ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
---|
นับว่าเป็นตัวเรียกกระแสได้อย่างแรงไม่ตกจริงๆ สำหรับภาพยนตร์ “นางเงือกน้อย” (The Little Mermaid) ฉบับคนแสดงของดิสนีย์ ที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนแอนิเมชั่นชื่อเดียวกันซึ่งมีต้นฉบับมาจากนิทานของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน อีกทีหนึ่ง
กระแสดราม่าของภาพยนตร์เรื่องนี้มีตั้งแต่การ “ตีความ” ตัวตนของเงือกน้อยใหม่ โดยเลือก ฮัลลี เบลีย์ ซึ่งเป็นศิลปินผิวดำมาแสดงเป็นนางเงือกน้อยแอเรียล ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเธอไม่มีฝีมือหรือไม่สวย แต่เป็นเพราะมันขัดต่อจินตนาการของผู้ชมซึ่งผูกพันกับภาพจำในฉบับการ์ตูนปี 1989 มากเกินไป
จากนั้นก็ซ้ำเติมดราม่าด้วยการเปิดเผยภาพตัวละครรองและตัวละครเสริมพวกนกและปลาที่ดู “สมจริง” เสียจนขยี้จินตนาการของแฟนการ์ตูนเรื่องนี้ทิ้งแบบไม่เหลือชิ้นดี
ส่วนดราม่าล่าสุดก็คือ ความพยายามเปลี่ยนแปลงเนื้อเพลงในตอนสำคัญของเรื่องซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่แฟนๆ ของการ์ตูนเรื่องนี้จดจำและประทับใจ คือเพลง Kiss the Girl ซึ่งทางผู้สร้างภาพยนตร์เห็นว่าเพลงนี้ในฉบับดั้งเดิม มีลักษณะของการคุกคามและล่วงเกินทางเพศแบบไม่สนใจเรื่องความยินยอม (Consense)
เนื้อเพลงท่อนที่น่าจะเป็นปัญหานี้ในภาษาอังกฤษมีว่า “Yes, you want her. Look at her, you know you do. It’s possible she wants you, too. There is one way to ask her. It don’t take a word, not a single word. Go on and kiss the girl!”
สรุปง่ายๆ คือ เงือกน้อยนั้นเธอคิดอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ดูท่าทางรวมๆ แล้วก็คงจะมีใจแหละมั้ง งั้นไม่ต้องถามสักคำหรอก รวบหัวรวบหางจูบเธอไปเถอะเจ้าชาย
ถ้าพิจารณากันด้วยบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบันแล้ว การปรับเปลี่ยนเนื้อหาเพลงนี้ก็มีเหตุผลที่เข้าใจได้ แต่ความที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีปัญหาเกี่ยวกับการ “ปรับเปลี่ยน” ในประเด็นเรื่องความ “สอดคล้อง” กับค่านิยมแห่งยุคสมัยนี้ซ้ำอีก ก็ยิ่งเหมือนเป็นการไปสุมไฟฝ่ายที่ตั้งป้อมรังเกียจภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่แล้วให้เข้มข้นขึ้นไปอีกว่าทางดิสนีย์และผู้ผลิตสื่ออื่นๆ กำลังเอาใจชาว “Woke” และวัฒนธรรม “Woke” เกินไปหรือไม่
“Woke” คือกระแสความตื่นรู้เรื่องคุณค่าใหม่ของจริยธรรมทางสังคมและวัฒนธรรมที่เฟื่องฟูขึ้นมาเพราะสื่อสังคมออนไลน์ เป็นกระแสหลักในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา กลายมาเป็นจริยธรรมใหม่ หรือความถูกต้องทางการเมือง (Political correctness) แห่งยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อและผลงานทางวัฒนธรรมจะต้อง “ปรับตัว” ตามคุณค่าทางสังคมแบบใหม่นี้
“Woke” เป็นคำกริยาช่องที่สองของ Wake จึงมีความหมายว่า “ตื่นแล้ว” ซึ่งหมายถึงการตื่นรู้ถึงปัญหาทางสังคมต่างๆ และมองว่าค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมแบบเดิมๆ ในตอนที่ยังหลับ
ใหลอยู่ เช่น การเหยียดสีผิว และการมองว่าคนขาวคอเคซอยด์เป็นเผ่าพันธุ์หลัก ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศของสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งค่านิยมนี้ก็นำไปสู่ความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่สนใจในความยินยอมพร้อมใจของฝ่ายหญิง รวมถึงความไม่เท่าเทียมและอคติอื่นๆ ซึ่งแต่เดิมนั้นผู้คนไม่เคยรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาทางสังคม เช่นที่เราไม่สงสัยว่าเจ้าชายถือวิสาสะอะไรไปจูบเจ้าหญิงนิทราที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแถมอยู่ในสภาพหลับใหลไม่ได้สติ ที่ปัจจุบันนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรยอมรับได้อีกต่อไป
ตัวอย่างการปรับตัวของสื่อและงานศิลปะวัฒนธรรมจากอิทธิพลของกระแส Woke ก็เช่นการตีความใหม่ให้ตัวเอกในภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือนิยายไม่จำกัดอยู่เฉพาะ “คนขาว” เท่านั้น นำมาถึงการเพิ่มความหลากหลายในการมีตัวแสดงที่มีสีผิวและเชื้อชาติต่างๆ ซึ่งเราได้เห็นกันไปในภาพยนตร์และซีรีส์ที่สร้างขึ้นหลังยุคแห่งการตื่นรู้นี้ด้วย
ลามไปถึงการเซ็นเซอร์หนังสือ หรือสื่อเก่าที่เห็นว่าเป็นปัญหาต่อค่านิยมใหม่ทางสังคม เช่น วรรณกรรมที่เขียนขึ้นโดยมีมุมมองว่าการมีทาสหรือการเหยียดเพศเป็นเรื่องปกติ หรือถ้าเป็นกรณีที่อาจจะไม่ถึงกับแบนหรือเซ็นเซอร์ แต่ก็มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับคุณค่าแห่งความตื่นรู้นี้ เช่นในงานของ โรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) เพิ่งมีการประกาศว่าในฉบับที่จะตีพิมพ์ต่อไปนี้ จะได้มีการแก้ไขข้อความบางส่วนเพื่อหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่แสดงอคติ หรือสร้างทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้อ่าน
ทั้งหลายนี้กลายเป็นเหตุให้มีฝ่ายที่เห็นว่า “กระแสความ Woke” นี้ เข้ามารุกรานวิถีความบันเทิงและสุนทรียะทางศิลปะจนเกินพอดี เช่น การไปตัดสินผลงานต้นฉบับต่างๆ ที่มีปัญหากับคุณค่านิยมใหม่และให้แบนหรือต้องแก้ไขกันนี้เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เพราะผลงานเหล่านั้นได้สร้างสรรค์ขึ้นในบริบทของสังคมที่แตกต่างออกไป ในยุคสมัยที่เรื่องต่างๆ ข้างต้นยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดจริยธรรมหรือฝ่าฝืนต่อคุณค่าทางสังคม ผู้เขียนหรือผู้สร้างสรรค์เองก็สร้างงานในบริบทนั้นโดยไม่ได้มีเจตนาเหยียดเพศเหยียดผิวหรือสร้างค่านิยมของการล่วงเกินทางเพศอะไรขนาดนั้น เช่นนี้ก็ควรปล่อยให้มันเป็นไปอย่างที่มันเคยเป็น เพื่อสื่อถึงบริบทและค่านิยมในสังคมในยุคสมัยที่มันกำเนิดมาจะดีกว่าหรือไม่
ปัญหาสำคัญที่สุดของกระแสวัฒนธรรมและคุณค่าทางสังคมใหม่แบบ Woke คือการบีบหรือกดดันให้เกิดการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ของผู้ผลิตผลงานทางวรรณกรรม ศิลปะ และอาจรวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการในบางประเด็นด้วย ซึ่งเป็นปัญหาต่อเขตแดนของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสังคม
ถ้าเราจะลองตั้งหลักกันในเรื่องนี้จากจุดเริ่มต้นว่า ความเชื่อทางจริยธรรม บรรทัดฐาน และมารยาททางสังคมนั้นได้แสดงตัวออกมาผ่านผลงานต่างๆ ทั้งงาน วรรณกรรม ศิลปะ ภาพยนตร์ และการแสดง เมื่อสังคมในยุคสมัยหนึ่งเคยมีความเชื่อว่าผู้ชายเป็นใหญ่ เป็นผู้นำครอบครัว และเป็นผู้ต้อง “เริ่มก่อน” ในความสัมพันธ์ทางเพศ เช่นนี้สื่อต่างๆ ที่สร้างขึ้นภายใต้บริบทเช่นนั้นก็จะแสดงภาพความคิดและความเชื่อของสังคมเช่นนั้นออกมาโดยเป็นธรรมชาติ เหมือนเช่นที่เจ้าชายจะคว้าสาวแปลกหน้าที่ไหนมาจูบก็ย่อมได้
ดังนั้น ในทางกลับกันก็ต้องยอมรับว่า คุณค่าใหม่ทางสังคมและจริยธรรมนั้นก็สามารถถูกงานศิลปะ วรรณกรรม และสื่อต่างๆ “ตั้งค่าใหม่” ส่งกลับไปได้เช่นกัน
รวมถึงถ้าเรายอมรับในหลักการว่าการสร้างกลไกเพื่อป้องกันการนำเสนอสาระหรือเนื้อหาที่เป็นอันตรายหรือรบกวนความเป็นอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ถึงกับทำไม่ได้เสียทีเดียวนัก เพราะก็มี “เนื้อหา” หรือ “แนวคิด” บางเรื่องบางอย่างที่นำเสนอค่านิยมที่เป็นอันตรายต่อความเป็นอยู่ร่วมกันโดยสงบสุขของสังคม หรือเป็นเรื่องที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เช่น ไม่ควรยอมรับให้มีสื่อที่เชิดชูเผด็จการแบบฟาสซิสต์ หรือปลุกระดมให้คนเกลียดชังเหยียดเพศเหยียดผิวกัน รวมถึงสื่อที่ส่งเสริมให้คนละเมิดหรือปฏิบัติไม่ดีในเรื่องทางเพศหรือความสัมพันธ์ กรณีที่กล่าวไปนี้ก็สมควรถูกจำกัดการนำเสนอ
ประการต่อมา ถ้าเรายอมรับร่วมกันว่าการเลือกปฏิบัติ การเหยียดเพศ การเหยียดสีผิวนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ดีไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป ความหลากหลายทางเพศสภาพ เชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์นั้นเป็นคุณค่าที่ควรได้รับความเคารพเชิดชู รวมถึงความสัมพันธ์ใดๆ ที่มีนัยทางเพศจะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้น ควรจะเป็นค่านิยมหรือจริยธรรมทางสังคมนับแต่บัดนี้ร่วมกันแล้ว ก็ต้องเข้าใจว่าแนวคิดใหม่ที่เป็นอารยะกว่า และเราประสงค์จะปลูกฝังให้อยู่กับสังคมสืบไปนั้นยังอยู่ในสถานะของ “คุณค่าใหม่” ที่เพิ่งสร้างและยังไม่แข็งแรงนัก โดยเฉพาะในบางสังคมที่มีความเชื่อในเรื่องดังกล่าวแบบดั้งเดิมอยู่
การจะให้คุณค่าที่พยายามปลูกฝังมาใหม่นั้น ต้องมาต่อสู้กันในสนามแห่งเสรีภาพอันเท่าเทียม ความเท่าเทียมนั้นก็ไม่ได้ต่างกับอะไรกับการเอาต้นไม้วัยอ่อนที่เพิ่งแตกกล้า ไปปลูกในดินใกล้กับต้นไม้ใหญ่ที่ชอนไชรากลงลึกมายาวนานแล้ว บนพื้นดินเดียวกันนั้น โอกาสที่ต้นไม้ใหม่นั้นจะเติบโตก็อาจจะยาก
ในสภาวะที่ความเชื่อเรื่องเท่าเทียมต่างๆ นี้ยังไม่ถึงกับเป็นกระแสหลักหรือ “ชนะ” คุณค่าแบบเก่าที่เรามองว่าไม่อารยะนั้นได้อย่างเด็ดขาด ยังมีคนที่มีความเชื่อแบบเก่า หรือต่อให้รู้ว่ามีความเชื่อแบบไม่ก็ไม่พยายามปรับเปลี่ยน หากไม่ “รื้อทิ้ง” คุณค่าทางสังคมและความเชื่อทางสังคมแบบเก่าที่เป็นอุปสรรคต่อการปลูกฝังสิ่งใหม่ การปล่อยให้สองแนวคิดนี้ปะทะกันภายใต้กลไกที่ปล่อยให้มีการนำเสนอและเลือกสรรกันโดยเสรีในสภาวะที่ยังไม่เท่าเทียมกันอยู่เช่นนี้ ในที่สุดก็จะเป็นการลดทอนโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะสร้างสรรค์สังคมให้เป็นไปตามค่านิยมใหม่ที่เราเห็นว่าควรจะปลูกฝังต่อไปให้ยากเย็นขึ้น
เพราะในอีกทางหนึ่ง ในบางสังคมที่ยังมีที่ยังมีความคิดความเชื่อในแบบเก่าๆ อยู่ การมีพื้นที่ให้สื่อหรือเนื้อหาที่ “ไม่ Woke” ปล่อยออกมาในฐานะของทางเลือกในการมองโลกหรือจริยธรรมอย่างหนึ่งที่ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดอะไร มันก็จะเท่ากับเป็นการสนับสนุนพฤติกรรมดังกล่าวว่ามันยังเป็นเรื่องปกติที่ยังพอรับได้หรือยังไม่นับว่าเป็นปัญหา ซึ่งแม้ว่าสัดส่วนของสื่อดังกล่าวอาจจะน้อยกว่าสื่อที่มีความก้าวหน้าทางจริยธรรมและวัฒนธรรมทางสังคมมากกว่า แต่ความที่มันยังพอมีที่ทางอยู่นั้น ก็ยังช่วยยืนยันความรู้สึก ความคิดความเชื่อของพวกที่ไม่อยากปรับเปลี่ยนทัศนคติ อาจจะด้วยความไม่รู้ถึงคุณค่าใหม่แบบยังไม่ตื่น พวกที่ยังกึ่งหลับกึ่งตื่น รวมถึงผู้ที่รู้แล้วว่าคุณค่าทางสังคมแบบเก่านั้นไม่ได้รับการยอมให้ไปต่อในสังคมยุคใหม่แล้ว แต่ก็ยังฝืนอยาก “แกล้งหลับ” หรือยังสะลึมสะลือ เหมือนการกดปุ่ม Snooze ให้นาฬิกาปลุกนั้นเลื่อนการเตือนออกไปเรื่อยๆ
เช่นกรณีเร็วๆ นี้ คือข่าวอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในงานเสวนา 45 ปี
ซีไรต์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนส่งผลให้นายกสมาคมและคณะกรรมการบริหารสมาคมต้องลาออกกันแบบฟ้าผ่ายกคณะ มันก็มีพื้นฐานมาจากความไม่รู้ถูกรู้ควรต่อจริยธรรมของสังคมยุคใหม่เสียจนไม่คำนึงว่าการกล่าวหาผู้อื่นด้วยข่าวเท็จที่มีนัยทางเพศแบบนี้แล้วอ้างว่าเป็นแค่ข่าวลือในที่สาธารณะกลางที่ประชุมนั้น เป็นเรื่องที่สังคมปัจจุบันยอมรับไม่ได้
น่าเสียใจที่ผู้พูดนั้นก็เป็นคนที่อยู่ในวงการหนังสือและวรรณกรรม ที่น่าจะมีความเท่าทันโลก ก็ยังไม่รู้จักจริยธรรมและคุณค่าทางสังคมที่เป็นอารยะซึ่งยึดถือกันในโลกปัจจุบันนี้อยู่ จนสงสัยว่า วันๆ เขาอ่านหนังสืออะไร เสพสื่อแบบใด ทำไมจึงมีโลกทัศน์เหมือนคนนอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น ไม่เฉลียวพอที่จะระวังพูดที่สุดท้ายก็ทำลายตัวเองและแวดวงให้ย่อยยับลงไปเช่นนั้น
กล้า สมุทวณิช