คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ก่อนวันที่เราจะโพสต์ได้แต่รูปดอกไม้ : โดย กล้า สมุทวณิช

จากข่าวที่ปรากฏ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ในวาระที่สองและสามกันในวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคมนี้

ดังนั้น เมื่อคอลัมน์นี้ได้รับการเผยแพร่ คงรู้กันแล้วว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะผ่านออกมามีผลใช้บังคับหรือไม่

ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก หรือทำงานกับสื่อสมัยใหม่และการสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็น “อาวุธมหาประลัย” ของฝ่ายรัฐที่จะปราบปรามเว็บไซต์ และช่องทางการแสดงความคิดความเห็นของผู้คนที่สื่อสารกันผ่านเครือข่ายดิจิทัลที่จะต้องมีการประมวลผลกันผ่านระบบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ว่ากันว่าเพจและเว็บไซต์ต่างๆ มากมายที่มีอยู่ในโลกออนไลน์ในวันนี้ จะกลายเป็นเพจหรือเว็บไซต์ ที่กระทำความผิดตามกฎหมายนี้ได้ทันทีที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ

มาตราที่วิเคราะห์กันว่าเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพชาวเน็ต มีสองมาตรา คือ มาตรา 20/1 ที่กำหนดให้ “คณะกรรมการกลั่นกรองเนื้อหา” มีอำนาจขอให้ศาลปิดเว็บไซต์ตามที่เห็นว่า “ขัดต่อศีลธรรมอันดี” แม้เนื้อหาในเว็บไซต์จะไม่ผิดกฎหมายใดเลยก็ตาม และมาตรา 14(2) ที่กำหนดเพิ่มความผิดจากการโพสต์ข้อมูลเท็จที่กระทบต่อ “การบริการสาธารณะ” “ความปลอดภัยสาธารณะ” “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ”

Advertisement

ซึ่งถ้อยคำใหญ่โตประเภท “ศีลธรรมอันดี” ก็ดี “การบริการสาธารณะ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ก็ตาม ล้วนแต่เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ตีความกันไปได้มากมายหลากหลาย อย่างคำ “ศีลธรรมอันดี” ก็เถียงกันได้ยาวเหยียดแล้วว่าไอ้ศีลธรรมอันดีนั้นมันศีลธรรมของใคร แล้วเราจะให้คณะกรรมการคุณพ่อรู้ดีคุณพี่รู้มากไม่กี่คนมาเป็นมาตรชี้ศีลธรรมแทนพลเมืองเน็ตทั้งประเทศเลยหรือ

นอกจากนี้ การมี “ข้อมูล” บางประการไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของเราก็อาจจะเป็นความผิดได้แม้เราจะไม่ได้โพสต์ออกไปหรือส่งต่อให้ใคร เพียงข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่เคยมีคำสั่งศาลสั่งให้ยึดและทำลาย เช่น ถ้าใครมีรูปหรือข้อความที่เคยได้รับมาทางไลน์ไว้จนลืมและไม่ได้ลบ วันร้ายคืนร้ายต่อมาปรากฏว่าข้อความนั้นดันเป็นข้อความที่ศาลสั่งว่าเป็นข้อความที่ผิดกฎหมาย ก็อาจจะถูกดำเนินคดีกันได้ง่ายๆ ตามมาตรา 16/2 ของพระราชบัญญัติเดียวกัน

จริงอยู่ว่าแม้องค์ประกอบความผิดนั้นผู้มีไว้ครอบครองข้อมูลนั้นจะต้อง “รู้” ว่าเป็นข้อความที่ศาลสั่งให้ยึดและทำลาย แต่แค่เรื่องการพิสูจน์ว่า “รู้หรือไม่รู้” ว่าข้อมูลนั้นผิดกฎหมายก็เป็นภาระในชั้นดำเนินคดีของผู้ถูกกล่าวหาแน่ๆ เพราะข้อเท็จจริงนี้เป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตนของคนนั้น กลายเป็นภาระของประชาชนไปเสียอีกที่ต้องคอยอัพเดตว่า มีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลว่าข้อมูลใดนั้นที่ถือว่าครอบครองไว้แล้วจะมีความผิด

Advertisement

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกระแสคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กันจากเกือบทุกฝ่าย ซึ่งก็เป็นการคัดค้านที่ดูเหมือนไร้ความหวัง เพราะเมื่อเทียบกับมาตรฐานผลงานการผ่านกฎหมายของสภาที่ว่านี้ วิญญูชนก็คาดเดาได้ตั้งแต่เมื่อเขาออกวาระการประชุมกันมาแล้ว

คงต้องคิดเผื่อกันไว้แล้วว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านกระบวนการออกมาใช้บังคับได้จริง

ประชาชนพอจะยังเหลืออะไรที่สามารถโต้ตอบกับกฎหมายฉบับนี้ได้บ้าง

อาจมองว่ามีวิธีต่อสู้ได้สองช่องทาง ในทางกฎหมาย และในทางการเมือง

ในทางกฎหมายนั้น หาก พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับนี้ประกาศใช้ออกมาเป็นกฎหมายในระหว่างที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 นี้ยังมีผลใช้บังคับอยู่ ก็มีช่องทางการต่อสู้ต่อไปในชั้นของศาลรัฐธรรมนูญได้อยู่ โดยผ่านกระบวนการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 45 ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและในการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เคยได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ซึ่งก็จะต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ด้วยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดมาตรการทางปกครองและกำหนดโทษในทางอาญาที่เกินสมควรต่อความจำเป็นอันกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ส่วนการต่อสู้ในทางการเมืองนั้น ก็อาจจะต้องรอกระบวนการเลือกตั้งซึ่งไม่รู้ว่าจะมีขึ้นเมื่อไร แล้วประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายความผิดว่าด้วยคอมพิวเตอร์นี้ต้องรวมตัวกันให้ได้แน่นหนาแข็งแรง และยื่นข้อเสนอให้เป็นประเด็นสาธารณะต่อบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายว่า หากพรรคใดให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายนี้ให้เป็นคุณต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น ประชาชนก็จะยินดีให้การสนับสนุนพรรคการเมืองดังกล่าว

หากข้อที่ควรระลึกไว้ก็คือ ที่ผ่านมานั้น กฎหมายใดๆ ที่ตราขึ้นในสมัยรัฐประหารหรือยุคเผด็จการ ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่ฝ่ายการเมืองอาจจะมาร่วมวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านไว้ในยามที่ตัวเองไม่มีอำนาจ แต่เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายการเมืองนั้นเปลี่ยนมาเป็นผู้มีอำนาจบ้าง ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอะไรที่เขาเคยไม่เห็นด้วยก่อนนั้นเลย

ก็อาวุธมหาประลัยนั้นเลวร้ายเสมอในมือศัตรู แต่ถ้าเราได้ถือไว้ใช้ก็อีกเรื่องหนึ่ง

ไม่ว่าจะวิถีทางกฎหมายหรือทางการเมือง เรื่องที่ประชาชนจะต่อสู้กับกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่สุดฉบับหนึ่งนั้นดูจะแทบไม่มีโอกาสชนะ แต่ก็ควรที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องลองให้หมดทุกทาง ก่อนที่เราจะต้องก้มหน้าก้มตาโพสต์แต่รูปอาหารการกิน หรือโพสต์ได้แค่รูปตัวเองไปเที่ยวชมแสงเหนือเมื่อหน้าดอกไม้บาน

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image