คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เขาควายระหว่าง ‘หัวใจ’ กับ ‘ปากท้อง’ ‘อุดมคติ’ กับ ‘ความเป็นไปได้’

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เขาควายระหว่าง ‘หัวใจ’ กับ ‘ปากท้อง’ ‘อุดมคติ’ กับ ‘ความเป็นไปได้’

ไข่แมวคือนักวาดการ์ตูนลึกลับและนิรนามสำหรับคนทั่วไปที่ติดตามแวดวงการเมืองในสื่อใหม่และสื่อสังคมออนไลน์ ผลงานของไข่แมวคือการ์ตูนล้อเลียนทางการเมืองที่มีคาแร็กเตอร์ซึ่งออกแบบมาอย่างน่ารักอย่างที่ใครเห็นก็จำได้ มีตัวละครหลักคือลุงไข่ชายในชุดทหารหนวดจิ๋มที่หน้าตาคุ้นๆ เหมือนผู้นำประเทศน้องตาใสที่เป็นตัวแทนประชาชนคนทั่วไปผู้ใสซื่อ และแจ๊กแม้วตัวละครหน้าตาคล้ายมหาเศรษฐีชาวจีน แจ๊ก หม่า และแน่นอนว่าก็คล้ายกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ด้วย

การ์ตูนไข่แมวนี้ล้อนโยบายและกระแสสังคมที่แหลมคมและมีอารมณ์ขัน ถูกมองว่าเป็นการ์ตูนและสื่อของฝั่งประชาธิปไตย เพราะเป้าสำคัญของการล้อเลียนคือ รัฐบาลของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสมัยที่ใช้อำนาจของ คสช. และยุคสืบทอดอำนาจตามกลไกรัฐสภาของรัฐธรรมนูญ 2560 จนมีข่าวว่าไข่แมวเคยถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐจับตาและถูกอุ้มจนเพจหายไปพักหนึ่ง ก่อนจะกลับออกมาแยกตัวเป็นไข่แมวX” ที่วาดการ์ตูนชุดไข่แมวแบบเดิม และไข่แมวชีสที่มีลายเส้นอย่างเดียวกันทุกอย่างแต่มีเนื้อหาที่อาจจะกว้างกว่าและมีเอกลักษณ์คือเป็นการ์ตูนใบ้ที่ไม่มีข้อความ

แต่แล้วเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เหมือนไข่แมวX” ได้ลงการ์ตูนที่สื่อให้เห็นโต้งๆ ว่าเป็นการโฆษณาสร้างภาพลักษณ์ให้หัวหน้าพรรคการเมืองคนหนึ่งอย่างชัดแจ้ง ซึ่งไข่แมวเองก็เคยวาดการ์ตูนล้อเลียนบุคคลดังกล่าวอย่างจัดหนักมาแล้วก่อนหน้า ซึ่งสร้างความงวยงงและผิดหวังให้ผู้ติดตาม จริงอยู่ว่าถึงหัวหน้าพรรคคนนั้นจะไม่ใช่ลุงไข่ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมามาตลอด แต่ก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีบทบาทสำคัญ และมีแนวทางนโยบายที่ไปกันไม่ได้อย่างสิ้นเชิงกับหลายเรื่องที่เพจไข่แมวและไข่แมวชีสพยายามเรียกร้องต่อสู้

Advertisement

ความเปลี่ยนไปของไข่แมวX” คือตัวอย่างที่ไม่ค่อยดี แต่ก็ออกจะชัดเจนถ้าเราจะยกตัวอย่างกรณีที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างปากท้องกับอุดมการณ์ซึ่งเป็นเหมือนแกนปัญหาที่ผู้ติดตามพรรคการเมืองใหญ่ในฝั่งประชาธิปไตย คือฝ่ายที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและฝ่ายพรรคก้าวไกลที่ต่อสู้ขัดแย้งกันมานาน ว่าการดำเนินนโยบายเพื่อปากท้องหรือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กับการดำเนินนโยบายเพื่ออุดมการณ์ในการต่อต้านและถอนรากถอนโคนเผด็จการ อะไรควรทำก่อน หรือถ้าบอกว่าทำไปพร้อมกันได้นั้นคืออย่างไร

พรรคเพื่อไทยถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่มุ่งนโยบายไปเพื่อปากท้อง ส่วนพรรคก้าวไกลนั้นถูกมองว่าดำเนินนโยบายเพื่ออุดมการณ์ 

เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยถึงขนาดจะละทิ้งอุดมการณ์หรือพูดแต่เรื่องปัญหาปากท้อง เช่นเดียวกับที่ไม่ได้แปลว่าพรรคก้าวไกลจะละทิ้งปัญหาปากท้องหรือไม่มีแนวโน้มที่จะแก้ปัญหาในทางเศรษฐกิจเอาเสียเลยเช่นกัน

Advertisement

เพียงแต่ต้องยอมรับว่านโยบายที่ประกาศออกมาของทั้งสองพรรคนี้ให้น้ำหนักสองประเด็นนี้ต่างกันจริงๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ดูมีนโยบายหนักไปในทางแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขลบล้างผลพวงของการทำรัฐประหาร แม้แต่ความชัดเจนว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐที่เคยเป็นพรรคที่ชัดเจนว่าจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนฝ่ายผู้ทำรัฐประหารให้สืบทอดอำนาจนั้น ก็อ้ำอึ้งเป็นปริศนาธรรมอยู่นานกว่าจะพูดชัดๆ เอาก็เมื่อวานนี้ที่หลายคนมองว่าอาจจะช้าไป 

ในขณะที่พรรคก้าวไกลนั้นชัดเจนกว่า ในเรื่องการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ที่จะไม่เอาพวกรัฐประหารโดยไม่มีใครสงสัย เช่น นโยบายที่จะแก้ไขกฎหมายที่ถูกใช้ในทางการเมืองและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือการจะให้สัตยาบันยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC : International Criminal Court) เพื่อเปิดทางให้มีการเอาผิดต่อการสังหารประชาชนในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง

ถ้าพูดกันตรงๆ อีกเรื่อง คือตัวนางแบกผู้ปกป้องพรรคก็พยายามนำเสนอแนวทางที่ว่า ผู้คนประชาชนทั้งหลายต้องการเลือกพรรคเพื่อไทยเพื่อความอยู่ดีกินดีไปก่อนในตอนนี้ อิ่มท้องแล้วค่อยว่ากันเรื่องอุดมการณ์ และต่อสู้เสียดสีฝั่งอุดมการณ์อย่างหนักมาตลอดเกือบปีที่เกิดความแตกแยกนี้

ถ้าตัดกลุ่มคนที่มีคำตอบอยู่แล้วว่าจะเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งในระหว่างสองพรรคนี้แบบไม่เปลี่ยนใจแน่นอนออกไปก็จะเหลือกลุ่มคนที่ยังลังเล ซึ่งอาจจะได้แก่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจปากท้อง และได้รับผลกระทบความรู้สึกเชิงอุดมการณ์ว่าปัญหาสังคมโครงสร้างที่เรื้อรังมายาวนานตลอดการปกครองในระบอบประยุทธ์นั้น คือปัญหาเชิงอุดมการณ์ที่ถ้าย้อนกลับไปที่รากฐานของมันก็มาจากที่ผู้มีอำนาจได้ครอบงำและบริหารประเทศมาในระยะเวลาเกือบสิบปี ที่อ้างว่าทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติแต่ประเทศชาติของเขาเหมือนจะไม่มีประชาชนอยู่ในองค์ประกอบ หรือความต้องการของประชาชนต้องตามมาทีหลังการรักษาความมั่นคงแห่งประเทศชาติของพวกเขา

คนกลุ่มนี้มีภาพรวมที่ตรงกันคือ อย่างน้อย ต้องไม่ให้ผู้มีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือมีอำนาจบริหารประเทศได้อีก ซึ่งจะเท่ากับเป็นการปิดฉากระบอบรัฐประหารที่กัดกินประเทศเรื้อรังยาวนาน

ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เพียงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลา 8 ปีกว่าของประยุทธ์หรอก แต่มันต้องรวมถึงตั้งแต่การรัฐประหารในปี พ..2549 มาแล้ว ที่หลายคนรวมเรียกช่วงเวลาที่ยาวนานต่อเนื่องนี้ว่าเป็นทศวรรษที่สูญหายซึ่งพาให้เศรษฐกิจ สังคม และสถาบันทางการเมืองถูกครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จด้วยบรรดาผู้ที่มีความคิดแบบอำนาจนิยมและจารีตนิยม ที่แผลต่างๆ มาระเบิดแตกออกพร้อมกันเหมือนข้าวโพดคั่วในช่วง 3-4 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมสะเทือนขวัญหลายเรื่องที่คนมีสีที่เป็นทหารตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง ความไม่รับผิดชอบของฝ่ายราชการและหน่วยงานของรัฐ การครอบงำเบ็ดเสร็จทางธุรกิจเศรษฐกิจของกลุ่มทุนใหญ่ หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นแบบเรียนภาษาไทยที่พยายามปลูกฝังสั่งสอนค่านิยมที่ไร้ตรรกะให้ลูกหลานของเรา เช่นที่เป็นดราม่าว่ามีแบบเรียนภาษาไทยที่สอดแทรกเนื้อหามอมกล่อมให้เชื่อว่า การกินไข่ต้มครึ่งซีกกับข้าวคลุกน้ำปลานั้นคือบรมสุขแห่งวิถีพอเพียงเสียอย่างนั้น

อีกทั้งอาจจะเกี่ยวกับเรื่องปากท้องกับอุดมการณ์อยู่ในแง่ที่ว่า การบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ทำให้ผู้คนหลายคนก็อยู่ในชะตากรรมเดียวกับไข่แมวเช่นผู้รับจ้างทำงานสร้างสรรค์บางคนอาจต้องยอมไปรับจ้างทำงานให้กับหน่วยงานของรัฐ เพื่อผลิตงานที่เป็นเพียงโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กรแบบจอมปลอมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อสังคม หรือโฆษณาชวนเชื่อที่จะมอมเมากล่อมเกลาผู้คนให้จำทนอยู่กับค่านิยมและความคิดแบบอำนาจนิยมและจารีตนิยม 

เช่นเดียวกับนักธุรกิจระดับกลางระดับเล็กหลายท่านที่จะต้องฝืนทนค้าขายหรือทำธุรกิจ หรือรับจ้างกลุ่มทุนใหญ่ที่ครอบงำ ตลาดและแวดวงธุรกิจนั้นรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่ากำลังถูกเอาเปรียบทั้งในเชิงธุรกิจและสังคมจากกลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้ด้วยกลไกธุรกิจที่ไม่ชอบธรรมต่างๆ ซึ่งความได้เปรียบเหลื่อมล้ำนี้ มาจากการที่กลุ่มทุนเหล่านี้เป็นพันธมิตรอันดี หรือแม้แต่เป็นผู้สนับสนุนให้ฝ่ายที่ควบคุมอำนาจรัฐอยู่

ประโยคที่เป็นเหมือนคำสอนที่ในบางแง่มุมมันก็อาจจะถูกต้องใช้ได้อยู่คือประโยคว่าไม่เลือกงาน ไม่ยากจนซึ่งมันก็อาจจะถูกต้องอยู่ ถ้าหมายความว่า ถ้าอยากหลุดพ้นจากความยากจน เราก็ควรจะทำงานทุกอย่างที่เป็นไปได้ ที่มีโอกาส อย่างไม่สนใจว่างานนั้นจะยากลำบาก หรือค่าตอบแทนอาจจะต่ำเพียงไรก็ตาม

แต่กระนั้นในระยะหลัง นักจิตวิทยาเชิงพฤติกรรมศาสตร์มีข้อค้นพบว่า สิ่งที่กัดกินจิตใจของผู้คนที่สุดอย่างหนึ่ง คือการที่ต้องทำงานที่ไร้ความหมาย หรือต้องทนทำงานที่ไม่รู้สึกว่าภาคภูมิใจในตัวเอง 

เช่นนี้ การที่แต่ละคนจะต้องกล้ำกลืนตัดสินใจทำหรือไม่ทำงานใด ด้วยเหตุผลปัจจัยคือเรื่องปากท้องค่าตอบแทน โดยต้องละทิ้งอุดมการณ์และความคิดความเชื่อ หรือแม้แต่รู้สึกว่าการทำงานของตัวเองนั้นเป็นการไปซ้ำเติมปัญหาที่ตัวเองก็ได้เห็นได้รู้อยู่ทนโท่มันก็เป็นเรื่องเจ็บปวด และนานวันเข้ามันก็จะกัดกร่อนจนทำให้สูญเสียความรู้สึกนับถือตัวเองไปได้ในที่สุด เพราะเราก็รู้ว่าเราจะเลือกทำงานที่ดีกว่านี้ หรือปฏิเสธงานที่ขัดต่อความคิดความเชื่อนี้ได้เพียงแต่อาจจะต้องยอมรับความเสี่ยงในชีวิตเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ถ้าราคาของความเสี่ยงนั้นมันส่งผลกระทบและมีราคาสูงเกินไปก็คงจะไม่ไหว

ถ้าการปฏิเสธงานบางงานเพียงเพื่อรักษาอุดมการณ์หรือความเชื่อไว้นั้น จะแค่ทำให้เราไม่รวยขึ้นหรือประสบความสำเร็จช้าลงอย่างนี้ก็ยังพอไหว แต่ถ้าการตัดสินใจนั้น มันถึงขนาดที่ว่าอาจจะขาดรายได้ไปในระยะยาวตลอดกาล หรือถึงกับไม่มีเงินไปจ่ายค่าเทอมให้ลูก นั่นก็เป็นความเสี่ยงที่เกินสมควรไป

ประกอบกับขั้นตอนแรกสุดในการกำจัดระบอบที่ครอบงำอยู่นี้ คือต้องทำให้พรรคการเมืองฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับผู้มีอำนาจฝ่ายรัฐบาลที่แล้วจะต้องชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้อย่างล้นหลามเด็ดขาด ซึ่งสิ่งที่ค้ำยันการตัดสินใจของกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ คือความเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้ง ส..แบบแบ่งเขตได้มากกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่สูสีและช่วงชิงคะแนนเสียงกันระหว่างอดีตพรรคร่วมรัฐบาลที่แม้แต่เสียงผู้เลือกตั้งหลักร้อยก็อาจจะกำหนดผลว่าใครจะได้เป็น ส.. ในเขตนั้น ยิ่งทำให้ผู้คนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงกลัวว่าการลงคะแนนเลือกพรรคก้าวไกลหรือพรรคอื่นๆ ในฝั่งเดียวกัน อาจจะไปตัดคะแนนกันเองทำให้อีกฝั่งอีกฝ่ายชนะการเลือกตั้งไป 

เช่นนี้การเลือกพรรคที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะชนะการเลือกตั้งเสียงข้างมากเด็ดขาดจนสามารถ ปิดสวิตช์ ส.. และนำพาประเทศกลับไปสู่ระบบระบอบอันควรจะเป็นได้ก่อนในรอบนี้ ไปพร้อมกับแก้ปัญหาปากท้องซึ่งลามมากัดกินอุดมการณ์ได้ก่อนจึงอาจจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าหากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ส่วนในรอบหน้า หากเป็นการต่อสู้กันบนกติกาที่เสรีและเป็นธรรมกว่านี้ก่อนค่อยไปตัดสินใจกันอีกครั้งว่าจะสมาทาน แนวทางอุดมการณ์หรือแนวความคิดทางเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศของพรรคใดกันแน่

ซึ่งตรงนี้น่าสนใจว่า ถ้าในที่สุดผลโพลต่างๆ ที่สำรวจได้ในโค้งสุดท้ายออกมาชัดเจนว่าแม้แต่ในระดับเขต ก็ยังมีแนวโน้มว่าจะเป็นการแข่งขันระหว่างสองพรรคใหญ่ที่อยู่ฝั่งเดียวกันแต่คนละฟากอย่างก้าวไกลและเพื่อไทย โดยพรรคที่สนับสนุนผู้มีอำนาจกลุ่มเดิมนั้นถูกทิ้งห่างจนไม่ต้องสนใจแล้ว 

หากผู้เลือกตั้งไม่ต้องกลัวว่าการเลือกของเขาอย่างไรเสีย เสียงก็ไม่ตกน้ำ สามารถปิดประตูอำนาจเก่าได้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งแล้ว ก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่อาจเปลี่ยนเกมและเปลี่ยนแนวทางการตัดสินใจของกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจได้ในระดับหนึ่งทีเดียว

กล้า สมุทวณิช

 

 

อ่านข่าวน่าสนใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image