แด่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

แด่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

ประกาศเป็นทางการ เป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้ติดตามความก้าวหน้าทางการศึกษาทั้งในประเทศไทย อาเซียนและทั่วทั้งโลก

ครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566 11 คน จาก 11 ประเทศอาเซียน และติมอร์-เลสเต

เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อทุกคน ประเทศไทย ได้เแก่ นายนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ศศช.) บ้านมอโก้คี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และทำหน้าที่ครูนิเทศก์ใน 5 ศูนย์การเรียน และห้องเรียนสาขาที่บ้านมอโก้ใหม่ อ.ท่าสองยาง

Advertisement

นอกจากนั้นยังพิจารณามอบรางวัลคุณากร จำนวน 2 ราย คือ นายอุดร สายสิงห์ ครูผู้เป็นที่รักและศรัทธายิ่งของศิษย์ผู้ปกครองและชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงเรียนบ้านโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา และนายสมเกียรติ แซ่เต็ง ครูยุคใหม่ผู้สร้างคุณภาพการศึกษาเพื่อการรักถิ่น เน้นความมีตัวตนและความสำเร็จของเด็กทุกคน ปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม อ.เมือง จ.ตราด

ผมนำมาบันทึกไว้อีกครั้ง เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ครูทุกท่านด้วยความเคารพ ยกย่อง ชื่นชม ยินดี

ที่สำคัญด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในจิตใจที่เสียสละทุ่มเท เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูเพื่อศิษย์ และกระบวนการคัดเลือก กลั่นกรองจนถึงการตัดสินเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวม 77 จังหวัด และองค์กรที่มีรางวัลระดับประเทศ 7 องค์กร

Advertisement

การได้รับพระราชทานรางวัล นอกจากส่งผลต่อตัวครูทุกท่านแล้ว เกิดคุณูปการต่อวงการครู และวงการศึกษาทั้งของไทยและนานาชาติ เกิดเครือข่ายการพัฒนาครูและพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

เหตุเพราะการดำเนินงานของมูลนิธิ ไม่จบเพียงแค่พิธีรับพระราชทานรางวัลเสร็จสิ้นเท่านั้น แต่ได้ต่อยอด ขยายผล นำเอาประสบการณ์ ความรู้ ทักษะและจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูของทุกคน มาส่งต่อให้กับเพื่อนครู นักเรียน โรงเรียน และชุมชน

เกิดกิจกรรมที่ดำเนินต่อกันเรื่อยมา นับตั้งแต่ครูคนแรกที่ได้รับพระราชทานรางวัลจนถึงคนปัจจุบัน

ผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร สะท้อนจากบทบันทึก สารจาก ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เล่าถ่ายทอดให้สาธารณชนได้รับรู้เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565

ในรอบปีที่ผ่านมา มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรียังดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดการทำงานของครูไทย โดยได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน รัฐ และสถาบันอุดมศึกษา

เช่น โครงการเสวนาทางไกล การจัดการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนยุคใหม่ : ต้นแบบและบทเรียนจากครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในประเทศไทย โดยมีสถาบันรามจิตติดำเนินการจัดกิจกรรมเสวนาในรูปแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์กับเสวนาสัญจร รวม 7 เวที

อาทิ เรื่องพลังครูยุคใหม่ เรื่อง ศิลปะสร้างคน จิตวิญญาณ เปิดเส้นทางอนาคต วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมการเรียนรู้การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เพื่อโลกที่ยั่งยืน จัดเสวนาสัญจรในพื้นที่จังหวัดสระแก้วและจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมกับการออนไลน์ร่วมกับเครือข่ายครูในภูมิภาคต่างๆ เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ของครูและเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาหลังการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่

รวมถึงขับเคลื่อนโครงการผลิตสื่อสืบสาน สร้างสรรค์ รายการ สายธารสุนทรียธรรม : พลานุภาพแห่งการฝึกหัดครูไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โครงการขยายผลศักยภาพครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2564 สู่การพัฒนาเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การจัดทำโครงการขยายผลศักยภาพครูยิ่งคุณและครูขวัญศิษย์ รุ่นที่ 4 และการถ่ายทอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษาและสถาบันรามจิตติ รวมถึงขยายผลการทำงานของครูรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ ครูขวัญศิษย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นอกจากสนับสนุนครูไทยแล้ว มูลนิธิได้ขับเคลื่อนงานครูต่างประเทศผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ ครูไทยพบครูเทศ ในโครงการประชุมทำความรู้จักครู PMCA รุ่นที่ 4 ปี 2564 โครงการกิจกรรมการพัฒนาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและคณะ

การทำงานต่อไป สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้เพิ่มจำนวนประเทศในเอเชียเสนอชื่อครูเข้ารับพระราชทานรางวัล ซึ่งที่ประชุมได้เพิ่มประเทศในครั้งที่ 6 ปี 2568 อีก 3 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย ที่ทรงมีโครงการตามพระราชดำริด้านการศึกษา

มูลนิธิและภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินงานสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายครูรางวัล อาทิ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการสะกด พูด อ่าน เขียน ภาษาไทย เพื่อเด็กในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยความร่วมมือของสภากาชาดไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนครูสอนภาษาไทยในโรงเรียนที่นักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านระบบอาสาสมัครการศึกษาหมู่บ้าน การใช้สื่อและกลไกสนับสนุนในระดับพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีพลังครูและอาสาสมัครใน 14 จังหวัดทดลองนำร่อง ครอบคลุมโรงเรียนเป้าหมาย 1,619 แห่ง

ครับ ทั้งหลายทั้งปวงนี้เพื่อให้กำลังใจและเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมติดตามสนับสนุนให้เข้มแข็ง ก้าวหน้า เพื่อเด็กและเยาวชน ครู ผู้บริหาร และวงการศึกษาไทยและนานาชาติต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image