การจัดการเชิงพื้นที่ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

แนวคิดการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ถูกพูดถึงและนำมาใช้ในการบริหารจัดการปัญหาต่างๆ มากขึ้นในระยะนี้ เหตุเพราะความเชื่อว่าทำให้การแก้ปัญหาเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้ามีประสิทธิภาพมากกว่า
เนื่องจากพื้นที่มีขนาดจำกัด สามารถกำหนดให้เหมาะสมได้ว่าควรมีขนาดเท่าไหร่ เหมาะสมกับจำนวนประชากรแค่ไหน

ที่สำคัญเป็นการตอบโจทย์ปัญหาใหญ่ที่หมักหมมสะสมมาตลอดและแก้ไขยากนั่นคือการรวบอำนาจจากส่วนกลาง

แต่การจำกัดความหรือนิยาม การจัดการเชิงพื้นที่ก็ยังแตกต่างกันไป โดยเฉพาะประเด็นโครงสร้างอำนาจระหว่างภาครัฐ ภาคราชการกับภาคประชาชน ฝ่ายไหนควรเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการเชิงพื้นที่

Advertisement

ล่าสุด ในการประชุมหอการค้าจังหวัด ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีปาฐกถา “แนวคิด นวัตกรรม ทำจริง สู่ประเทศไทย 4.0” ว่า ปีงบประมาณ 2560 จะใช้งบประมาณขับเคลื่อนและปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังโดยมุ่งเน้นไปในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม และ 77 จังหวัดทั่วประเทศ

ไม่ต้องรอการจัดสรรงบประมาณจากภาคราชการในส่วนกลางอย่างแต่ก่อน ก้อนแรกเพิ่มจาก 20,000 ล้านบาทเป็น 40,000 ล้านบาท ก้อนสองจะเป็นการเรียกคืนงบที่หน่วยงานต่างๆ เบิกจ่ายไม่หมดจากโครงการวงเงินต่ำกว่า 1,000 ล้าน ให้ลงไป

แนวทางการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้น้ำหนักกลไกการขับเคลื่อนผลักดันไปที่กลุ่มจังหวัดและจังหวัดเป็นหลัก ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ซึ่งใช้ราชการเป็นแกนนำ เกิดขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อว่าภาครัฐเป็นเครื่องมือสนองตอบการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า แทนที่จะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นแกน

Advertisement

ทิศทางการจัดการเชิงพื้นที่ที่สะท้อนจากการอัดฉีดงบประมาณลงไปในพื้นที่ดังกล่าวนี้ พื้นฐานมาจากแนวความคิดแบ่งพื้นที่ประเทศเป็นโซนๆ ซึ่งในอดีตคือระบบการปกครองแบบมณฑล ปัจจุบันพัฒนาเป็นกลุ่มจังหวัด ทำให้เกิดข้อถกเถียงทั้งสองฝ่าย เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าเป็นการจัดการแบบย้อนยุค การรื้อฟื้นแนวคิดแบบมณฑลขึ้นมาทำให้ขั้นตอนการบริหารจัดการเพิ่มขึ้น เกิดความล่าช้า ขณะที่การสื่อสาร คมนาคมในโลกปัจจุบันก้าวหน้ามากแล้ว การจัดการเชิงพื้นที่แนวนี้ยิ่งเป็นการเสริมอำนาจความแข็งแกร่งให้กับภาครัฐ ภาคราชการหนักข้อยิ่งขึ้น จึงควรให้น้ำหนักไปที่องค์กรปกครองท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาชนเป็นแกนหลักมากกว่า

ขณะที่ฝ่ายเห็นด้วยมองว่าการจัดการแบบกลุ่มจังหวัดทำให้เกิดการประสานงาน เชื่อมโยง บูรณาการกันภายในจังหวัด และระหว่างกลุ่มจังหวัด ที่สำคัญภาครัฐสามารถรับคำสั่ง นโยบายมีประสิทธิภาพมากกว่าภาคท้องถิ่นและภาคประชาชนซึ่งมีแนวโน้มของการรั่วไหลสูงกว่า ประการหลังนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าจริงหรือไม่

การจัดการเชิงพื้นที่สองแนวทางที่แตกต่างกันระหว่างให้น้ำหนักไปที่ภาครัฐ (ภูมิภาค) กับภาคท้องถิ่น ภาคประชาชนนี้จึงเป็นทิศทางการบริหารจัดการประเทศที่น่าสนใจติดตามพิสูจน์ว่า แนวทางใด
จะเกิดผลดีในระยะยาว ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประโยชน์ตกถึงชาวบ้านย่านตลาดอย่างจริงจังมากกว่า

อีกทั้งมิติทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ภาครัฐกับกระจายอำนาจ ทิศทางใดจะสนองตอบความตื่นตัว อำนาจต่อรอง และความเข้มแข็งของประชาชนได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม การเลือกแนวทางการจัดเชิงพื้นที่โดยภาครัฐ ภาคราชการเป็นพระเอกนี้ ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นทุกรูปแบบคงต้องการกลับไปร่วมกันพิจารณาปัญหาจุดอ่อน ข้อบกพร่องของตัวเอง เพราะเหตุใดอำนาจต่อรองขององค์กรท้องถิ่นยังไม่สามารถกดดันให้ส่วนกลางกระจายอำนาจ บทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบให้มากขึ้น ยิ่งสถานการณ์พิเศษเกิดขึ้นบ่อยครั้งเท่าไหร่ การเสริมอำนาจส่วนกลาง ภาครัฐเป็นหลักยิ่งกลับแข็งแกร่งขึ้น

แนวคิดการจัดการเชิงพื้นที่ซึ่งก้าวหน้าไปถึงระดับจังหวัดจัดการตนเอง บทบาทของภาคประชาชนในการกำกับ ควบคุม ตรวจสอบผู้นำองค์กรท้องถิ่นอย่างเข้มแข็งจึงเป็นไปได้ยาก

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นจุดขายหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อกำจัดรัฐบาลเลือกตั้ง จึงเลิกพูดถึงได้เลยในวาระปฏิรูป 108 เรื่อง ในอีก 20 ปีต่อจากนี้

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image