สุจิตต์ วงษ์เทศ : ผัดไทย ไม่มีใครตั้งชื่อ เพราะได้ชื่อจากสังคมการเมืองชาตินิยม

โปสเตอร์เชิญชวนกินผัดไทยประตูผี วาดเลียนแบบของเดิม จากค าบอกเล่าของคนยุคเก่า ใช้เวลาต่อแผ่นไม่ต ่ากว่า 8 เดือน (ภาพจาก อนุสาร อสท. ฉบับเมษายน 2559 หน้า 075)

ผัดไทยสมัยแรกๆ เป็นก๋วยเตี๋ยวแบบพิเศษของคนบางกลุ่มที่มีโอกาสต่างจากคนทั่วไป

เนื่องจากเป็นของดี ราคาแพง วิธีปรุงยุ่งยาก และมีเครื่องปรุงมาก (เมื่อเทียบก๋วยเตี๋ยวอย่างอื่น) ไม่มีทั่วไป มีขายบางแห่งในชุมชนเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ และบางเมืองในภาคกลางเท่านั้น

เพิ่งแพร่หลายกว้างขวางทั่วไปสมัยหลังๆ ไม่นานนี้เอง ตามกระแสวัฒนธรรมท่องเที่ยว

ที่ว่าอย่างนี้ เพราะบ้านนอกที่ผมเกิดในป่าดงศรีมหาโพธิ์ (จ. ปราจีนบุรี) ก่อน พ.ศ. 2500 ไม่มีก๋วยเตี๋ยวผัดไทย และทั้งตำบลอำเภอไม่มีใครรู้จัก

Advertisement

[แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือผมมีประสบการณ์จำกัดมากและไร้รสนิยมเรื่องอาหารการกินอยู่ ทั้งโดยกำเนิดและโดยกำหนัดจนบัดนี้ ฉะนั้นต้องไม่ถือจริงจังในสิ่งที่ผมเขียน]

หลัง พ.ศ. 2500 ผมเกาะชายจีวรพระเข้าไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ เป็นเด็กวัดอยู่วัดเทพธิดาราม คณะ 5 (ประตูผี ถนนมหาไชย สำราญราษฎร์) ช่วงแรกๆ ไม่รู้จัก ไม่เคยกินก๋วยเตี๋ยวผัดไทย จนช่วงหลังๆ อีกนานหลายปีมากถึงเริ่มรู้จัก แล้วได้กินจากคนอื่นแบ่งให้กินเป็นทานอันน่าเวทนา

ผัดไทย เป็นก๋วยเตี๋ยวชนิดพิเศษของคนซอกแซกและซุกซนหาของกินแปลกๆ อร่อยๆ หาซื้อกินไม่ง่าย เพราะไม่มีขายทั่วไป ที่มีขายก็แพงกว่าก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว, ราดหน้า ยุคโน้นตอนผมเรียนชั้นมัธยม ไม่เคยซื้อกินเอง เพราะมีเงินไม่พอซื้อ

Advertisement

เหตุที่ผัดไทยราคาแพงและไม่มีขายทั่วไปในกรุงเทพฯ อาจเป็นเพราะต้องใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวจากจันทบุรี เรียกทั่วไปว่าเส้นจันท์

ทำไมต้องเส้นจันท์? ไม่เคยถามใคร เลยไม่รู้ จนบัดนี้ เพราะไม่ได้ชื่นชมรสชาติเป็นพิเศษ และไม่กินประจำ กว่าจะกินแต่ละครั้งนานหลายปี (ไม่ใช่แค่ปีเดียว)

และที่กินก็ไม่ได้อยากกินเอง แต่สภาพแวดล้อมขณะนั้นบังคับให้จำต้องเอาใส่ปากเคี้ยวๆ แล้วกลืน

ชื่อผัดไทยมาจากไหน?

ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย เป็นที่รู้จักกว้างขวางสมัยหลังๆ บางทีเรียกสั้นๆ ว่า ผัดไทย ไม่พบหลักฐานว่าใครตั้งชื่อ? เมื่อไร?

แต่เป็นชื่อมีคำลงท้ายว่าไทย ให้ต่างจากก๋วยเตี๋ยวผัดแบบจีน น่าจะเป็นชื่อเรียกขึ้นเองตามธรรมชาติ จากความคุ้นเคยร่วมกันของคนขายกับคนซื้อยุคนั้น และตามแนวคิดชาตินิยมขณะนั้นที่รัฐบาลเปลี่ยนชื่อประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2482 จากสยาม (หรือ Siam) เป็นประเทศไทย (หรือ Thailand)

เศรษฐกิจตกต่ำ

ผัดไทย คือก๋วยเตี๋ยวผัดแบบหนึ่ง เรียกเต็มๆ ว่า ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย

เป็นอาหารไทยได้ต้นแบบจากก๋วยเตี๋ยวผัดของจีนที่มีอยู่ก่อนนานแล้ว เช่น ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว, ก๋วยเตี๋ยวผัดราดหน้า ก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่ผัด ฯลฯ

มีพัฒนาการขึ้นในไทย ราวหลัง พ.ศ. 2485 เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ (สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงแรก พ.ศ. 2481-2487)

รัฐบาลต้องส่งเสริมให้กินและขายก๋วยเตี๋ยวทั่วๆ ไปเป็นอาชีพ (รวมถึงเพาะถั่วงอก) เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ไม่พบหลักฐานว่าส่งเสริมกิจการก๋วยเตี๋ยวผัดไทย

ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวยากหมากแพง อาหารขาดแคลน เมื่อ พ.ศ. 2485 ด้วยเหตุอย่างน้อย 2 ประการ ดังนี้

1. ไทยประกาศร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น เข้าสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงต้นปี เมื่อ 25 มกราคม 2485

2. น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ และภาคกลาง ช่วงปลายปี เมื่อปลายฤดูฝน พ.ศ. 2485

ผัดไทย อาหารพิเศษ

ยุคแรกๆ ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย เป็นอาหารพิเศษของคนบางกลุ่มที่มีโอกาสต่างจากคนทั่วไป เพราะราคาแพง และมีขายบางแห่งในชุมชนเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ และบางเมืองในภาคกลางเท่านั้น

เพิ่งแพร่หลายกว้างขวางทั่วไปสมัยหลังไม่นานนี้เอง เป็นผลจากวัฒนธรรมท่องเที่ยว

ก๋วยเตี๋ยวผัด ยุคต้นอยุธยา

ก๋วยเตี๋ยวผัดแบบจีนไม่พบหลักฐานตรงๆ ว่ามีครั้งแรกในไทยเมื่อไร? แต่น่าเชื่อว่ามีแล้วตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา สืบเนื่องถึงยุคกรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์

เพราะนักโบราณคดีใต้น้ำงมพบในเรือจมที่อ่าวไทย มีกองกระทะเหล็กจากจีน บรรทุกมาขายยุคต้นอยุธยา

และมีภาพเขียนยุคต้นอยุธยาในกรุวัดราชบูรณะ เป็นรูปอาหารจีนในจาน

ก๋วยเตี๋ยวในไทย

ก๋วยเตี๋ยวในไทย หมายถึง ก๋วยเตี๋ยวน้ำและแห้ง ใส่ถั่วงอกหรือผักอื่นๆ มีต้นแบบจากก๋วยเตี๋ยวไม่มีถั่วงอกในอาหารจีน

ถือเป็นอาหารไทยสร้างสรรค์ยามยากจากยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image