เอดส์ไทยยุค 4.0 : โดย เฉลิมพล พลมุข

ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์มีอยู่คู่กับสังคมไทยและสังคมโลกมามากกว่า 3 ทศวรรษ ช่วงวันเวลาที่ผ่านมาหลายประเทศถือว่าโรคเอดส์เป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศาสนาวัฒนธรรม ความเชื่อ หลายประเทศได้ค้นหาหนทางเพื่อลดจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อเอชไอวี และวิธีการดูแลรักษาการเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าว การพัฒนาปรับตัวของเชื้อไวรัสเอชไอวีก็ยังคงมีตัวเลขของผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทยของเราด้วย

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีรายงานจากโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) เมื่อปี พ.ศ.2546 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีกว่า 38 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ใหญ่กว่า 31 ล้านคน ในขณะนี้ทั่วโลกมีตัวเลขประมาณ 35 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงจากปี พ.ศ.2554 จากจำนวน 2.5 ล้านคน มาอยู่ที่ 2.3 ล้านคน สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง มีในประเทศแอฟริกาใต้ ยูกันดา อินเดีย และเมืองไทยเราผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้ในระดับหนึ่ง

ประเทศไทยของเราในยุค 4.0 หรือตั้งแต่ปัจจุบันเป็นต้นไปในขณะนี้คาดการณ์ตัวเลขของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งประเทศเมื่อปี พ.ศ.2558 หรือปีที่แล้วมีจำนวน 438,100 คน ขณะเดียวกันมีผู้ติดเชื้ออีกกว่า 47,000 คน ที่ขาดโอกาสในการเข้ารับบริการ การป้องกันทั้งของตนเองและคู่ชีวิตและอาจจะมีการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นอีกส่วนหนึ่ง

เมืองไทยเรามีคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีเป้าหมายในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีลงให้ได้ภายในปี พ.ศ.2573 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า โดยมีคำขวัญที่ว่า ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา โดยลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละไม่เกิน 1,000 คน ลดการเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ปีละไม่เกิน 4,000 คนและลดการรังเกียจ ปฏิเสธ เลือกปฏิบัติ ความเหลื่อมล้ำ การปกป้องคุ้มครองเสมอภาคทางเพศและร่วมกันทำงานภาคีเครือข่ายทั้งของรัฐ ธุรกิจ และประชาสังคมให้ลดลงเหลือร้อยละ 90

Advertisement

ปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ในเมืองไทยยุค 4.0 ที่รัฐบาลมีการขับเคลื่อนประเทศไปในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งในด้านนวัตกรรม ปัญญาเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ที่สร้างความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก พร้อมๆ กับแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มีเป้าหมายขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ของคนไทย อาจจะรวมไปถึงการบริหารจัดการปัญหาเอดส์อย่างไม่ค่อยเป็นรูปธรรมมากนัก

ช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ.2560 เมืองไทยเราได้มีการประชุมสัมมนาระดับชาติครั้งที่ 15 เรื่องโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีหัวข้อวาระทั้งในเรื่องของสถานการณ์ การป้องกัน วิทยาศาสตร์พื้นฐาน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การดูแลรักษา รวมไปถึงบริบทของสังคมไทยและสังคมโลกโดยภาพรวม ผู้เขียนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมดังกล่าวและการประชุมสัมมนาในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง

สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากการประชุมสัมมนาก็คือ หลายหน่วยงานองค์กรก็ต่างนำเสนอตัวเลข ข้อมูลเชิงประจักษ์ส่วนหนึ่ง เมื่อเสร็จสิ้นจากการประชุมแล้วการปฏิบัติงานที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ก็มักจะเป็นระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในระดับล่างๆ นโยบาย ข้อมูลของผู้บริหารระดับสูงกับปัญหาที่แท้จริงของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์หลายครั้งคราดูเสมือนทางที่เป็นคู่ขนานกันไป…

Advertisement

ผู้เขียนได้ติดตามการทำงานด้านนโยบายของหลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมานับตั้งแต่ปัญหาโรคเอดส์ได้เข้ามาสู่สังคมไทยทั้งระบบการให้งบประมาณ หลักการ วิธีการทำงาน รวมไปถึงผลสัมฤทธิ์หรือความสำเร็จของการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี การรณรงค์เผยแพร่การป้องกันตนเอง การดูแลรักษาสุขภาพของผู้ป่วยเอดส์ รวมไปถึงการนำนโยบายไปสู่ผลที่เป็นจริง ข้อเท็จจริงหนึ่งก็ยังคงเป็นปัญหาสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวียังคงมีปรากฏขึ้นในสังคมไทยที่สื่อได้นำเสนอทั้งภาพและเหตุการณ์ในวันเวลาที่ต่อเนื่องเสมอมา

ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยเอดส์เมื่อยี่สิบปีที่แล้วก็จะอยู่ในวัยทำงาน มีครอบครัวมีลูก ในสมัยนั้นยาต้านไวรัสยังไม่มีการนำมาใช้ในเมืองไทยเรา ผู้ป่วยจำนวนมากเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันอาการปรากฏของโรคที่ถูกนำเสนอในสื่อต่างๆ น่ากลัวน่ารังเกียจ อาทิ ผิวหนังมีตุ่ม ลิ้นเป็นฝ้า แผลเรื้อรัง น้ำหนักลดตัวผอม มีวัณโรคชนิดเรื้อรังและโรคแทรกอื่นๆ ในช่วงนั้นบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่มีการเตรียมความพร้อมมากนัก สังคมประชาชนทั่วไปเกิดความกลัว รังเกียจ และปฏิเสธที่จะให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ร่วมกันในครอบครัวและชุมชน

ขณะเดียวกันครอบครัวผู้ติดเชื้อเอชไอวีบางครอบครัวมีลูกเล็กๆ บางครอบครัวลูกก็กลายเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ซึ่งเมื่อมาถึงปัจจุบันเขาเหล่านั้นกลายเป็นวัยรุ่นวัยเรียนในยุคนี้ ต้องรับยาต้านไวรัสที่มีการรับประทานทุกๆ วันและต้องมีระเบียบวินัยในการใช้ชีวิต เด็กวัยรุ่นเหล่านี้หลายคนกำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในระดับอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย บางคนก็กำลังทำงานในโรงงาน บริษัทต่างๆ คำถามหนึ่งของสังคมก็คือ เขาเหล่านั้นมีการควบคุมพฤติกรรมของตนเองในการป้องกันมิให้ผู้อื่นกลายเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เป็นอย่างดีแล้วหรือไม่…

เมื่อเร็ววันมานี้ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีผลวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมคนในแต่ละเจเนอเรชั่น พบว่า คนเจน Y ที่เกิด พ.ศ.2525-2548 ที่มีจำนวนกว่า 22 ล้านคนในขณะนี้มีพฤติกรรมก่อหนี้เสียมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เปลี่ยนงานบ่อย ชอบใช้ชีวิตอิสระ มีรายได้สูง ใส่ใจสุขภาพน้อย แต่งงานช้า มีเซ็กซ์เร็วและไม่อยากมีลูก และพบว่ามีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุเฉลี่ย 15 ปี จำนวนคู่นอนเฉลี่ยในผู้หญิงมีมากขึ้น โดยวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี จำนวนคู่นอนเฉลี่ยที่ 5 คน…

สังคมไทยเราในขณะนี้รัฐบาลได้มีกฎหมายที่ให้การคุ้มครองเด็กหรือวัยรุ่นที่ตั้งท้องในวัยเรียนโดยมี พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมาโดยให้การดูแลคุณภาพชีวิตในอายุ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 ปีอาทิ ให้สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา สถานบริการของรัฐต้องจัดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ สถานประกอบการหรือที่ทำงานต้องให้สวัสดิการสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคุ้มครองสิทธิและให้บริการต่างๆ สำหรับตัวเลขของแม่วัยรุ่นวัยใสเมื่อปีที่แล้ว พ.ศ.2558 พบว่าวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี มีการคลอดบุตรรวม 104,289 คน หรือเฉลี่ยวันละ 286 คน

ในจำนวนนี้ภาครัฐได้มีตัวเลขของแม่วัยใสจำนวนหนึ่งที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ด้วยหรือไม่…

ข้อเท็จจริงหนึ่งของสังคมไทยเราขณะนี้ธุรกิจในการขายบริการทางเพศยังคงมีอยู่ ทั้งซ่อง ผับ บาร์ คาราโอเกะ เธค อาบอบนวด นวดแผนโบราณ ระบบไซด์ไลน์ พริตตี้ โคโยตี้ ขายบริการแบบโปรโมชั่น บาร์เกย์ บาร์กะเทย ริมชายหาดในเมืองท่องเที่ยว การตรวจจับผู้หญิงชาวต่างชาติทั้งลาว เขมร พม่า ฝรั่งบางชาติที่เข้ามาขายบริการเมืองไทยในรอบปีมีอยู่บ่อยครั้ง การขายบริการทางเพศในสวนสาธารณะทั้งผู้หญิงและเพศที่สาม ไม่อาจจะรวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่มิได้ใช้ถุงยางอนามัยสำหรับบางคน หรือการติดเชื้อเอชไอวีจากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกันก็ยังคงมีอยู่ในตัวเลขของสาเหตุในพฤติกรรมที่เสี่ยง…

พฤติกรรมหนึ่งที่ได้ถูกนำเสนอจากสื่อรายวันนั่นก็คือ การนอกใจคู่ชีวิตไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนอื่น ทั้งชายหญิงปกติหรือคู่ที่เรียกว่าเพศที่สาม สังคมไทยเราหรือสังคมระดับโลกการที่ผู้คนทั่วไปจะใช้ชีวิตในคู่เพศเดียวกันมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ เกย์คิง เกย์ควีน หรือทอมดี้มีชีวิตอยู่ด้วยกัน บางรายหรือบางคู่อยากจะมีทายาทหรือลูกไว้สืบสกุลก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เรียกว่า อุ้มบุญ การซื้อขายอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทั้งในแง่ของกฎหมายและจริยธรรม หากกระบวนการดังกล่าวมีความผิดพลาดหรือมิได้คาดคิดว่าจะเกิดผลในอนาคต เช่น เด็กเกิดมาเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ใคร องค์กรใดจะเป็นผู้ออกมารับผิดชอบ…

โรงพยาบาลระดับอำเภอ และโรงพยาบาลระดับจังหวัดของเมืองไทยเราได้จัดให้มีคลินิกรับยาต้านไวรัส ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ทั้งประเทศทุกๆ จังหวัดมีตัวเลขของผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสังคมไทยเราวันนี้นับตั้งแต่รัฐบาลได้ให้ยาต้านไวรัส ผู้ติดเชื้อหลายรายมีร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพจิตใจที่ดีสามารถทำงานในห้างร้าน บริษัท องค์กรภาคเอกชนหารายได้เลี้ยงครอบครัว สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมีความวิตกกังวลและเป็นห่วงก็คือ มีบางอาชีพที่ต้องทำงานหนัก อดทน ต้องใช้ศักยภาพความสามารถในระดับสูงเช่นเดียวกับผู้คนปกติทั่วไปนั่นก็คือ ขับรถทัวร์โดยสาร ขับรถน้ำมัน แก๊ส สารเคมีอันตราย หรือบางอาชีพที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้คนปกติทั่วไปได้ ภาครัฐหรือหน่วยงานรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมดังกล่าวแล้วหรือไม่…

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีได้เข้ามาบริหารจัดการประเทศ จัดระเบียบวินัยความเรียบร้อยในปัญหาต่างๆ ของประเทศในหลากหลายปัญหา อีกมุมหนึ่งก็คือปัญหาของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ที่กระจายอยู่ทุกจังหวัดของเมืองไทยเรา อาจจะรวมไปถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นชาวต่างด้าว ต่างชาติทั้งม้ง แม้ว เย้า อีก้อ จีน ฝรั่ง เขมร พม่า ลาว ที่เขาเป็นประชากรแฝงเป็นกำลังแรงงานหลักช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่ง

เขาเหล่านั้นได้รับการดูแลทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมในยามที่เขาเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนเท่ากับคนไทยทั่วไปอย่างดีแล้วหรือไม่…

ข้อมูลหนึ่งที่เป็นข้อเท็จจริงก็คือ หากครอบครัว องค์กร หน่วยงานใดมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ ครอบครัวและหน่วยงานนั้นจะมอบความรักความเข้าใจ ไม่กลัว ไม่ปฏิเสธ และไม่รังเกียจ สามารถจะร่วมกันได้อย่างมีความสุขไปจนกระทั่งถึงวันแห่งการตายดีอย่างมีความสุข เป็นความฝันที่เป็นจริงในสังคมไทยจริงๆ แล้วหรือไม่ ในชีวิตของความเป็นจริงมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีบางคนไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวได้ อาทิ ผู้ติดเชื้อคนนั้นได้ออกจากบ้านไปเป็นเวลานาน สัมพันธภาพระหว่างครอบครัวหายไป เมื่อเจ็บป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือบางครอบครัวอาจจะปฏิเสธ โรงพยาบาลของรัฐ เอกชนมีสถานที่รองรับเขาเหล่านั้นทุกๆ คนหรือไม่…

องค์กรหรือหน่วยงานเอกชนที่ทำงานให้การช่วยเหลือคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ หลายองค์กรในเวลานี้ได้ปิดกิจการลงเนื่องด้วยขาดทั้งระบบการจัดการความรู้ งบประมาณ ขวัญกำลังใจ รวมไปถึงความมั่นคงในอาชีพการงาน หน่วยงานหลักก็คงจะเป็นระบบราชการที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐบาลมอบหมายให้ทำงาน คำถามหนึ่งก็คือจำนวนของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ยังคงอยู่ในสังคมไทยเพียงแต่ว่าเปลี่ยนบริบทไป ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่แข็งแรงยังคงมีอยู่ในทัณฑสถาน เรือนจำ โรงพยาบาลทุกแห่ง ทุกอำเภอ จังหวัดยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเอชไอวี เขาเหล่านั้นยังคงมีความเป็นอยู่เป็นเช่นไร บทบาท สถานภาพคุณภาพของชีวิตเป็นอย่างไร ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการสำรวจหรือนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงต่อรัฐบาลเพื่อหาทางเยียวยาแก้ไขแล้วหรือไม่…

ผู้เขียนมีประสบการณ์โดยตรงที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีความเสี่ยงมาจากการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดร่วมกัน หลายรายเคยต้องคดีความทางกฎหมายถูกจองจำในเรือนจำมาระยะหนึ่ง เมื่อเขาเหล่านั้นพ้นโทษมีชีวิตอยู่นอกเรือนจำ หลายคนก็ไม่สามารถกลับตัวกลับใจเป็นผู้คนปกติได้ หลายคนหันกลับไปใช้ยาเสพติดอาจจะรวมไปถึงการก่อคดีใหม่เพิ่มขึ้น ข้อสังเกตหนึ่งก็คือเขาเหล่านั้นร่างกายแข็งแรง ดูเสมือนผู้คนทั่วๆ ไปหากเขาเหล่านั้นบางคนไปทำร้ายสังคมที่ปกติ ก็อาจจะทำให้บ้านเมืองมีความเป็นอยู่ไม่ปกติ ครอบครัวหน่วยงานภาครัฐมีวิธีการช่วยให้เขาได้กลับตัวกลับใจเป็นคนดีของบ้านเมืองได้อย่างไร…

ในช่วงเวลานี้ประชาชนชาวไทยทุกคนต่างเศร้าโศก เสียใจ ในการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่รักของชาวไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ส่วนหนึ่งก็ได้ติดตามดูรายการโทรทัศน์ ฟังวิทยุข่าวสารของบ้านเมือง หลายคนก็มีความอาลัยด้วยเช่นกัน หลายคนมีความคิดที่จะเดินในระยะทางไกลเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีที่มีต่อในหลวงที่ท้องสนามหลวงและที่พระบรมมหาราชวัง แต่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีบางคนมีความคิดที่ว่า หากเขาไปจริงๆ ผู้คนรอบข้างจะมองและมีความคิดต่อพวกเขาอย่างไร…

ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสที่ว่า “ปัจจุบันโรคเอดส์เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ ก็อยากให้มีการต่อสู้เรื่องโรคเอดส์เพราะโรคเอดส์ก็เป็นโรคที่คนกลัวเหมือนกัน เพื่อให้โรคเอดส์เป็นโรคที่ไม่น่ากลัวเหมือนโรคเรื้อน หากทำได้เหมือนช่วยผู้ป่วยโรคเรื้อน ถือว่าเป็นการดีมาก ฝากไว้เป็นการบ้าน ข้อคิดและขอให้ทุกคนเข้มแข็งฝ่าฟันอุปสรรคต่อไป…” (พระราชดำรัส 4 มิถุนายน 2540)

พระราชดำรัสของพระองค์ท่านเปรียบเสมือนน้ำทิพย์ที่หลั่งมาจากฟากฟ้าประทานให้กับคณะทำงานด้านเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนในแผ่นดินไทยและแผ่นดินโลก ทุกๆ คำมีความหมายที่บ่งบอกถึงความเมตตากรุณา เอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจที่จะช่วยเหลือความเจ็บป่วยที่โรคดังกล่าวเป็นทั้งโรคทางกาย ทางใจ จิตวิญญาณ และโรคทางสังคม พระองค์ท่านได้สานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image