ดุลยภาพดุลยพินิจ : ชนชั้นและความเหลื่อมล้ำ : โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

1.คำว่า ชนชั้น ดูเหมือนว่าไม่ได้ถูกบรรจุนิยามศัพท์กฎหมายไทย ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ในความรู้สึกประชาชน “ชนชั้น” ดำรงอยู่อย่างแน่นอน ความรู้สึกว่าเป็นชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง หรือชนชั้นล่างอยู่ในจิตใจของผู้คน เพียงแต่การตีความหรือความนึกคิดแตกต่างกันตามประสบการณ์

นักสังคมวิทยามีสายตาแหลมคมเกี่ยวกับชนชั้น ได้เสนอข้อสังเกตว่า แต่ละชนชั้นมีลีลาชีวิตต่างกัน สถานะสูง-ต่ำทางสังคมต่างกัน โอกาสความเจริญก้าวหน้าหรือความเสี่ยงในชีวิตแตกต่างกัน ในโอกาสนี้ขอนำผลวิจัยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและชนชั้นจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเล่าสู่กันฟัง

2.ในประวัติศาสตร์มีชนชั้นวรรณะอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสังคมไทย จีน อินเดีย หรือในประเทศแถบยุโรป โดยจำแนกเป็นชนชั้นปกครอง ชนชั้นผู้ถูกปกครอง ได้แก่ ไพร่ ทาส ฯลฯ ในปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ประกาศตัวว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย ทุกคนเท่าเทียมกัน “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” เท่ากัน สิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐบาลหรือท้องถิ่นเสมอหน้ากัน (อาจมีผู้แย้งว่าไม่เป็นความจริง) ความรู้สึกต่อคำว่าชนชั้นจึงเจือจางลง จนกระทั่งถึงขั้นมีผู้ตีความว่า “ชนชั้นตายไปแล้ว”

อย่างไรก็ตาม นักวิชาอีกค่ายหนึ่งยืนยันว่า ชนชั้นยังดำรงอยู่ และเห็นว่าควรศึกษาวิเคราะห์ชนชั้น เพื่อเข้าใจวิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนที่สถานะแตกต่างกัน นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส P. Bourdieu เขียนหนังสือชื่อ What makes a social class? พร้อมกับข้อสังเกตความแตกต่างในค่านิยม รสนิยม การใช้จ่ายบริโภค โอกาสประสบความเสี่ยงภัยเช่นตกงานเป็นคนจนขาดโอกาสการศึกษา ในหนังสือสารานุกรมทฤษฎีสังคม (Encyclopedia of Social Theory, 2003) อาจารย์ Erik O. Wright แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน อธิบายว่าชนชั้นมีความหมายสองนัย นัยที่หนึ่ง ชนชั้นที่สะท้อนความสูงต่ำ ตามความรู้สึกนึกคิดหรืออัตวิสัย (class as a subjective location) โดยอิงตัวชี้วัด เช่น อำนาจ สถานะทางสังคม การเป็นนักการเมือง ผู้ออกกฎหมาย ข้าราชการ พ่อค้า พนักงานลูกจ้าง เกษตรกร และเศรษฐานะ นัยที่สองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของผู้คนและโอกาสในชีวิต (class as the relational explanation of economic life chance) เกี่ยวกับโอกาสทางเศรษฐกิจ การมีทุนเงินหรือทุนมนุษย์ การทำงานที่อาศัยกำลังแรงงาน โอกาสการประกอบอาชีพ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โอกาสที่จะเป็นคนจน ฯลฯ

Advertisement

ด้วยความสนใจในชนชั้น ผู้เขียนและคณะได้ค้นคว้าวิจัย โดยขอรับทุนสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (ศ.ดร.วิชัย บุญแสง เป็นประธาน) คำถามหลักในการค้นคว้าครั้งนี้คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างชนชั้นและภายในชนชั้นเป็นอย่างไร โดยอ้างอิงศัพท์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติเรียกว่า socio-economic class นำมาจำแนกกลุ่มให้เหลือเพียง 5 กลุ่ม คือ เกษตรกร เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ผู้ประกอบการ นักวิชาชีพ และแรงงานทั่วไป ศึกษาความเหลื่อมล้ำหลายมิติ ได้แก่ รายได้ การถือครองทรัพย์สิน ความเสี่ยงที่จะเป็นคนยากจน การลงทุนด้านการศึกษาและความด้อยโอกาสการศึกษาของเด็ก

ศึกษาข้อมูลปี 2556 และเปรียบเทียบกับปี 2549

3.เริ่มจากการถือครองทรัพย์สิน พบข้อสรุปว่า ผู้ประกอบการและนักวิชาชีพเป็นชนชั้นที่ถือครองทรัพย์สินสูงที่สุด (รวมมูลค่าบ้านและที่ดิน อาคาร ยานพาหนะ และเงิน) ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.4 ล้านบาท และ 2.8 ล้านบาทตามลำดับ เกษตรกรอยู่ระดับปานกลางมูลค่าทรัพย์สินที่ถือครองเท่ากับ 1.2 ล้านบาท แรงงานซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 55) มีทรัพย์สินเฉลี่ยเท่ากับ 0.77 ล้านบาท เกษตรกรผู้เช่าเป็นชนชั้นที่มีทรัพย์สินน้อยที่สุดค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.48 ล้านบาท

Advertisement

ตารางที่ 1 รายได้สัมพัทธ์ของแต่ละชนชั้นในสังคมไทย 2556

ต่อมาวัดรายได้และ “รายได้สัมพัทธ์” ดูตารางที่ 1 ประกอบ รายได้สัมพัทธ์ เท่ากับ 1 หมายถึงรายได้เท่ากับค่าเฉลี่ย น้อยกว่าหนึ่งหมายถึงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย สูงกว่าหนึ่งแปลว่ารายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย ได้ข้อสรุปว่า ก) นักวิชาชีพเป็นชนชั้นที่รายได้สัมพัทธ์สูง 2.09 หมายความว่า รายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 209% เพราะมีทุนมนุษย์อยู่ในตัวโอกาส การทำงานที่ดีเงินเดือนสูง รวมทั้งบำเหน็จบำนาญเมื่อสูงอายุ ผู้ประกอบการเป็นชนชั้นที่มี “ทุนเงิน” รายได้สูงกว่าค่ามาตรฐานกลาง 175% ส่วน 3 ชนชั้นที่เหลือมีรายได้สัมพัทธ์น้อยกว่าหนึ่ง

หัวข้อต่อไป วัดความเสี่ยงที่จะมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (ใช้นิยามคนจนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) พบว่า ทุกชนชั้นมีโอกาสจะเป็นคนจน เพียงแต่เกษตรกรและเกษตรกรผู้เช่าโอกาสที่รายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนสูงที่สุด ร้อยละ 15-18 ชนชั้นแรงงานเสี่ยงที่จะเป็นคนจนร้อยละ 6 ผู้ประกอบการและนักวิชาชีพโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นคนจนน้อย ร้อยละ 1-2 เท่านั้น

การออม เป็นอีกหัวข้อที่สนใจ ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สันนิษฐานว่า การออมแปรผันตามรายได้-อาจจะใช่แต่เมื่อค้นคว้าโดยละเอียด พบว่าไม่จริงเสมอไป ชนชั้นแรงงานนั้นมีรายได้สูงกว่าเกษตรกรหรือเกษตรกรผู้เช่า แต่เมื่อวัดจากความสามารถการออมเทียบกับรายได้ กลับต่ำกว่า สาเหตุหลักเข้าใจว่าแรงงานส่วนใหญ่ดำรงชีวิตและการทำงานในเขตเมือง ค่าครองชีพสูงกว่าในชนบท เกษตรกรและเกษตรกรผู้เช่าทำงานในชนบทสามารถออมเงินได้มากกว่าชนชั้นแรงงาน นอกจากนี้พบว่า ทุกชนชั้นมีโอกาส “การออมติดลบ” ด้วยกันทั้งสิ้น คือ รายจ่ายสูงกว่ารายได้

อีกประเด็นหนึ่งที่ทีมวิจัยค้นคว้าคือ โอกาสการศึกษาของรุ่นลูกเป็นอย่างไร? เริ่มด้วยการศึกษาว่าแต่ละครัวเรือนลงทุนในเด็ก หมายถึง จ่ายเงินสนับสนุนด้านการศึกษาเล่าเรียนของเด็กที่บาทที่สตางค์ เทียบกับรายได้กี่เปอร์เซ็นต์ ต่อจากนั้นวัดโอกาสเรียนระดับประถมศึกษา-มัธยมต้น-มัธยมปลาย หรืออาชีวศึกษา เป้าหมายสุดท้ายคืออยากรู้ว่า เด็กที่ออกจากสถานศึกษาเร็วเกินไปจำนวนมากน้อยเพียงใด ตั้งเป้าหมายว่าเด็กไทยควรได้เรียนอย่างน้อยที่สุด 12 ปี ในช่วงวัย 6-18 ปีควรจะอยู่ในโรงเรียน สำเร็จมัธยมปลายหรืออาชีวศึกษาเป็นขั้นต่ำ แต่ว่าไปถึงระดับอุดมศึกษาด้วยยิ่งดี

การค้นคว้าในประเด็นนี้เพื่อเสนอนโยบายต่อรัฐบาลว่า เด็กกลุ่มที่ด้อยโอกาส ออกจากสถานศึกษาเร็วเกินไป..รัฐควรจะมีมาตรการจูงใจให้เรียนต่อเพื่อโอกาสการทำงานที่ดีกว่าในอนาคต

4.การวิเคราะห์ชนชั้นในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่มีคำถามทำนองว่า ชนชั้นแรงงานนิยมพรรคการเมืองใด? ผู้ประกอบการและนักวิชาชีพให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใด? เพียงศึกษาความเหลื่อมล้ำตามที่มีข้อมูล (ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) วัดความเสี่ยงที่จะเป็นคนจน-วัดความด้อยโอกาสในเด็ก

เป้าหมายสุดท้าย อยากจะมีความรู้และประมวลข้อเสนอแนะแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ ให้หน่วยงานรัฐหรือท้องถิ่นพิจารณา

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image