เพิ่งมาบังคับใช้เมื่อรัฐบาลทหารดำเนินการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย 4 คนในเดือนกรกฎาคม 2565 ในข้อหาการก่อการร้าย ประเทศไทยไม่ได้บังคับใช้โทษนี้เป็นเวลา 9 ปี (2552-2561) และบังคับใช้โทษเพียงครั้งเดียวในปี 2561 ประเทศที่มีการประหารชีวิตอยู่คือ อินโดนีเซีย สิงค์โปร์ และเวียดนาม เช่น มีรายงานว่า สิงค์โปร์ได้ประหารชีวิตนักโทษ 11 คนในปี 2565 ในข้อหาค้ายาเสพติด

แล้วประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไรบนหนทางการลดละโทษประหารชีวิต คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 26 มีนาคม 2558 เรื่องข้อเสนอและนโยบายในการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตและหลักสิทธิมนุษยชน ต่อมาคณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอและนโยบายดังกล่าว พร้อมทั้งส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณา

ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม 2565 นายสมศักดิ์  เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา “ทิศทางโทษประหารชีวิตกับบริบทของสังคมไทย” โดยมีนายเรืองศักดิ์  สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้กล่าวรายงานและชี้แจงว่า การสัมมนาฯรูปแบบออนไลน์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต ทั้งในบริบทสากลและบริบทสังคมไทย รวมถึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณากำหนดทิศทางในการรณรงค์เปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยต่อไป ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายในการสัมมนาฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนผู้สนใจ รวมจำนวนประมาณ 420 คน

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางปรีดา คงแป้น นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประชุมร่วมกับเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม การประชุมเกิดขึ้นเนื่องในโอกาสที่วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากล (World Day against the Death Penalty) การพบหารือในครั้งนี้จึงเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การประหารชีวิตและโทษประหารชีวิตในประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งหารือถึงแนวทางการสร้างความเข้าใจต่อโทษประหารชีวิต ตลอดจนการพิจารณาทางเลือกอื่นที่มีประสิทธิภาพในการป้องปรามอาชญากรรมร้ายแรง

จะเห็นว่าความคืบหน้าในการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทยนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า ในการสอบถามความเห็นของคนทั่วไป ส่วนใหญ่ยังเห็นว่าควรดำรงโทษประหารชีวิตต่อไป เพราะยังติดอยู่กับกระบวนทัศน์ของฮัมมูราบีที่ว่า ความยุติธรรมคือตาต่อตา ฟันต่อฟัน แม้จะมีศาสดาหลายองค์บอกว่า ความยุติธรรมคือความรักและความกรุณาก็ตาม แต่เรามักเชื่อฮัมมูราบีมากกว่า

ในการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต เราควรใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของหมอประเวศ วะสี คือ (1)ใช้องค์ความรู้และเหตุผล เช่นว่า โทษประหารชีวิตไม่ช่วยป้องปรามให้อาชญากรรมร้ายแรงลดลง ไม่ยุติธรรมต่อเหยื่อที่ไม่ได้รับการชดเชยความเสียหาย ไม่ให้โอกาสการกลับตัวของผู้กระทำความผิด หากการตัดสินผิดพลาดผู้ถูกประหารจะรื้อฟื้นคืนชีวิตไม่ได้ ฯลฯ (2) ใช้การสื่อสารกับสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องสังคมที่ยุติธรรม และความรู้สึกที่มีร่วมกันต่ออาชญากรรมร้ายแรง (3) เมื่อการรับรู้ของสังคมเริ่มปรับเปลี่ยน ก็ถึงเวลาที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะมีปณิธานทางการเมืองที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปสู่ผล นั่นคือ ดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ที่อาจฝืนความรู้สึกของคนจำนวนมากในเบื้องต้น

ผู้ที่คิดว่าควรยุติโทษประหารชีวิตอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งคิดว่าควรยกเลิกโทษประหารทันที โดยแก้กฎหมายมิให้โทษประหารชีวิตเป็นโทษทางอาญา ส่วนกลุ่มที่สองคิดว่าควรยกเลิกโทษประหารอย่างมีขั้นตอน เพื่อให้เวลาการปรับความคิดอ่านของสังคม ผมชอบความคิดของกลุ่มที่หนึ่ง เพราะจะไม่ยืดเยื้อ กระนั้น แนวทางของกลุ่มที่สองมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า แต่ก็ต้องระบุ “ขั้นตอน” ให้ชัดเจน จึงขอเสนอตัวอย่างขั้นตอนดังนี้

ในขั้นแรก จะไม่มีการออกกฎหมายใหม่ ที่จะเพิ่มฐานความผิดที่ต้องลงโทษประหารชีวิต ขั้นตอนต่อไปคือยกเลิกโทษประหารชีวิตสถานเดียว ศาลสามารถใช้ดุลพินิจว่าจะตัดสินประหารชีวิตหรือไม่ก็จำคุกตลอดชีวิตได้ ขั้นตอนที่สามคือลดฐานความผิดที่จะประหารชีวิตให้เหลือเพียงอาชญากรรมที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขั้นตอนสุดท้าย เช่นภายใน 10 ปี จะยกเลิกโทษประหารชีวิตไปเลย

ผมไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ได้ลองเขียนขั้นตอนข้างต้นให้ดูคล้ายร่างกฎหมายกับเขาหน่อย เพื่อเป็นต้นร่างให้นักกฎหมายพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สละสลวยในรูปแบบที่อาจจะเป็นกฎหมายต่อไป ร่างของผมเป็นดังนี้

ร่าง

พระราชบัญญัติการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหารชีวิต พ.ศ. ……….

ด้วยมีความจำเป็นที่จะปกป้องสังคมจากอาชญากรรมที่ร้ายแรง ตลอดจนเยียวยาผู้เสียหายโดยตรงจากอาชญากรรมดังกล่าว ขณะเดียวกัน การลงโทษประหารชีวิตแม้เป็นการลงโทษที่เด็ดขาด แต่มีข้อศึกษาทางอาชญาวิทยาว่า โทษประหารชีวิตไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการป้องกันอาชญากรรมและป้องปรามผู้ที่จะกระทำความผิดให้ยับยั้งชั่งใจก่อนลงมือกระทำการ ประกอบกับสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติมีมติให้พักใช้การประหารชีวิตในขณะที่กำลังพิจารณาแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ เพราะการประหารชีวิตไม่เปิดโอกาสการกลับตัวกลับใจของผู้ถูกลงโทษ อีกทั้งกรณีการตัดสินคดีที่มีข้อผิดพลาดด้านพยานหลักฐานก็ไม่สามารถคืนความยุติธรรมได้ ในประการสำคัญ การประหารชีวิตเป็นการลิดรอนสิทธิในชีวิตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ จึงควรใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหารชีวิตอย่างมีขั้นตอน จึงตราพระราชบัญญัติฉบับนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัติฉบับนี้ชื่อ “พระราชบัญญัติการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหารชีวิต พ.ศ. …….”

มาตรา 2 นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

มาตรา 3 พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 4 ห้ามมิให้ตราพระราชบัญญัติใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติที่มีอยู่หรือกฎหมายอื่นใด ซึ่งมีบทลงโทษเป็นการประหารชีวิต

มาตรา 5 ให้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและเผยแพร่ผลการศึกษาต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวางในเรื่องโทษจำคุกตลอดชีวิตและโทษประหารชีวิต วิธีการป้องกันอาชญากรรม และการเยียวยาผู้เสียหายโดยตรงจากอาชญากรรมร้ายแรง ทั้งที่มีใช้ในประเทศไทยและในนานาประเทศ ในการนี้ ให้กระทรวงยุติธรรมจัดประชุมใหญ่เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ร่วมกันถกแถลงในเรื่องโทษจำคุกตลอดชีวิตและโทษประหารชีวิต วิธีการป้องกันอาชญากรรม และการเยียวยาผู้เสียหายโดยตรงจากอาชญากรรมร้ายแรง ตลอดจนวิธีการที่มีประสิทธิผลในการสื่อสารกับสังคมในเรื่องนี้ เป็นประจำทุกปี เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี

มาตรา 6 ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้บรรดากฎหมายอาญาที่มีบทลงโทษเป็นการประหารชีวิตเพียงสถานเดียว เป็นกฎหมายอาญาที่มีบทลงโทษเป็นการประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 7 ภายในห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้บรรดากฎหมายอาญาที่มีบทลงโทษเป็นการประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาที่มิใช่อาชญากรรมอันร้ายแรงที่สุด ตามที่กำหนดในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตลอดจนพิธีสารเลือกรับที่เกี่ยวข้อง เป็นกฎหมายอาญาที่มีบทลงโทษเป็นการจำคุกตลอดชีวิตแทนการประหารชีวิต

มาตรา 8 ภายในสิบปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้บรรดากฎหมายอาญาที่มีบทลงโทษเป็นการประหารชีวิต เป็นกฎหมายอาญามีบทลงโทษที่เป็นการจำคุกตลอดชีวิตแทนการประหารชีวิต

มาตรา 9 ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหารชีวิตได้

นายกรัฐมนตรี

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

เรายังต้องขับเคลื่อนต่อไป เราในที่นี้หมายถึงผู้ที่เชื่อในสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิในชีวิตและความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต หวังว่ากรณีมาเลเซียจะช่วยเป็นกำลังใจแก่เราทุกคน

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image