ไทยพบพม่า : เกาะโกโกกับข้อพิพาทระหว่างจีนกับอินเดีย

ไทยพบพม่า : เกาะโกโกกับข้อพิพาทระหว่างจีนกับอินเดีย

ทะเลอันดามันเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่ติดกับอ่าวเบงกอล พื้นที่แถบนี้เป็นพื้นที่ที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ากับเครือข่ายการค้าทางทะเลของโลกมายาวนานนับพันปี และยังเชื่อมพม่าเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไปจนถึงอินโดนีเซีย

หมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในทะเลอันดามันมีชื่อว่าหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ (Andaman and Nicobar Islands) มีเมืองหลวงชื่อว่าพอร์ตแบลร์ (Port Blair) และปัจจุบันเป็นหนึ่งในดินแดนสหภาพ (Union Territory) ของอินเดีย ใกล้เคียงกันนั้นมีเกาะอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่าหมู่เกาะโกโก (Coco Islands) อยู่ในเขตของพม่า ห่างจากฝั่งพม่าราว 300 กิโลเมตร และเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลย่างกุ้ง หมู่เกาะโกโกประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อย 5 เกาะ แต่เดิมรัฐบาลยุค เน วิน ใช้เกาะโกโกเป็นที่คุมขังนักโทษ โดยเฉพาะนักโทษการเมือง แต่เรือนจำบนเกาะก็ต้องปิดไปในปี 1971 เมื่อเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ขึ้น และนักโทษทั้งหมดถูกย้ายไปที่
เรือนจำอินเส่งชานเมืองย่างกุ้ง

แม้จะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกล แต่ในทางภูมิรัฐศาสตร์ เกาะโกโกกลับมีความสำคัญกับพม่า และประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่ทั้งจีนและอินเดีย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนพยายามกระชับอำนาจของตนในเขตมหาสมุทรอินเดียมากขึ้น โครงการพัฒนาเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road Initiative) ของจีน เพื่อขยายอิทธิพลของจีนไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลกโดยเริ่มจากการยึดพื้นที่ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเชื่อมจีนกับอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และภูมิภาคอื่นของโลก

Advertisement

ใครจะไปเชื่อว่าบนเกาะโกโก เกาะเล็กๆ ที่มีขนาดเพียง 20.5 ตารางกิโลเมตร (เล็กกว่าเกาะช้าง จังหวัดตราด 10 เท่า) จะมีสนามบินที่รองรับเครื่องบินรบขนาดใหญ่ได้ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารอื่นๆ อีกส่วนหนึ่ง จากการรายงานของชาธัมเฮ้าส์ (Chatham House) หน่วยงานที่ศึกษาและวิเคราะห์ด้านนโยบายจากอังกฤษ ปรากฏภาพถ่ายดาวเทียมของเกาะโกโก มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนสนามบินทหาร รายงานของ
ชาธัมเฮ้าส์มีชื่อว่า “เมียนมากำลังสร้างฐานสอดแนมบนเกาะโกโกใหญ่จริงหรือไม่?”

ทั้งโฆษกคณะรัฐประหารพม่าและกระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาตอบโต้รายงานชิ้นนี้ว่าเป็นเรื่อง “เหลวไหล” แต่ภาพถ่ายทางอากาศที่ถูกเผยแพร่ออกมาทาง Google Earth และบริษัทเทคโนโลยีอวกาศชื่อว่า Maxar จากสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นการขยายรันเวย์สนามบินภายในเกาะโกโก อีกทั้งยังเห็นศูนย์เรดาร์ ท่าเรือขนาดใหญ่ และถนนที่เชื่อมสนามบินเข้ากับตอนใต้ของเกาะที่มีประชากรราว 1,500 คน

แต่เดิมสถานีเรดาร์บนเกาะโกโกมีขนาดเล็ก การลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่บนเกาะนี้น่าจะไม่ใช่เม็ดเงินลงทุนจากรัฐบาลพม่า ทั้งรัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลทหาร เพราะเกาะโกโกแทบไม่มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์กับพม่า มีเพียงจีนเท่านั้นที่เล็งเห็นความสำคัญของเกาะนี้ เพราะเกาะโกโกสามารถเป็นฐานที่มั่นของจีนในทะเลอันดามันต่อไปถึงอ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดียในส่วนอื่นๆ ได้

Advertisement

นักวิเคราะห์ปักใจเชื่อว่าจีนนี่แหละที่อยู่เบื้องหลังโครงการก่อสร้างบนเกาะโกโก เพราะไม่มีประเทศมหา อำนาจอื่นๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศใดในอาเซียน ที่จะได้ประโยชน์จากที่ตั้งของเกาะโกโก มีเพียงจีนที่ใช้พื้นที่ตรงนี้สอดส่องความเคลื่อนไหวของอินเดีย เกาะโกโกอยู่ห่างจากหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ของอินเดียเพียง 55 กิโลเมตร และเมื่อพิจารณาเจตนาของจีนที่หมกมุ่นกับการควบคุมท่าเรือในหลายประเทศ ได้แก่ ศรีลังกาและปากีสถาน และยังมีฐานที่มั่นทางทหารนอกประเทศแห่งแรกที่จิบูตีในแอฟริกาตะวันออกมาตั้งแต่ปี 2016 คงสรุปได้ว่าจีนต้องการใช้ฐานที่มั่นบนเกาะโกโกเพื่อสอดส่องกองทัพอินเดีย รวมทั้งสถานที่ที่อินเดียใช้ทดลองขีปนาวุธด้วย หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์เป็นฐานทัพของอินเดียมาตั้งแต่ 2001 ด้วยที่ตั้งของหมู่เกาะซึ่งแทบจะอยู่กึ่งกลางระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับอินเดีย อินเดียจึงสามารถสอดส่องเรือการค้าและการค้าทางเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกผ่านช่องแคบมะละกาได้

ความเคลื่อนไหวของจีนที่รุกคืบเข้าไปในเกาะโกโกย่อมทำให้อินเดียกระสับกระส่ายแล้ว หากรัฐบาลพม่าสั่งให้สร้างรันเวย์และสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ อินเดียก็จะเป็นกังวลน้อยลงหน่อย แต่หากทั้งหมดนี้เป็นการลงทุนที่มาจากปักกิ่งแล้วล่ะก็ หมายความว่าอินเดียจะไม่สามารถอยู่เฉยได้อีกแล้ว การปรากฏตัวของจีนห่างจากฐานที่มั่นของกองทัพอินเดียไปเพียง 50 กิโลเมตร ไม่ใช่เรื่องปกติและจะเป็นประเด็นที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียทันที

ท่าทีของผู้นำคณะรัฐประหารพม่าต่อเรื่องนี้ก็แปลก คงทราบกันดีว่าพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลายนั้นแทบไม่ปรากฏตัวให้เห็นเท่าใดนัก โดยมากที่เห็นคือเมื่อผู้นำคณะรัฐประหารไปทำบุญหรือไปหาพระเกจิที่ตนเลื่อมใส แต่เมื่อไม่นานมานี้ มิน อ่อง ลายเพิ่งเดินทางไปเยือนเกาะโกโก แน่นอนคำถามที่เกิดขึ้นคือ เหตุใดมิน อ่อง ลายจึงตัดสินใจไปเยือนเกาะโกโก และทำไมต้องเป็นในเวลานี้?

ในภาพที่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ภารกิจหลักของมิน อ่อง ลายคือการไปทำบุญปล่อยเต่าบนเกาะโกโก มิน อ่อง ลายนั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ยึดมั่นในไสยศาสตร์และการดูดวง และมักทำบุญในลักษณะนี้มาตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหาร อีกภารกิจหนึ่งคือการไปเปิดหมุด อันเป็นที่ที่ทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอลมาบรรจบกัน เหตุผลที่มิน อ่อง ลายเดินทางไปเกาะโกโกเพื่อเหตุผลที่กล่าวมาดูจะฟังไม่ขึ้น และนักวิเคราะห์ก็ยังคงเชื่อว่าท่าทีของคณะรัฐประหารพม่าเป็นไปเพื่อป้องกันข้อครหาว่าจีนครอบงำเกาะโกโกที่เป็นเขตของพม่าไว้ได้หมดแล้ว

ในยุครัฐบาลด่อ ออง ซาน ซูจี อินเดียเป็นเสมือนมหามิตรของพม่า อดีตผู้นำรัฐบาลพม่าเคยใช้ชีวิตหลายปีอยู่ที่อินเดีย และครอบครัวของเธอยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวของ ยวาหะร์ลาล เนห์รู มาตั้งแต่เก่าก่อน รัฐบาลพลเรือนพม่าจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลอินเดีย ถึงขนาดที่อินเดียบริจาคเรือดำน้ำชั้นกิโลลำหนึ่งให้กองทัพเรือพม่าในปลายปี 2020 เพื่อกำจัดอิทธิพลทั้งหมดของด่อ ออง ซาน ซูจี และรัฐบาล NLD มิน อ่อง ลายย่อมหันไปผูกมิตรกับจีนแทน เพื่อลดบทบาทของอินเดีย แต่การเข้าหาจีนหรือยอมให้จีนเข้ามาใช้พื้นที่ของพม่า เพื่อสอดส่องอินเดียแบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อพม่า อินเดียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐบาลอนุรักษนิยมขวาจัด ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องอำนาจอธิปไตยของอินเดียอย่างเข้มข้น จนทำให้สถานการณ์กับเพื่อนบ้านทั้งปากีสถานและจีนตึงเครียดมาหลายครั้งแล้ว หากพม่าแสดงตัวว่าช่วยเหลือจีนอยู่เบื้องหลัง อินเดียก็จะไม่ยอมเป็นเป้านิ่งอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image