กฎหมายป้องกันสังคมจากความแตกแยกหรือเกลียดชัง : โดย ศาสตราจารย์พิเศษ กุลพล พลวัน

ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและในยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหาการก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crime) อาชญากรรมประเภทนี้กระทำได้หลายรูปแบบตั้งแต่ขั้นรุนแรงสุดคือการฆ่ากันซึ่งอาจกระทำต่อบุคคลบางคนหรือกระทำต่อกลุ่มบุคคลจำนวนมาก การทำร้ายร่างกาย การทำลายทรัพย์สิน การดูหมิ่นเหยียดหยามโดยคำพูดหรือด้วยการกระทำต่างๆ เช่นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม การแบ่งแยกสีผิว การนับถือศาสนา เผ่าพันธุ์ ความพิการทั้งร่างกายและจิตใจ การรังเกียจบุคคลที่รักเพศเดียวกัน ฯลฯ

สำหรับในสหรัฐอเมริกาความเกลียดชังที่คนผิวขาวมีต่อคนผิวดำหรือผู้อพยพจากกลุ่มประเทศละตินอเมริกา จนเป็นเหตุให้มีข้อครหาว่าตำรวจสหรัฐอเมริกาซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวมักใช้วิธีรุนแรงกับคนผิวดำ เช่น การจับกุมโดยวิธีทำร้ายร่างกายรุนแรง การใช้อาวุธปืนยิงคนผิวดำที่ไร้อาวุธถึงตายอยู่เสมอโดยอ้างว่าเพื่อเป็นการป้องกันตัว (ลักษณะเดียวกับคำว่า “วิสามัญฆาตกรรม” ในประเทศไทย) จนเป็นเหตุให้คนผิวดำเกิดความเคียดแค้นในกลุ่มชนผิวขาวและก่อเหตุร้ายฆ่าตำรวจสหรัฐมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อเหตุร้ายในไนต์คลับเมืองออร์แลนโด เป็นเหตุให้วัยรุ่นผิวขาวเสียชีวิตถึง 49 คน

ส่วนในยุโรปก็เกิดเหตุร้ายขึ้นในหลายประเทศเช่น ฝรั่งเศส เบลเยียม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อังกฤษ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากผู้อพยพจากแอฟริกาหรือตะวันออกกลางทำให้คนยุโรปเกิดความเกลียดชังผู้อพยพเหล่านี้และผู้อพยพก็ก่อเหตุร้ายรุนแรงเป็นการตอบโต้เช่นกัน

อาชญากรรมจากความเกลียดชังนี้มิได้เพิ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน ในอดีตก็เคยเกิดอาชญากรรมประเภทนี้มาช้านานแล้ว เช่นพรรคนาซีของเยอรมันสมัยฮิตเลอร์ครองอำนาจในช่วงเวลาก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในเยอรมันและในยุโรปเสียชีวิตนับล้านคนเพราะความเกลียดชังในเรื่องเชื้อชาติและอื่นๆ จนประเทศสัมพันธมิตรซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามได้จับบรรดาแกนนำพรรคนาซีและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องขึ้นศาลอาชญากรสงครามที่เมืองนูเรมเบิร์กและศาลได้พิพากษาลงโทษประหารชีวิตและจำคุกผู้ก่อเหตุเป็นจำนวนมาก

Advertisement

เมื่อประมาณ 20 ปีมานี้ก็ได้มีเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการกระทำที่โหดร้ายทารุณ โดยความเกลียดชังกันในบอสเนียเฮอร์เซโกวีนา ดินแดนของอดีตประเทศยูโกสลาเวีย ระหว่างชาวเซิร์บ ชาวบอสเนีย และชาวโครแอต จนสหประชาชาติต้องส่งกองกำลังเข้าปราบปรามและนำตัวผู้ก่อเหตุขึ้นศาลอาชญากรชั่วคราวที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และศาลได้พิพากษาลงโทษไปแล้วหลายราย

รวมทั้งเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดาในทวีปแอฟริกา ที่ชาวฮูตูได้กระทำต่อชาวทุตซีจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนับแสนคน จนสหประชาชาติต้องส่งกองกำลังเข้าปราบปรามและจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาพิพากษาลงโทษด้วยแล้วเช่นกัน

ในเมียนมา ชาวพุทธได้ถูกปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังในเรื่องเชื้อชาติและศาสนาและใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮีนจา ซึ่งเป็นชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อย โดยการฆ่า การทำร้ายร่างกาย เผาทำลายทรัพย์สิน จนชาวโรฮีนจาต้องลี้ภัยทางเรือไปขึ้นฝั่งในประเทศต่างๆ ทางเอเชีย เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ เป็นปัญหาทางสังคมสำหรับประเทศต่างๆ ดังกล่าวจนกระทั่งปัจจุบัน

Advertisement

อาชญากรรมจากความเกลียดชังนี้มีปัจจัยประการสำคัญจากการใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) โดยเผยแพร่ ปลุกระดม ยั่วยุ เร่งเร้า ส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชังในเรื่องเชื้อชาติ ความแตกต่างทางเพศ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี สีผิว ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันการใช้ข้อความดังกล่าวสามารถกระทำได้หลายรูปแบบ เช่น ทางหนังสือพิมพ์ เอกสาร วิทยุ โทรทัศน์ การใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ที่ทันสมัยและสามารถส่งข้อความและรูปภาพถึงกันได้อย่างรวดเร็วและแพร่หลาย จนชักนำไปสู่การกระทำที่รุนแรง เช่น การฆ่า การทำร้ายร่างกาย ทรัพย์สิน การเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติรูปแบบต่างๆ

ดังนั้น ปัจจุบันสนธิสัญญาหลายฉบับของสหประชาชาติและกฎหมายของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ จึงได้มีบทบัญญัติห้ามและลงโทษการใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังกัน เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ค.ศ.1965 ซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นภาคี ข้อบทที่ 1 บัญญัติประณามการโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติหรือการเลือกปฏิบัติในรูปแบบใดก็ตาม รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่ออื่นๆ ทั้งปวงที่กระตุ้นการเลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีเช่นกัน ข้อบทที่ 20 (2) บัญญัติว่า “การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่่งอาจนำไปสู่การยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การจงเกลียดจงชังหรือความโหดเหี้ยม เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย”

สําหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในมิได้มีบทบัญญัติห้ามการใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังโดยตรง ทั้งปัจจุบันมีการใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังในสังคมไทยอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สื่อออนไลน์จนทำให้เกิดความแตกแยกเกลียดชังกันในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพียงแต่ประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ผิว หรือการเลือกปฏิบัติ ฯลฯ และเป็นสังคมที่ไม่ใช้ความรุนแรงเหมือนหลายประเทศ เป็นเพียงความขัดแย้งในเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นที่น่าวิตกว่าหากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ตลอดไปจะทำให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่ในด้านการสร้างความปรองดองในระหว่างคนไทยด้วยกันจนยากที่จะประสานรอยร้าวทางจิตใจกันได้

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช…ซึ่งเพิ่งผ่านการลงประชามติไป ในหมวด 4 (หน้าที่ของปวงชนชาวไทย) มาตรา 50 มีข้อความว่า “บุคคลมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ ฯลฯ (6) เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม ฯลฯ”

ส่วนกฎหมายภายในที่ใช้บังคับในปัจจุบัน และมีบทบัญญัติที่ใกล้เคียงกับเรื่องนี้ ซึ่งสามารถแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีบทบัญญัติห้ามการกระทำหรือการใช้ข้อความที่นำไปสู่อาจทำให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคมตามที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 50 (6) ข้างต้น ก็เช่นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือหนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ฯลฯ (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือ (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี” ซึ่งมาตรา 116 นี้อาจแก้ไขปรับปรุงให้มีข้อความครอบคลุมไปถึงการห้ามและลงโทษการปลุกระดมยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังได้ เช่นเพิ่มเป็น (4) ให้มีข้อความว่า “เพื่อให้ประชาชนเกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน ความแตกต่างในทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี” เป็นต้น

นอกจากนั้น ก็มีพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 และมาตรา 16 ที่สามารถแก้ไขปรับปรุงให้มีบทบัญญัติครอบคลุมในเรื่องการห้ามและลงโทษการก่อให้เกิดข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังก็ได้เช่นกัน แต่จะมีผลเฉพาะการกระทำที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้เท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงการกระทำด้วยวิธีอื่นๆ

ประการสุดท้าย อาจจะใช้วิธีการยกร่างพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เพื่อให้มีบทบัญญัติครอบคลุมการกระทำใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคมให้สอดคล้องกับร่างมาตรา 50 (6) ของร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ตามแต่จะเห็นว่าวิธีใดจะเหมาะสมยิ่งกว่า

การมีกฎหมายในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อป้องกันความแตกแยกหรือเกลียดชังกัน และสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ตามที่เราปรารถนาให้เป็นเช่นนั้น และสอดคล้องกับพันธกรณีตามอนุสัญญาสหประชาชาติทั้งสองฉบับที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีดังกล่าวข้างต้น

ศาสตราจารย์พิเศษ กุลพล พลวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image