ที่เห็นและเป็นไป : หาก ‘คนหนุ่มสาว’ ตื่นตัว

ที่เห็นและเป็นไป : หาก ‘คนหนุ่มสาว’ ตื่นตัว

ที่เห็นและเป็นไป : หาก ‘คนหนุ่มสาว’ ตื่นตัว

ในผลโพลการเลือกตั้ง 2566 “มติชน-เดลินิวส์” ครั้งแรกที่เพิ่งแถลงไป ประเด็น “คน Gen ไหน เลือกใครเป็นนายกฯ” มีความน่าสนใจไม่น้อย

ที่ผ่านมาเราต่างรับรู้ว่าความแตกแยกคนไทยเราที่พูดถึงกันมาก คือความเห็นต่างของคนระหว่างวัย

ไม่ใช่เรื่องซีเรียสอะไรสำหรับความเห็นต่าง หากนั่นเป็นแค่ธรรมชาติของการอยู่ร่วมกัน แต่สำหรับสภาพการณ์ที่ผ่านมาดูจะไม่เป็นเช่นนั้น

Advertisement

ความรู้สึกของคนวัยหนึ่งต่อคนอีกวัยหนึ่ง ว่ากันให้ตรงๆ คือของคนในวัยที่ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งควรจะเป็นผู้มีวุฒิภาวะ แสดงออกต่อเพื่อนร่วมชาติที่มีความเห็นแตกต่าง กับคนที่อายุน้อยกว่า ซึ่งบ่อยครั้งความรุนแรงไปไกลถึงขั้นขับไล่ไสส่งคนไทยด้วยกันให้ไปอยู่ประเทศอื่น

แสดงออกถึงความรุนแรงทั้งด้วยวาจา และการกระทำที่พบเห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

ไม่ว่าใครที่ติดตามกระแสจะพบว่า การไม่ยอมรับกันระหว่างผู้ใหญ่และผู้อ่อนเยาว์กว่าเป็นปัญหาอยู่มาก

Advertisement

ความน่าสนใจคือผลโพลดังกล่าวนี้สะท้อนชัดถึงความคิดที่แตกต่างกันนั้น

หากวัดกันที่การตัดสินใจ “เลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี”

ร้อยละ 54.95 ของคนอายุ 18-25 ปี, ร้อยละ 46.51 ของคนอายุ 26-41 ปี, ร้อยละ 21.42 ของคนอายุ 42-57 ปี, ร้อยละ 14.92 ของคนอายุ 58-76 ปี, ร้อยละ 11.93 ของคนอายุ 77 ปีขึ้นไป เลือก “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์”

ขณะที่ร้อยละ 28.07 ของคนอายุ 77 ปีขึ้นไป, ร้อยละ 21.59 ของคนอายุ 58-76 ปี, ร้อยละ 15.50 ของคนอายุ 42-57 ปี, ร้อยละ 6.38 ของคนอายุ 26-41 ปี, ร้อยละ 3.43 ของคนอายุ 18-25 ปี เลือก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ความจริงแล้วผลโพลมีข้อมูลของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของคนอื่นจากพรรคต่างๆ ด้วย แต่ที่หยิบยกเฉพาะของ “นายพิธา” กับ “พล.อ.ประยุทธ์” มาเป็นเปรียบเทียบ เพราะต้องการชี้ให้เห็นความแตกต่างทางความคิดของคนระหว่างวัยที่ชัดเจน

เป็นความตรงกันข้ามที่ชัดเจน ระหว่างการตัดสินใจของคนหนุ่มสาว กับผู้สูงอายุ

คนหนุ่มคนสาวเลือก “นายพิธา” ขณะที่คนสูงอายุส่วนใหญ่เลือก “พล.อ.ประยุทธ์”

เป็นการตัดสินใจเลือกที่แตกต่างกันชัดเจน

ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงใครจะเลือกอย่างที่บอกกันว่าเป็น “การเลือกใครเป็นรัฐบาล” หรือไปไกลถึงการ “เลือกเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ” อย่างที่ว่ากันเท่านั้น

แต่จะเป็นการให้คำตอบว่า “พลังของคนหนุ่มคนสาว” มีเพียงพอที่จะกำหนดชะตากรรมของประเทศหรือไม่

ความคิดความอ่าน ความตื่นตัวทางการเมืองของคนหนุ่มสาวมีมากพอที่จะกำหนดความเป็นไปของการเมืองเพื่ออนาคตที่ดีกว่าตามที่ฝันกันไว้หรือไม่

ที่สำคัญที่สุดคือผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการชี้ว่า การใช้อำนาจอื่นมาแทรกแซงอำนาจที่มาจากการตัดสินใจของประชาชน พลังของคนหนุ่มสาวมีเพียงพอที่จะทำให้ฝ่ายใช้อำนาจคุกคามอำนาจประชาชนต้องยั้งคิดว่าอาจจะเข้าคุกคามกำหนดไม่ได้ง่ายๆ เหมือนหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2562 ที่ทั้งจัดการผลการเลือกตั้งแบบพิลึก พิสดาร เลยไปถึงการยุบพรรค สนับสนุนขบวนการสร้างงูเห่า ภาพลักษณ์นักการเมืองถูกมองอย่างเลวร้ายได้อีก

ในการหาเสียงเลือกตั้ง ยิ่งเข้าโค้งสุดท้ายที่ยิ่งเห็นความเข้มข้นขึ้น

การเผชิญหน้ากันอย่างไม่ยินยอมด้วยการประกาศถึงการต่อสู้อย่างถึงที่สุด

ฝ่ายหนึ่งประกาศยิ่งถูกกดดัน ปรามาส ต้องหาวิธีเพื่อให้ได้ชัยชนะอย่างถึงที่สุด

อีกฝ่ายหนึ่งพร้อมจะใช้มาตรการหัวชนฝา หากมีการละเมิดอำนาจประชาชน

การประกาศของทั้งสองฝ่ายดังกล่าว เสี่ยงที่จะถูกประเมินว่าเป็นสัญญาณของความไม่สงบอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งที่สะท้อนความตื่นตัวของคนหนุ่มสาว จะเป็นคำตอบว่า “อำนาจประชาชน” จะยินยอมต่อการแทรกแซงของอำนาจที่ “ดีไซน์ไว้เพื่อการสืบทอด” หรือไม่

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image